ทีดีอาร์ไอค้านแนวคิดรื้อจัดเก็บภาษีโทรคม

ปี2013-09-11

ภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม เคยจัดเก็บอัตรา 10% โดยให้หักจากส่วนแบ่งรายได้ที่เอกชนคู่สัญญาสัมปทานจ่ายให้รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม ทั้งบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม

ต่อมายุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสิทธชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้พิจารณาอัตราภาษีเป็น 0% ไม่ใช่การยกเลิกการจัดเก็บภาษีไปเลยตามข้อเรียกร้อง เพราะเห็นว่า เผื่ออนาคตรัฐบาลจะจำเป็นต้องหันมาจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ความพยายามจะจัดเก็บภาษีนี้ เกิดขึ้นเนืองๆ ท่ามกลางเสียงคัดค้านดังๆ และหนักแน่นจากนักวิชาการ และเอกชน กระทั่งกรมสรรพสามิตได้หาทางออกด้วยการว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมอย่างเป็นระบบ โดยใช้เวลา 4 เดือน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อรายงานฉบับสมบูรณ์

:ส่งตรงเข้ารัฐ-สกัดเข้าถึงบริการ
นางสาวศิรินทร์รัตน์ กาญจนกุญชร หนึ่งในคณะนักวิจัย นำเสนอรายงานว่า จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ประจำที่ หรือโทรศัพท์พื้นฐานมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2555 มีครัวเรือนประมาณ 16% ที่ยังใช้งาน ขณะที่ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้นอย่างมาก จากข้อมูล กสทช. ปี 2555 มีเลขหมายลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 84 ล้านเลขหมาย จากปี 2546 มีกว่า 21 ล้านเลขหมาย
ผลการศึกษาพบมาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ซึ่งดำเนินการอยู่ 1-2 ปี จัดเก็บภาษี 10% ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 2% โทรศัพท์พื้นฐาน กรมสรรพสามิตนำส่งรัฐโดยตรง ข้อดีทำให้รัฐมีรายได้เข้าคลังเร็วขึ้นและยาวนานกว่าค่าสัมปทาน การกำหนดจัดเก็บอัตราเดียวทำให้คำนวณภาษีนำส่งได้ง่าย ผู้ประกอบการไม่รับภาระมากขึ้น และรัฐมีภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือควบคุมการใช้บริการโทรคมนาคม
ส่วนข้อเสีย คือเกิดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารและเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการชำระและนำส่งเงินให้แก่ทั้งรัฐวิสาหกิจผู้ให้สัมปทานและกรมสรรพสามิต สิ้นเปลืองงบประมาณการจัดเก็บ และผู้ประกอบการอาจผลักภาระภาษีแก่ผู้บริโภคทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
นายประวิทย์ เขมะสุนันท์ หนึ่งในคณะนักวิจัย กล่าวว่า จากรายงานโกลบอล โมบาย แท็กซ์ รีวิว 2011 ของบริษัทดีลอยต์ ทัช โทมัตสึ คิดองค์รวมของภาษีทุกชนิดรวมกัน ประเทศในเออีซีส่วนใหญ่มีอัตราภาษี 10% ไทย 7.10%
ดังนั้น เสนอแนวทางการจัดเก็บ 3 รูปแบบ คือ 1. กสทช. จัดเก็บรายได้เช่นเดิมไม่ต้องเก็บภาษีสรรพสามิต 2. นำแนวคิดจัดเก็บ 10% มาใช้ โดยนำค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการเสียไปจากการประมูลคลื่นความถี่เป็นรายปีมาหักได้ 3. เทียบเคียงเพื่อนบ้านโดยเก็บเพิ่มอีก 2.90 – 3% ให้ครบ 10% ซึ่งเห็นว่าแนวทางที่ 3 เหมาะสมที่สุด

:แนะเก็บภาษีขยะไฮเทค
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ยกเว้นประเทศเกิดวิกฤตอย่างหนัก รัฐไม่สามารถหารายได้อื่นๆ มาได้ หากเหตุการณ์เป็นปกติ ไม่มีเหตุผลที่ต้องเก็บ
การเก็บภาษีนี้มีข้อดีอย่างเดียวคือ เก็บได้ง่าย และจำนวนมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเหมาะแก่การใช้จัดการกิจการที่ดำเนินแล้วกระทบต่อสังคม เช่น บุหรี่ เหล้า แต่บริการโทรคมนาคมก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยรวม และส่งผลสะท้อนประโยชน์แก่ประเทศ ยิ่งใช้มากยิ่งมีประโยชน์มาก
ทั้งนี้ หากจัดเก็บภาษีสรรพสามิตผู้ให้บริการจะผลักภาระให้ประชาชนแน่นอน ต่างจากเงินที่ใช้ประมูลคลื่นจะไม่ผลักภาระ ดังนั้น การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะนำมาทดแทนรายได้จากการประมูลคลื่นที่ราคาต่ำไม่ได้ และทั่วโลกไม่เก็บภาษีนี้ นอกจากบางประเทศในทวีปแอฟริกา
“เชียร์การเก็บภาษีสรรพสามิตตามปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศ ไทยควรก้าวไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง และเก็บภาษีสรรพสามิตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยรวม ไม่แยกเฉพาะขยะที่เป็นชิ้นส่วนโทรคมนาคม ซึ่งกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่มีประโยชน์ จึงไม่ใช่กิจการที่จะจัดเก็บภาษีประเภทนี้ อีกทั้ง ควรเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายของ กสทช. ให้ใช้เท่าที่จำเป็น จะได้มีเงินนำส่งรัฐเพิ่มขึ้น”

:ขยายเวลาส่งผลงาน
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า กำหนดส่งมอบงานกลางเดือน ก.ย. 2556 แต่จะขอขยายออกไปถึงสิ้นเดือน โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นไปพิจารณา และเสนอความเห็นของทีมวิจัย ถ้าจะเก็บมีวิธีอย่างไร และถ้าไม่เก็บจะมีข้อเสนออย่างไร
“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเก็บภาษีสรรพสามิต โดยเน้นเฉพาะกิจการโทรคมนาคม ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดเรื่องว่าเคยเก็บแล้วเลิกเก็บ หากกรมสรรพสามิตจะเก็บจริง ก็ยังต้องผ่านกระบวนการอีกมาก”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 สิงหาคม 2556