แนะเทคนิคเตือนภัย ‘หนีน้ำป่า น้ำท่วมฉับพลัน’

ปี2013-09-25

“รูปแบบการเตือนภัยผ่านสื่อเตือนภัยต่าง ๆ มีความสำคัญแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความกระชั้นชิดของภัยที่เกิดขึ้น โดยสื่อเตือนภัยที่ดีที่สุดในระยะกระชั้นชิดที่กำลังเกิดเหตุการณ์คือ วิทยุสื่อสาร เนื่องจากก่อนเกิดเหตุการณ์มักจะมีฝนตกหนักและไฟฟ้าดับร่วมด้วย ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจึงไม่สามารถรับการแจ้งเตือนทางโทรทัศน์หรือวิทยุได้ รวมทั้งในบางพื้นที่สัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจล่ม ในขณะที่วิทยุสื่อสารการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้งสามารถอยู่ได้หลายวัน”

เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยครั้งและดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีครอบคลุมในหลายพื้นที่ โดยสาเหตุเกิดจากฝนที่ตกหนักมากติดต่อกัน หรือจากพายุฝนที่เกิดขึ้นซ้ำ หลายครั้ง หรือเกิดจากการพังทลายของสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก!!

ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์

ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการ ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สาเหตุของน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีในหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรและการที่มนุษย์ปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ เนื่องด้วยเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นโดยกะทันหันและรวดเร็ว การเตือนภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากมีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพแล้วก็จะช่วยบรรเทาลดความเดือดร้อนและความเสียหายลงได้

ผลจากการสำรวจรูปแบบการเตือนภัยและพฤติกรรมของผู้ได้รับการเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน พบว่า เหตุผลของการตัดสินใจไม่อพยพ ออกจากพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ เชื่อว่าอาศัยอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เป็นห่วงที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินว่าจะถูกโจรกรรม ถนนถูกตัดขาด ไม่มีพาหนะในการอพยพ มีเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องดูแล อยู่ช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

“ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อการตัดสินใจอพยพ ประกอบด้วย การได้รับการเตือนภัย ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย การมีสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผู้อพยพ ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพศ และรายได้ จากการใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติพบว่า ตัวแปรที่มีผลต่อการตัดสินใจเป็นอย่างมาก คือ การได้รับการเตือนภัย โดยคนที่ได้รับการเตือนภัยมีโอกาสอพยพมากกว่าคนที่ไม่ได้รับการเตือนภัย”

ตัวแปรรองลงมาคือ การมีศูนย์อพยพหรือสถานที่ที่ไปพักพิงได้ ซึ่งไม่จำเป็น ต้องเป็นศูนย์อพยพของทางราชการกำหนดคือ ต้องรู้ว่าจะไปไหนมีโอกาสที่จะทำให้ตัดสินใจได้มากกว่าคนที่ไม่ทราบหรือไม่รู้ว่าจะไปไหน ตัวแปรที่สามคือ รายได้ คนที่มีฐานะดี มีรายได้สูง โอกาสที่จะอพยพน้อยกว่าคนมีรายได้น้อย เพราะห่วงทรัพย์สิน กลัวจะถูกโจรกรรมในระหว่างที่อพยพออกไปอยู่ที่อื่น ตัวแปรสุดท้ายคือ เพศ พบว่าเพศหญิงมีโอกาสที่จะอพยพมากกว่าเพศชายเนื่องจากต้องการความปลอดภัยสำหรับบุตรหลาน

ในต่างประเทศพบว่า ผู้หญิงมีโอกาสอพยพมากกว่าผู้ชาย เหตุเพราะบทบาทของผู้หญิงในฐานะการดูแลบุตร ดูแลครอบครัว โดยเฉพาะบ้านที่มีลูก แม่จะเป็นคนพาลูกหนี โดยพ่อจะอาสาอยู่เฝ้าบ้าน เฝ้าทรัพย์สิน ผู้หญิงก็จะเป็นคนพาลูกอพยพไปอยู่บ้านญาติหรือไปอยู่ในที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าผู้หญิงจะมีโอกาสอยู่บ้านมากกว่าผู้ชาย ดังนั้น ช่วงที่เกิดภัยคนที่อยู่บ้านมีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลเตือนภัยจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในยามคับขันซึ่งจะมีการสื่อสารผ่านช่องทางวิทยุสื่อสารโดยจะได้รับข้อมูลจากเพื่อนบ้านมาบอกและอพยพไปด้วยกัน”

