ช็อก 5 ล้านคนถูกเบี้ยวค่าแรง 300 อีสานแชมป์-กระทรวงแรงงานจี้เช็กบิล

ปี2013-08-29

prachachat20130829aทีดีอาร์ไอชำแหละนโยบายค่าแรง 300 บาท สำรวจสถิติทั่วประเทศมีมากกว่า 5.5 ล้านคนทั้งแรงงาน+มนุษย์เงินเดือนที่ไม่ได้รับอานิสงส์ เผย 10 อันดับจังหวัดค่าแรงต่ำมาตรฐานมีถึง 1.8 ล้านคน “เหนือ-อีสาน” ครองแชมป์ กระทรวงแรงงานแจงสถิติร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมปัญหาค่าแรงขั้นต่ำมีแค่ 80-90 ราย

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศพบว่า ยังมีแรงงานกว่า 5.5 ล้านคนทั่วประเทศที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในจำนวนนี้พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคนกระจายอยู่ใน 10 จังหวัดแรก ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้ขาดแรงจูงใจในการทำงาน

“ในจำนวน 5.5 ล้านคนนี้ จะมีทั้งแรงงานในไซต์ก่อสร้างกับลูกจ้างที่มีเงินเดือน หรือ wage employee ทั้งหมด”

prachachat20130829b

ขณะเดียวกัน สำหรับภาคก่อสร้างนั้น ภาพรวมตลาดแรงงานทั่วประเทศมีแนวโน้มที่แรงงานจะเข้าสู่ภาคก่อสร้างน้อยลง มาจาก 4 สาเหตุหลัก คือ
1)แรงงานก่อสร้าง 60% เป็นแรงงานที่มีการศึกษาต่ำ และการออกนโยบายสนับสนุนการศึกษาของรัฐบาลส่งผลให้ผู้จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่าลดน้อยลง ดังนั้นโอกาสที่จะมีแรงงานใหม่เข้ามาในภาคก่อสร้างจึงน้อยลงเรื่อย ๆ

2)งานก่อสร้างจัดอยู่ในกลุ่ม 4D คือ เป็นงานหนัก ยากลำบาก อันตราย สกปรก และด้อยศักดิ์ศรี แรงงานจึงหันไปทำงานในเซ็กเตอร์อื่นซึ่งได้รับค่าจ้างพอ ๆ กันแต่มีเนื้องานไม่หนัก เช่น โรงงานหรือบริการ

3)งานก่อสร้างเป็นงานที่มีอนาคตจำกัด ขาดความมั่นคงในอาชีพ อัตราการเข้า-ออกงานสูง และ

4)ขาดแรงจูงใจเพราะได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง 300 บาทดังกล่าว

“ปัจจุบันมีแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 2.8 ล้านคน เป็นแรงงานไทย 2.2 ล้านคน แต่แรงงานไทยจะมีความผันผวนตามฤดูกาล เช่น หน้าเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร แรงงานจะคืนถิ่นทำให้ขาดตลาด เป็นต้น” รศ.ดร.ยงยุทธกล่าว

ร้องรัฐบาลช่วยเหลือด่วน

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กับปัญหาแรงงานขาดแคลนหนัก

โดยยื่นขอ 5 มาตรการด้วยกัน คือ

1)ขอให้ภาครัฐปรับลดค่าเค จากบวก-ลบ 4% เป็นบวก-ลบ 2% เป็นการชั่วคราว เนื่องจากเงื่อนไขค่าเค 4% นั้น ถ้าต้นทุนผันผวนไม่เกิน 4% เอกชนที่เป็นคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้แบกรับไว้เอง แต่ถ้าเกิน 4% รัฐจึงจะชดเชยส่วนต่างโดยหักลบจาก 4% ดังนั้นจึงอยากให้ลดเพดานค่าเคเหลือ 2%

2)ขอให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเสรีทั่วประเทศ หรือขอให้แรงงานต่างด้าวทำงานข้ามเขตได้

