นักวิชาการทีดีอาร์ไอเสนอยกเลิกรับจำนำข้าว ใช้วิธีอื่นช่วยเกษตรกรแทน

ปี2013-08-16

mcot20130816

ทีดีอาร์ไอ 16 ส.ค. – ในการเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่อนาคตข้าวไทย” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า นโยบายรับจำนำข้าวส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนใน 2 ฤดูกาลผลิตไปแล้ว 136,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าขาดทุนปีละ 60,000 ล้านบาท ทำให้ไทยเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าว รัฐเป็นผู้ผูกขาดรับซื้อข้าวจากชาวนาแต่เพียงผู้เดียว

นายนิพนธ์มองว่า รัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวแล้วหาวิธีอื่นช่วยเหลือเกษตรแทน เช่น ในสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ รัฐบาลจ่ายชดเชยร้อยละ 70-80 ของส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาด โดยใช้วิธีการกำหนดราคาเป้าหมายจากราคาตลาด การชดเชยโดยตรง และความผันผวนของราคา โดยใช้ค่าเฉลี่ย 3-5 ปีในอดีต ขณะที่โจทย์สำคัญสำหรับชาวนาไทยคือ การเพิ่มผลิตภาพแรงงานไม่ใช่ผลผลิตต่อไร่ การเพิ่มมูลค่าข้าว/ผลิตภัณฑ์ข้าว การย้ายคนออกจากเกษตร สร้างงานในชนบท ที่ดินเกษตรจะทำอย่างไร การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ/ศัตรูพืช ชาวนาที่เกษียณจะมีชีวิตอยู่อย่างไร

ขณะที่ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เครื่องมือที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทยผ่านโครงการจำนำ หรือโครงการประกันรายได้ ถือเป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเห็นได้ชัดโครงการรับจำนำ หากไม่เน้นเรื่องกำไรและขาดทุน ถือว่าเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยให้มีรายได้สูงขึ้น ขณะนี้เกษตรกรมีผลกำไรจากการปลูกข้าวและมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่เกษตรกรมีความต้องการด้านการจำนำ หากมองเรื่องราคาข้าวทั้งในและต่างประเทศขณะนี้โดยเฉลี่ยมีอัตราสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งราคาข้าวไทยมีราคาใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐ และมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และเวียดนาม เฉลี่ยตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การระบาย โดยเฉลี่ยตลาดการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า คาดว่าต้นเดือนตุลาคมนี้จะสามารถระบายได้ 150,000 ตัน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวไทย อสมท วันที่ 16 สิงหาคม 2556 ในชื่อ นักวิชาการทีดีอาร์ไอเสนอยกเลิกรับจำนำข้าว ใช้วิธีอื่นช่วยเกษตรกรแทน