จำนำข้าว-ลุยต่อหรือสั่งถอย?

ปี2013-06-08
ซ้าย-สุขุม นวลสกุล กลาง-วิโรจน์ ณ ระนอง ขวา-พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ซ้าย-สุขุม นวลสกุล
กลาง-วิโรจน์ ณ ระนอง
ขวา-พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

โครงการรับจำนำข้าวกำลังโดนถล่มอย่างหนักและถี่ยิบ โดยที่รัฐบาลแทบไม่ออกมาชี้แจงสร้างความกระจ่างต่อสังคม กระทั่งคนฟังส่วนใหญ่เริ่มปักใจเชื่อข้อมูลด้านเดียวที่ฝ่ายค้านเสนอมา

เป็นเหตุให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ถูกวิจารณ์ว่าหลบเลี่ยงปัญหา ปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องรับศึกหนัก และอยู่ในสภาพเมาหมัดอยู่คนเดียว

มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ หากรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อว่าจะต้องเตรียมตัวและรับมืออย่างไร ดังต่อไปนี้

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นโครงการที่ออกมาเพื่อเจ๊ง เพื่อขาดทุนอยู่แล้ว รัฐบาลก็รู้ดีว่าไม่มีทางได้กำไรจากโครงการนี้ แต่อาจคิดว่าถึงโครงการดังกล่าวจะขาดทุน แต่ก็เป็นการขาดทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นโครงการที่รัฐบาลตั้งใจจะเจ๊ง

เพราะแนวทางของโครงการนี้คือ การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดโดยที่ไม่สามารถกำหนดได้ เกษตรกรได้ประโยชน์ รัฐเสียประโยชน์ และแน่นอนว่าเมื่อเกิดความบกพร่องของโครงการ จึงเป็นธรรมดาที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกประเด็นข้อผิดพลาดมาโจมตีหรือชี้ให้ประชาชนเห็น

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การออกมาให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนว่าเตรียมงบประมาณไว้ใช้สำหรับเจ๊งเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลได้คาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว

ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย สำคัญคือเตรียมเจ๊งไว้เท่าไหร่ต้องพูดให้ชัด ไม่ได้เจ๊งชนิดที่ว่าล้มละลายตามที่อีกฝ่ายโจมตี ก็ต้องออกมาบอกให้ประชาชนรู้ นอกจากนี้รัฐบาลต้องออกมาให้ข้อมูล เรื่องเงินหมุนเวียนในโครงการข้าวมีจำนวน มากน้อยเท่าไหร่ด้วย

แต่ต้องเดินหน้าโครงการต่อ จะหยุดตอนนี้ไม่ได้เพราะได้ดำเนินการมาแล้ว และเมื่อถึงจุดที่ทุนซึ่งเตรียมไว้เจ๊งหมดค่อยหยุดสำหรับโครงการประจำปีนี้ และหากรัฐบาลมั่นใจว่าเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง ค่อยจัดงบประมาณไว้ดำเนินการต่อไป

วิโรจน์ ณ ระนอง
นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ปัญหานโยบายจำนำข้าวที่ชัดเจนสุดขณะนี้คือ รัฐบาลขาดทุนกว่าที่คิด แต่ไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาทอย่างที่มีข่าว จริงๆ อยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการตอบกระทู้ในสภาของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์

หากคำนวณจากราคาต้นทุนกับราคาตลาดในขณะนั้น ข้าวที่ขายไปประมาณ 7 ล้านตัน เฉพาะข้าวใหม่ ไม่นับข้าวที่ ค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว ขายไปตันละเฉลี่ย 450 ดอลลาร์ หรือ 13,500 บาท ซึ่งถ้าเป็นข้าวขาวทั้งหมด ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก แต่จริงๆ มีข้าวขาวผสมกับข้าวหอมมะลิด้วย ปัญหาคือรัฐบาลไปหาช่องทางขายกันเอง โดยไม่มีการประมูลขายให้อย่างโปร่งใส

ขณะที่นโยบายประกันราคาข้าวของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ค่อนข้างชัดเจนว่ามีส่วนต่างประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในระยะเวลา 2 ปี และดูแนวโน้มแล้วหากประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลต่อ ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้นอีกเยอะ

เพราะประชาธิปัตย์หาเสียงว่าจะเพิ่มกำไรให้ชาวนา ฉะนั้นเขาก็ต้องตั้งราคา เป้าหมายให้สูงขึ้นอีก สรุปก็คือภาพขาดทุนของรัฐบาลที่แล้วดูชัดเจนกว่า

ส่วนรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนหนึ่งต้องถือว่าชาวนาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ ถ้าเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมา และที่เคยมีการอ้างอิงจากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอว่า ชาวนาได้ประโยชน์ร้อยละ 17 ของเงินที่ใช้ คิดว่าไม่แฟร์เท่าไหร่

