แนะขายข้าวถุงแก้ของแพง

ปี2013-09-15

นักวิชาการแนะรัฐบาลนำข้าวในโครงการรับจำนำบรรจุถุงขายช่วยประชาชน

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในระยะนี้เป็นผลทางจิตวิทยาที่ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสในการปรับราคาเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น เช่น อาหารขึ้นทีละ 5 บาท หรือสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ขึ้นราคาอย่างละนิดละหน่อย

ขณะเดียวกัน นักวิชาการทีดีอาร์ไอยังกล่าวว่า หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพบว่ายังอยู่ในระดับ 3% นิดๆ ยังถือว่าไม่สูง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการเข้าไปควบคุมดูแลไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าจนเกิดผลทางจิตวิทยาและมีการฉวยโอกาส

นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหรือลดผลกระทบจากค่าครองชีพของประชาชน รัฐบาลควรนำข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มีอยู่ในสต๊อกมาบรรจุถุงจำหน่ายให้แก่ประชาชนในราคาไม่แพง “เพราะไหนๆ ก็เหลือข้าวค้างสต๊อกอยู่อีกจำนวนมาก และรัฐบาลอุดหนุนราคาอยู่แล้ว รวมทั้งจะต้องมีการกระจายจุดขายสินค้าในโครงการธงฟ้าให้เข้าถึงภายในสถานประกอบการและโรงงานเพื่อให้สินค้าราคาถูกเหล่านี้ไปถึงมือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ” นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ

นอกจากนี้ นายยงยุทธ กล่าวด้วยว่า กระทรวงแรงงานควรเพิ่มความเข้มงวดสถานประกอบการให้จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามนโยบายรัฐบาลที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศให้มีผลจริงๆ เพราะปัจจุบันมีแรงงานกว่า 5 ล้านคน ที่ยังได้รับค่าจ้างไม่ถึง 300 บาท หากทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับค่าจ้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชนได้อีกจำนวนหนึ่ง

“ปกติเวลาปรับขึ้นค่าจ้างจะมีคนประมาณ 20% ที่ได้ไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ปีนี้คาดว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 40% แล้วพ่อค้าแม่ค้าเห็นว่าขึ้นค่าจ้าง เขาก็ปรับราคาตามแต่เขาไม่รู้หรอกว่าใครได้หรือไม่ได้ค่าจ้าง 300 บาทเต็มจำนวน ดังนั้นก็ต้องไปเข้มงวดสถานประกอบการให้จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำจริงๆ” นายยงยุทธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ควรมีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกในปีหน้า เพราะก่อนขึ้นค่าจ้าง 300 บาท รัฐบาลได้ทำความเข้าใจกับแรงงานแล้วว่าจะไม่ปรับค่าจ้างไปอีก 3 ปี และค่าจ้างควรปรับให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ แต่ขณะนี้เงินเฟ้อยังต่ำ และยังมีผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีอีกมากที่ยังพยายามต่อสู้กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากมีการขึ้นค่าจ้างอีกจะทำให้ผลกระทบหนักกว่าเดิม


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 กันยายน 2556 ในชื่อ แนะขายข้าวถุงแก้ของแพง