นักวิชาการห่วงเด็กไทยใช้ “แทบเล็ต” ผลการเรียนไม่ขยับ

ปี2013-09-19

นักวิชาการยังคงมีความกังวลต่ออนาคตการศึกษาของเด็กไทย จากนโยบายการแจก”แทบเล็ต”ป.1 ทว่าผ่านมาหนึ่งปียังไม่เห็นพัฒนาที่ชัดเจน จึงถูกมองว่าอาจจะกลายเป็นดาบสองคม แทนที่เด็กจะเรียนรู้เพิ่มขึ้น กลับกลายเป็นถูกปลูกฝังให้เสพติดเทคโนโลยีมากเกินไป ไม่มีความเป็นจิตอาสา อยู่ในโลกส่วนตัวสูง แนะรัฐควรพัฒนาคุณภาพครู และรื้อระบบประเมินผลการศึกษาให้สอดคล้องกับผลการเรียนเด็ก

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่าขณะนี้อนาคตเด็กไทยมีความน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะการมีความคิดแต่เรื่องของตัวเอง มีโลกส่วนตัวสูง ให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าส่วนรวม และความเป็นจิตอาสาต่ำลงมาก สาเหตุมาจากพฤติกรรมในแต่ละวันมักจะอยู่กับเทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสาร โทรศัพท์มือถือที่สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตได้ หรือแม้แต่เครื่องแทบเล็ต จึงมีความกังวลว่าหากเด็กใช้เครื่องแทบเล็ตตั้งแต่เล็กๆ เด็กอาจจะติดเครื่องมือเหล่านี้ได้ โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ทั้งนี้ เชื่อว่าในเจเนอเรชั่นต่อไปก็จะอยู่ในสังคมที่เรียกว่าสังคมเสมือน

“เชื่อว่าเด็กในเจเนอเรชั่นที่ใช้เครื่องแทบเล็ตตั้งแต่เริ่มต้นในวัยเรียนรู้ จะมีคุณภาพชีวิตในองค์รวมด้อยกว่ามาตรฐาน และเด็กจะไม่สนใจเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง แม้ว่าจะเป็นเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน เด็กเจเนอเรชั่นนี้กลับสามารถยอมรับได้ เพราะเห็นจากข่าวสารให้แต่ละวัน เช่น การทุจริตครูผู้ช่วย ทำให้เรื่องของการทุจริตมันซึมซับเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึก จนพวกเขายอมรับได้”นายสมพงษ์กล่าว

นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทย คือเด็กนักเรียนในปัจจุบันเรียนเยอะเกินไป ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง ซึ่งไม่เพียงคิดแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น การแข่งขันของเด็กสมัยนี้ยังเน้นไปที่เรื่องปัจจัยภายนอกด้วย เช่น อยากสวยอยากเด่นเหมือนดารา หรืออยากมีของแบรนด์เนมใช้ แต่ไม่ค่อยได้คิดเรื่องของเป้าหมายในชีวิต และนี่คือคุณลักษณะแบบที่เรียกว่า เด็กไทยเกิดน้อยแถมด้อยคุณภาพ

นายสงพงษ์เสนอว่าหากวันนี้ประเทศไทยยังไม่เร่งทำระบบการเรียนรู้ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ปฏิรูปการศึกษา ไม่ต้องรอถึงอนาคตก็จะเห็นว่า มีแต่เด็กที่อยู่ในเจเนอเรชั่นที่อ่อนแอต่อสังคม ขณะที่ในสังคมมีปัญหาหลายเรื่องทั้งเรื่องยาเสพติด เรื่องเพศ และเรื่องภัยแวดล้อมอันตราย หากยังไม่ทำอะไร เด็กเหล่านี้จะเป็นเด็กที่ตกยุคศตวรรษที่ 21 จะเข้าสู่ระบบการแข่งขันได้ลำบาก ออกไปสู่สังคมระดับชาติแทบไม่ได้ และการทำงานในอนาคต เด็กต่างชาติจะเข้ามาทดแทนเด็กไทย ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นเด็กไทยก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้

“การจัดอันดับของคุณภาพการศึกษาของ World Economic Forum หรือ WEF ซึ่งไทยอยู่อันดับสุดท้ายนั้นสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยได้ชัดเจน และเชื่อว่าจากจุดนี้น่าจะเป็นจุดที่สะเทือนวงการศึกษาไทยว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะท้อนคุณภาพของคนที่อยู่ในประเทศว่าจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้หรือไม่” เรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของบ้านเมือง ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ เท่ากับกำลังทำร้ายประชาชน ทำร้ายสังคมและทำร้ายเด็กไทย ดังนั้น รัฐต้องเห็นความสำคัญเรื่องของการพัฒนาคน มากกว่าเรื่องข้าว เรื่องน้ำ และเรื่องยางพารา แต่ต้องมาคิดแล้วว่าทำอย่างไรจะปฏิรูปคน ให้คนที่อยู่ในประเทศ มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในศตวรรษที่ 21″ นายสมพงษ์กล่าว