เพราะนั่นเป็นตัวเลขจากผลการศึกษางานวิจัยโครงการรับจำนำข้าวเก่า ซึ่งรัฐบาลไม่ได้รับซื้อทุกเมล็ดแบบในปัจจุบัน และโรงสีก็มีอำนาจต่อรองมากกว่า

ปัญหาปัจจุบันอยู่ที่ความเสี่ยง เพราะเรารู้ว่าซื้อมาราคาเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าการขายเป็นอย่างไร

วิธีดีที่สุดที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือ ซื้อมาเท่าไหร่ก็ขายไป จัดการประมูลอย่างโปร่งใส อย่างน้อยราคาก็จะใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก

ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้วิธีประชาสัมพันธ์ให้สังคมรู้สึกว่าซื้อมาแล้วจะขายได้ โดยไม่ชัดเจนว่าจะขายอย่างไร ก็เป็นเหตุผลสำหรับฝ่ายที่ต้องการโจมตีรัฐบาลเพื่อไทยอยู่แล้วว่า จงใจคอร์รัปชั่น

ซึ่งรัฐบาลไม่ควรมัวคิดแก้เกมทางการเมืองอย่างเดียว โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ต้องรีบอุดช่องโหว่ตรงนี้โดยเร็ว แต่เข้าใจว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้จัดการขายข้าวเองมานานแล้ว ก็ต้องเร่งหาวิธีที่ดีและโปร่งใสที่สุด

แม้รัฐบาลจะรับซื้อข้าวมาแพง หากขายออกไปอย่างโปร่งใส เห็นตัวเลขว่าขาดทุน แต่รัฐบาลก็พูดได้อย่างชอบธรรมว่าส่วนต่างนั้นเพื่อช่วยเหลือชาวนา

ซึ่งดีกว่าความไม่ชัดเจนในขณะนี้

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

หลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า อาจเกิดการทุจริตและขาดทุนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลตัวเลขที่โดนโจมตีว่าไม่มีความชัดเจน

แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า 2 หน่วยงานหลักที่ดูแลโครงการนี้ คือกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ได้จัดสรรหน่วยงานราชการในสังกัดที่เกี่ยวข้อง แบ่งหน้าที่กันดูแลโครงการรับจำนำข้าวนี้

ดังนั้น ข้อมูลตัวเลขต่างๆ จึงอยู่ในสถานะที่ยังกระจัด กระจายตามหน่วยงานย่อย

กรณีที่ข้อมูลตัวเลขยังไม่ปรากฏเป็นที่ชัดเจน เพราะรัฐบาลยังไม่รู้ข้อมูลจริงๆ เนื่องจากโครงการนี้ ในหนึ่งฤดูกาลผลิต หน่วยงานที่ รับผิดชอบยังไม่สามารถ ชี้ชัดได้ว่า การรับจำนำข้าวขาดทุนเท่าไหร่ อีกทั้งข้าว ในคลังสินค้าก็ยังขายไม่หมด

จึงทำให้หน่วยงานส่วนต่างๆ ยังไม่สามารถส่งข้อมูลที่แน่นอนมายังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ซึ่งการรวบข้อมูลเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ต้องใช้ระยะเวลา

ข้อมูลที่ปรากฏออกมาตอนนี้แทบจะยังไม่มีประโยชน์อะไรเลย

อย่างไรก็ตาม นี่คือช่องโหว่ที่ฝ่ายค้านใช้โจมตีรัฐบาล เรื่องข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลถูกกดดันในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ความน่าเชื่อถือลดลง ประชาชนเริ่มหมดความมั่นใจ ดั่งที่ ผลสำรวจความคิดเห็นได้ระบุมาแล้ว

รัฐบาลจึงต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องข้อมูลที่ชัดเจน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องสรุปได้แล้วว่า ข้อมูลตัวเลขในเบื้องต้นเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยในการประเมินสถานการณ์

สำหรับรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวงที่ดูแลโครงการนี้ ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ออกมาพูดน้อยไปหน่อย จนทำให้เป็นฝ่ายตั้งรับและถูกกดดันมากในขณะนี้

การรับจำนำข้าวถือเป็นโครงการที่ดีอยู่แล้ว แต่จะไปกำหนดว่าให้ ควรระงับโครงการเนื่องจากจะเกิดการขาดทุนเป็นแสนล้าน ยังถือว่าเร็ว เกินไป

เพราะตอนนี้โครงการยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา ต้องรอให้โครงการได้เดินหน้าอย่างเต็มที่ก่อน แล้วค่อยมาดูผลว่า โครงการนี้เกิดการขาดทุนเกินเป้า หรือน้อยกว่า จึงค่อยตัดสินว่าควรระงับหรือไม่

แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งในสมัยหน้า เพราะหากโครงการนี้ทำออกมาแล้วเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน จะยิ่งทำให้รัฐบาลได้รับคะแนนมากขึ้น


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ข่าวสด วันที่ 8 มิถุนายน 2556 ในชื่อ จำนำข้าว-ลุยต่อหรือสั่งถอย?