สรรพสามิตปลุกผีภาษีมือถือ TDRI ค้านกระทบคนใช้-ธุรกิจ

ปี2013-08-31

prachachat20130831

สรรพสามิตปลุกผี “ภาษีโทรคมนาคม” หลังลดเหลือ 0% ตั้งแต่ปี 2550 สถาบันวิจัย ม.ธรรมศาสตร์ ชงเก็บ 3% เหมาะสมที่สุด รัฐมีรายได้-แข่งขันกับประเทศอาเซียนได้ ฟาก “ทีดีอาร์ไอ” ค้านสุดตัว ระบุเพิ่มภาระประชาชนผู้ใช้บริการ-กระทบธุรกิจ และขีดแข่งขันประเทศ แนะส่ง สตง.คุมเข้มการใช้เงิน “กสทช.” ดีกว่า

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2556 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับกรมสรรพสามิต ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อรายงานฉบับสมบูรณ์

ในโครงการศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมอย่างเป็นระบบ โดย ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากกรมสรรพสามิตให้ศึกษาแนวทางและวิธีจัดเก็บ เพื่อนำมาพิจารณาว่าควรกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ และควรจัดเก็บอย่างไร หลังเคยเรียกเก็บเมื่อปี 2546 อัตรา 10% สำหรับบริการโทรศัพท์พื้นฐาน และ 2% สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และต่อมาปี 2550 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดให้มีอัตราภาษีเป็น 0% แต่กฎหมายที่ให้เก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคมได้ยังคงมีอยู่

ข้อสรุปของคณะวิจัย มี 3 แนวทาง คือ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้จัดเก็บรายได้จากกิจการโทรคมนาคมในรูปแบบของค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามเดิม โดยไม่ต้องเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่ม แต่ถ้าเลือกทางนี้ทำให้รัฐเสียรายได้ โดยเฉพาะกรณีที่เงินประมูลคลื่นความถี่ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ทางเลือกที่ 2 ให้จัดเก็บอัตรา 10% เหมือนเดิม เมื่อรวมกับภาษีอื่น ๆ ที่กิจการโทรคมนาคมต้องเสียอยู่แล้ว 7.10% จะทำให้กิจการโทรคมนาคมของไทยต้องเสียภาษีในอัตรา 17.10% สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่เก็บในอัตรา 10% และทางเลือกที่ 3 ซึ่งคณะวิจัยเห็นว่าเหมาะสมที่สุด คือ เก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมในอัตรา 3% เมื่อรวมกับอัตราภาษีอื่น ๆ ที่เรียกเก็บอยู่แล้ว จะทำให้รัฐมีรายได้ที่เหมาะสมในการบริหารประเทศ และยังแข่งขันกับกลุ่มประเทศอาเซียนได้

ด้านนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวว่า ภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาได้นำมาใช้ในยามที่เกิดภาวะจำเป็น อาทิ เมื่อทำสงครามกับสเปนและเวียดนาม หรือในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย แม้การเก็บภาษีดังกล่าวจะกระทบกับการบริโภคของประชาชน แต่ต้องดูว่า การบริโภคนั้นได้ประโยชน์จากทรัพยากรหรือจากรัฐบาลหรือไม่ ถ้าใช่ ต้องมีการเก็บภาษี

“ที่มองว่าอาจทำให้ตลาดหดตัว ตนมองว่า ในขณะที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐในอัตราสูง การบริโภคของประชาชนก็ยังสูงอยู่ ฉะนั้นการบริโภคไม่ได้โดนจำกัดอย่างมีนัยสำคัญจากการเก็บเงินรายได้เข้ารัฐ”

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ถ้าเกิดวิกฤตทางการคลังอย่างหนัก อาทิ เกิดภาวะสงคราม ก็มีเหตุผลที่จะเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ถ้าในภาวะปกติไม่มีเหตุผลที่จะเก็บ เพราะทำให้ต้นทุนกิจการโทรคมนาคมสูงขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่ “อาจจะ” อย่างที่สันนิษฐานไว้ในงานวิจัยดังกล่าว และจะเป็นการผลักภาระให้ประชาชนอย่างแน่นอน ยิ่งประชาชนอยู่ในภาวะไม่มีทางเลือกจะยิ่งโดนผลักให้รับภาระมากขึ้น ทั้งการเรียกเก็บในบางบริการ หรือในอัตราที่ไม่เท่ากัน ยิ่งทำให้เกิดการบิดเบือนธุรกิจ และเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องที่จะนำภาษีมาชดเชยรายได้จากการประมูลคลื่นที่ต่ำเกินไป

“อยากให้มองภาพรวมที่ใหญ่กว่าใช้ภาษีสร้างเสถียรภาพทางการคลัง คือ จะทำอย่างไรให้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศแข็งแรงพร้อมสนับสนุนทุกอุตสาหกรรม เพราะถ้าต้นทุนโทรคมนาคมของประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่า ธุรกิจไทยจะแข่งกันได้อย่างไร ในทางกลับกัน หากโครงสร้างโทรคมนาคมเติบโตจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ด้วย รัฐก็จะมีรายได้จากภาษีอื่น ๆ เข้าคลังมากขึ้น”

ส่วนที่กังวลว่า ถ้าไม่เก็บจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ในความเป็นจริงคือรัฐไม่เคยมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม เพราะที่เคยเรียกเก็บมาก่อนหน้านี้เป็นรายได้ที่แบ่งมาจากค่าสัมปทานที่รัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานต้องได้อยู่แล้ว หากต้องการเก็บภาษีสรรพสามิต ควรคิดถึงภาษีอื่นก่อน อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้อัตราชั่วคราวที่ 7% มานานแล้ว หรือภาษีจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือเท่านั้น

นายสมเกียรติกล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังหรือรัฐบาลควรทำคือ ส่ง สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) มาตรวจสอบการใช้เงินของ กสทช.ให้คุ้มค่ากว่านี้มากกว่า จะได้มีเงินเข้าคลังให้มากขึ้น

นายอนันต์ วรธิติพงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หากจะเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมอัตรา 3% จะทำให้คลังได้เงินราว 6,000 ล้านบาท แต่ถ้าสามารถควบคุมการใช้เงินของ กสทช. ที่เก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการให้คุ้มค่า อาจมีเงินเหลือเข้าคลังมากกว่า 6,000 ล้านบาท

“หากจะเก็บต้องดูว่าค่าบริการโทรคมนาคมของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนหรือไม่ ถ้าสูงแล้วยังเก็บ เราจะแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ ถ้าเรียกเก็บจริง ผู้ประกอบการจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเพราะจะผลักภาระให้ผู้บริโภคอยู่ ซึ่งจะไม่ใช่แค่ 3% แต่บวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีกเป็น 3.7%”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 31 สิงหาคม 2556 ในชื่อ สรรพสามิตปลุกผีภาษีมือถือ TDRI ค้านกระทบคนใช้-ธุรกิจ