สำหรับรูปแบบการเตือนภัยผ่านสื่อเตือนภัยต่าง ๆ มีความสำคัญแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความกระชั้นชิดของภัยที่เกิดขึ้น โดยสื่อเตือนภัยที่ดีที่สุดในระยะกระชั้นชิด ที่กำลังเกิดเหตุการณ์คือ วิทยุ สื่อสาร เนื่องจากก่อนเกิดเหตุการณ์มักจะมี ฝนตกหนักและไฟฟ้าดับร่วมด้วย ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจึงไม่สามารถรับการแจ้งเตือนทางโทรทัศน์หรือวิทยุได้ รวมทั้งในบางพื้นที่สัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจล่ม เกิด การขัดข้องใช้การไม่ได้ และไม่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ ในขณะที่วิทยุสื่อสารการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้งสามารถอยู่ได้หลายวัน โดยมีอาสาสมัคร ญาติ สมาชิกในบ้าน หรือเพื่อนบ้าน เป็นสื่อช่วยกระจายข่าวที่สำคัญ

ในส่วนของ วิทยุ โทรทัศน์ จะใช้ได้ดีในระยะเวลาที่ไม่กระชั้นชิดมากนัก เช่น การรายงานสภาพอากาศการเตือนให้ระวังว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดเหตุขึ้นได้ แต่ก็ไม่สามารถฟันธงได้ทันทีว่าจะต้องเกิดในพื้นที่แต่เป็นการบอกเป็นลักษณะกว้าง ๆ เพื่อให้เตรียมตัวรับมือได้ล่วงหน้า

“เวลาที่ฉุกเฉินจริง ๆ ในขณะที่ทีวี วิทยุ โทรศัพท์ ไม่สามารถใช้การได้ วิทยุสื่อสาร จะเป็นช่องทางสื่อสารที่ดีที่สุด แต่การครอบครองวิทยุสื่อสารก็ใช่ว่าจะมีได้ทุกคนเนื่องจากต้องมีความรู้และใบอนุญาตการใช้อย่างถูกต้องและมีการกลั่นกรองข้อมูล ซึ่งตรงนี้สำคัญมากและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากต้องการกำกับให้ตรงนี้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านจริง ๆ คนที่จะเข้าถึงตรงนี้ได้ก็ควรจะต้องผ่านการอบรม เพราะการมีวิทยุสื่อสารไม่ได้จำกัดว่าใครต้องมีได้ แต่คนที่จะมีสิทธิให้ข้อมูลในบางช่องคลื่นจะต้องได้รับการอบรมและมีใบอนุญาต”

นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันสิ่งที่ต้องการ ในการอพยพ ประกอบด้วย เชือก เสื้อชูชีพ และอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ที่ให้การ ช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องข้ามลำคลองขณะที่อพยพไป ยังพื้นที่ที่ปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่ถนนหรือ เส้นทางถูกตัดขาดซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถอพยพออกจากที่อยู่อาศัยได้ การ เตรียมความพร้อมทางด้านเสบียงอาหารมีความสำคัญ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีบางหมู่บ้านเริ่มมีการจัดตั้ง ธนาคารอาหารประจำหมู่บ้าน

น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามดำเนินการเตือนภัยในรูปแบบต่าง ๆ แต่ยังต้องมีการพัฒนารูปแบบการเตือนภัยที่สามารถเข้าถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย โดยจะต้องคำนึงถึงลักษณะพื้นที่ประสบภัยที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การอพยพออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ความเข้มแข็งของชุมชนและการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง.

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ภาครัฐต้องมีช่องทางในการให้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแก่ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยและควรมีบทบาทในการจัดหาสถานที่รองรับผู้อพยพที่เหมาะสม ปลอดภัย และเพียงพอเพื่อรองรับผู้อพยพในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรเป็นสถานที่ที่คนในพื้นที่รู้จัก อาทิ โรงเรียน วัด ศาลาชุมชน ฯลฯ โดยจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับทราบโดยทั่วกัน และควรคำนึงถึงความสะอาดและความเพียงพอของเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรค

หน่วยงานภาครัฐควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ชุมชนต้องเผชิญ ถ้าเป็นไปได้ควรสนับสนุนและจัดเวทีให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำแผนการอพยพของชุมชน เตรียมแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในชุมชน มีการซักซ้อมแผนอพยพเป็นระยะอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่

นอกจากนี้ ควรมีทางออกเพื่อลดข้อกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานที่ฝากสัตว์เลี้ยง และการจัดตำรวจออกตรวจพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยมั่นใจและยอมอพยพออกจากที่อยู่อาศัย ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพสื่อเตือนภัย ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และวิทยุสื่อสาร โดยเฉพาะบทบาทการให้ข้อมูลที่สร้างองค์ความรู้ให้ผู้รับสารสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างได้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สำหรับวิทยุสื่อสารซึ่งเป็นสื่อที่ผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุดในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ควรมีการกำกับดูแลให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดจริง ๆ ซึ่งผู้ใช้ต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 กันยายน 2556 ในชื่อ “แนะเทคนิคเตือนภัย ‘หนีน้ำป่า น้ำท่วมฉับพลัน’ รูปแบบต้อง ‘เข้าถึง’ ครอบคลุมรอบด้าน”