3)ขอขยายอายุสัญญาก่อสร้างภาครัฐเป็น 180 วัน

4)ขอให้หน่วยงานราชการใช้ค่าปรับรายวันในอัตราตายตัวร้อยละ 0.01 และ

5)ขอให้ผู้รับเหมาสามารถประกันผลงานของตนเองได้ เมื่อทำงานผ่านไปแล้ว 6 เดือน โดยไม่ต้องมีแบงก์การันตี

“ตอนนี้เราอยากได้ความช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด คือ เรื่องการขยายเวลาก่อสร้าง 180 วัน เพราะตอนนี้มีสัญญาหลายงานที่สร้างเสร็จไม่ทันเวลาที่หน่วยงานคู่สัญญากำหนด เพื่อไม่ให้เสียค่าปรับ”

ขณะเดียวกันมีข้อเสนอแนะว่า หากจะให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ได้ในภาวะนี้

สิ่งที่จะต้องเร่งปรับตัวมี 2 ทางเลือก คือ 1.ใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น 2.หันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อลดการใช้แรงงาน

ผู้รับเหมาปิดกิจการเพียบ

นายวัฒนวุฒิ พิทยาวัฒน์ ผู้รับเหมารายย่อยในเขตภาคใต้ กล่าวสอดคล้องกันว่า มีผู้รับเหมาบางรายไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้ ทำให้ผู้รับเหมาเหล่านี้ยอมทิ้งงาน และบางรายถึงกับต้องปิดกิจการไป

รศ.ดร.ยงยุทธกล่าวเพิ่มเติมว่า สถิติในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน 2556) มีผู้ประกอบการรับเหมาแจ้งขอปิดกิจการไปยังกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 576 ราย มูลค่าปิดกิจการ 902 ล้านบาท ขณะที่มีการแจ้งขอ “จดลดทุน” หรือจดแจ้งเพื่อขอลดทุนจดทะเบียน จำนวน 172 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนที่ลดลง 8,355 ล้านบาท แสดงถึงภาวะวิกฤตของผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

โดยประเมินว่ากลุ่มที่ขอปิดกิจการจะเป็นกลุ่มรับเหมารายเล็ก ขณะที่กลุ่มที่แจ้งขอจดลดทุนเป็นเพราะผลประกอบการไม่สอดคล้องกับจำนวนทุนจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลต่อการจัดทำรายงานทางบัญชี และต้องการสภาพคล่องไปดำเนินธุรกิจ จึงต้องมาแจ้งขอจดลดทุนดังกล่าว โดยถือว่าเป็นสถิติที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ

ก.แรงงานจ้องเช็กบิล

นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เปิดเผยว่า สำหรับงานประมูลภาครัฐที่ผู้รับเหมาได้ทำสัญญาไว้ก่อนหน้าที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสัญญาของภาครัฐมีความยืดหยุ่นน้อย ประกอบกับค่าเค (ต้นทุนผันแปร) ไม่ครอบคลุมถึงต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

“ขณะนี้มีผู้รับเหมาหลายรายไม่ยอมประมูลงานรัฐ เพราะราคาประมูลที่หน่วยราชการประกาศออกมาไม่สามารถดำเนินการได้ โดยรวมแล้วผู้ประกอบธุรกิจก่อสร้างอยู่ในภาวะที่ไม่ว่าจะมีงานหรือไม่มีงานก็มีโอกาสที่จะเจ๊งได้ทั้งสองกรณี” นายกฤษดากล่าว

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกระทรวงแรงงานยังไม่ได้รับรายงานเรื่อง 10 อันดับแรกของจังหวัดที่ไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 แต่เท่าที่มีข้อมูลยังไม่เคยพบข้อร้องเรียนดังกล่าว

“หากพบข้อมูลจริงคงจะต้องตรวจสอบ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลประกาศใช้ให้สถานประกอบการทุกแห่งทั่วประเทศต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท หากตรวจสอบแล้วพบว่าสถานประกอบการใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยเราจะมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งตรวจสอบ และดำเนินการอย่างรวดเร็ว” นายประวิทย์กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 29 สิงหาคม 2556 ในชื่อ ช็อก 5 ล้านคนถูกเบี้ยวค่าแรง 300 อีสานแชมป์-กระทรวงแรงงานจี้เช็กบิล