ด้านนายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ มองว่าเครื่องแทบเล็ต ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ แต่วิธีการใช้ต้องมีการเตรียมพร้อมมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของซอฟต์แวร์ หรือเนื้อหาที่บรรจุลงในเครื่องแทบเล็ต เพราะเท่าที่ติดตามดูเนื้อหาในเครื่องแทบเล็ตของเด็ก ป.1 มองว่ายังไม่ถูกใช้งานได้จริง เพราะเป็นการเอาหนังสือมาทำให้อยู่ในแทบเล็ตมากกว่า แต่ยังไม่มีอะไรที่เป็นอินเตอร์แอคชั่น หากเทียบกับการใช้งานของต่างประเทศที่นำมาใช้กับเด็กเล็ก จะมีซอฟต์แวร์ที่กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กมากกว่า ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

“หากถามว่าเหมาะสมไหมกับเด็ก 6-7 ปี จากการศึกษาการใช้งานแทบเล็ตในต่างประเทศของเด็กอายุ 6-7 ปีจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยหลังจากการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับเด็กมัธยมขึ้นไป น่าจะมีประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้ การจะใช้เครื่องแทบเล็ตมาส่งเสริมให้เกิดความรู้ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตมีความพร้อมหรือไม่ ซอฟต์แวร์และวิธีการสอนของครูไปด้วยกันได้หรือไม่ เพราะหากในเครื่องแทบเล็ตมีซอฟต์แวร์ที่ดีแต่ครูยังสอนเหมือนเดิมก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ ” นายศุภณัฏฐ์กล่าว

นายศุภณัฏฐ์ เสนอว่าการใช้เครื่องแทบเล็ตให้เกิดประโยชน์ ต้องนำมาใช้ให้เหมาะกับวัยที่พร้อมจะเรียนรู้ และรัฐบาลควรที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ดียิ่งขึ้น เพราะอย่างไรเสียรัฐบาลก็เดินหน้าแจกแทบเล็ตไปแล้ว ก็ต้องมาคิดเรื่องของเนื้อหาว่าทำอย่างไรในแทบเล็ตจะมีซอฟต์แวร์ที่ดีขึ้นจากที่เด็กเรียนรู้ทางเดียวผ่านอี-บุ๊ค และ อี-เลิร์นนิ่งต่างๆ ให้เป็นอินเตอร์แอคชั่นให้มากขึ้น มีลูกเล่นที่ตอบสนองการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องพัฒนาครูให้พร้อมจะสอนทักษะการเรียนรู้ให้กับเด็กได้เข้าไปค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต และสอนให้เด็กวิเคราะห์ข้อมูล ให้รู้ว่าข้อมูลไหนเชื่อถือได้ ข้อมูลไหนเชื่อถือไม่ได้ เพราะส่วนนี้ถือเป็นการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่ง

“ส่วนเรื่องการพัฒนาการศึกษา มองว่าที่ผ่านมามีการตั้งคำถามกับรัฐบาลไทยเพราะรัฐลงทุนกับการศึกษามาก ทั้งนโยบายแจกแทบเล็ต ทั้งให้ความสำคัญกับการขึ้นเงินเดือนให้กับครูแต่ทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังต่ำอยู่ ซึ่งล่าสุดเวทีเศรษฐกิจโลก รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพการศึกษาก็จัดให้ไทยอยู่ดันดับ 8 ของอาเซียน ขณะที่ผลการสอบของ PISA ซึ่งเป็นคะแนนสอบนานาชาติไทยก็ยังอยู่ในอันดับรั้งท้ายตลอด จึงคิดว่าในส่วนนี้ต้องทบทวนว่าเหตุใดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยในภาพรวมยังไม่ดีขึ้นเลย” นายศุภณัฏฐ์ กล่าว

จุดบอดของการศึกษาไทยมี 4 เรื่องสำคัญคือ

1. หลักสูตรของไทยยังล้าสมัย

2. ชั่วโมงเรียนของเด็กมากเกินไป

3. ระบบการประเมินผลนักเรียนที่ล้มเหลว และ

4. การประเมินผลครูและโรงเรียน ไม่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน

“ต้องบอกว่าการประเมินผลการศึกษา ทั้งจากเด็ก ครู และโรงเรียน ควรเอาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กมาประเมิน ถ้าวันนี้เด็กยังมีผลการเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ครูและโรงเรียนถูกประเมินให้ผ่านและดีเยี่ยมการแก้ปัญหาก็ไม่เกิด คุณภาพการศึกษาของเด็กไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างแท้จริง” นายศุภณัฏฐ์กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน 2556 ในชื่อ “นักวิชาการห่วงเด็กไทย ใช้ ‘แทบเล็ต’ ผลการเรียนไม่ขยับ”