นโยบายภาครัฐ กับการผลักดันประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ประเทศปานกลาง (2)

ปี2013-09-30

นณริฏ พิศลยบุตร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

          ในคราวที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดในการออกแบบนโยบายภาครัฐ เพื่อช่วยในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และช่วยผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สาระสำคัญของแนวคิด จะอยู่ที่การเสนอให้บทบาทของภาครัฐที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับ การที่พ่อแม่สนับสนุนและเลี้ยงดูบุตร ธิดาของตน โดยให้การสนับสนุนที่แตกต่างกันตามพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย มีเป้าหมายให้ลูกเติบใหญ่ เลี้ยงดูตนเองได้ และยังสามารถกลับมาเกื้อกูลพ่อแม่ (ภาครัฐ) ในตอนท้ายได้อีกด้วย

นโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจที่เหมาะสมจึงควรจะมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาแบบเป็นขั้นบันได (multi-stage upgrading roadmap) โดยผูกระดับความช่วยเหลือหรือการส่งเสริมภาครัฐเข้ากับระดับการพัฒนาและเรียนรู้ของภาคธุรกิจ ธุรกิจที่สามารถที่จะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาในแต่ละขั้นตอน ควรที่จะได้รับการส่งเสริมในขั้นต่อไป ในขณะที่ธุรกิจที่ไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นพัฒนาการตามเป้าหมายก็ไม่ควรที่จะได้รับการส่งเสริมต่อ

การที่จะวางนโยบายภาครัฐตามเงื่อนไขข้างต้นให้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผลนั้นจุดเริ่มที่สำคัญจะอยู่ที่การวิเคราะห์ถึง พัฒนาการในปัจจุบันของอุตสาหกรรมไทยแต่ละอุตสาหกรรมเทียบกับอุตสาหกรรมโลก ข้อมูลระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมไทย(เมื่อเทียบกับระดับโลก) ดังกล่าว มีความสำคัญ เนื่องจากหากอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งของไทยยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาขั้นต้น เปรียบได้ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงเป็นเด็ก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโลกที่เป็นผู้ใหญ่ แผนพัฒนา (roadmap) ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ก็ควรจะเริ่มจากการปกป้องอุตสาหกรรมก่อนในช่วงแรกและค่อยๆลดบทบาทลงเมื่อธุรกิจมีพัฒนาการใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมโลกมากยิ่งขึ้น

ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมใดของไทยที่มีพัฒนาการในระดับที่ค่อนข้างสูง เทียบได้กับการโตเป็นผู้ใหญ่ มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับผู้เล่นอื่นๆในระดับโลกได้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แผนพัฒนา (roadmap) ที่เหมาะสมของอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ควรที่สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มากกว่าที่จะใช้นโยบายเพื่อปกป้อง เพราะนโยบายที่ปกป้องธุรกิจที่เข้มแข็งอยู่แล้ว นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจแล้วยังจะเป็นการขัดขว้างการพัฒนาธุรกิจอีกด้วย เปรียบเสมือนการปกป้องผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่สมควรจะยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง จะทำให้กลายเป็นเด็กไม่รู้จักโต ไม่สามารถที่จะอยู่รอดได้ด้วยตนเองไป

อาศัยแนวคิดข้างต้น ผู้เขียน และดร.ภาณุฑัต สัชฌะไชย (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ทำการประมาณการระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมการผลิตของไทย โดยอาศัยเครื่องมือทางสถิติที่เรียกว่า Stochastic Frontier Analysis เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพทางเทคนิคของไทยเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพทางเทคนิคของต่างประเทศ โดยเลือกเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นตัวเปรียบเทียบหลัก

ผลการศึกษา (ดูรูปประกอบ) แสดงถึงความห่างระหว่างประสิทธิภาพทางเทคนิคของไทยกับต่างประเทศ แยกตามหมวดอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมที่มีระยะห่างของประสิทธิภาพทางเทคนิคที่สูง เช่น อุตสาหกรรมหมวด การซ่อมแซมและการนำกลับมาใช้ใหม่ (37), การผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (24) และ การผลิตวิทยุ โทรทัศน์และเครื่องมือสื่อสาร (32) แสดงว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนา แผนพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวจึงควรที่จะเริ่มต้นจากการใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในระยะเริ่มแรก รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างภาคธุรกิจ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมที่ระยะห่างของประสิทธิภาพทางเทคนิคของไทยกับต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพทางเทคนิคที่ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมเดียวกันในระดับโลกมาก เช่น อุตสาหกรรมหมวด การพิมพ์และการผลิตซ้ำสื่อบันทึกข้อมูล (22), การผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือ (29) และ การผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง(34)จะเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างพร้อมที่จะรับการแข่งขันในระดับโลกได้แล้ว แผนพัฒนาของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงควรที่จะเน้นนโยบายเชิงรับ (ภาครัฐมีบทบาทในการผลักดันอยู่เบื้องหลัง) ในการผลักดันการทำนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี และสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาธุรกิจ เป็นหลัก

ผลการวิจัยในภาพรวม ยังแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพทางเทคนิคของอุตสาหกรรมไทยเกือบทั้งหมด ยังคงอยู่ห่างจากประสิทธิภาพทางเทคนิคของต่างประเทศที่ค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นว่าพัฒนาการของธุรกิจไทยที่ผ่านมายังมุ่งเน้นที่การอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาถูกเป็นหลัก มากกว่าที่จะพัฒนาประสิทธิภาพทางการผลิตให้สูงทัดเทียมกับต่างประเทศ

ในความเห็นของผู้เขียนมองว่าการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่ามาก จะทำให้ความได้เปรียบทางด้านต้นทุนแรงงานของไทยลดลงไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้เอง นโยบายภาครัฐในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายส่งเสริมการลงทุน จึงควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสนับสนุน ให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

แผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เหมาะสมควรจะเริ่มจากการสนับสนุนอุตสาหกรรมตามระดับการพัฒนาของแต่ละอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายในระยะยาวก็คือ ทุกอุตสาหกรรมควรที่จะมีพัฒนาการในระดับขึ้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกได้ด้วยตนเองในที่สุด

mit-chart1

ที่มา: นณริฏ พิศลยบุตร และภาณุฑัต สัชฌะไชย (2555)

หมายเหตุ: หมวดอุตสาหกรรม 15 การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 16 การผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ 17 การผลิตสิ่งทอ 18 การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย 19 การผลิตเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 20 การผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้และไม้ก๊อก (ยกเว้นเฟอร์นิเจอร์) การผลิตสิ่งของจากฟางและวัสดุถักสานอื่น ๆ 21 การผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ 22 การพิมพ์และการผลิตซ้ำสื่อบันทึกข้อมูล 23 การผลิตถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม 24 การผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 25 การผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 26 การผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากแร่อโลหะ 27 การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 28 การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ (ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์) 29 การผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือ 30 การผลิตเครื่องใช้ในสำนักงาน และเครื่องคำนวณ 31 การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า 32 การผลิตวิทยุ โทรทัศน์และเครื่องมือสื่อสาร 33 การผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ และนาฬิกา 34 การผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง 35 การผลิตอุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ 36 การผลิตเฟอร์นิเจอร์ 37 การซ่อมแซมและการนำกลับมาใช้ใหม่


ตอนที่ 1 : นโยบายภาครัฐ กับการผลักดันประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ประเทศปานกลาง (1)