นักวิชาการกระตุ้นภาครัฐ ปฏิรูปราชการ

ปี2013-09-23

ในโอกาสครบรอบ 1 ปีกรุงเทพธุรกิจทีวีและก้าวขึ้นปีที่ 27 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้ร่วมกับภาคธุรกิจ จัดเวที “Thailand Tomorrow” ตีโจทย์ใหญ่และกำหนดวันพรุ่งของประเทศไทย ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย พร้อมชำแหละโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หัวข้อ “Reality Check เศรษฐกิจไทย” ในรายการ “Business Talk”

นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า ปัจจุบันแม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงบ้าง แต่จะไม่ได้รุนแรงหรือเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งเหมือนเมื่อปี 2540 เนื่องจากโครงสร้างของปัญหาแตกต่างกัน โดยในช่วงปี 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาหนี้ต่างประเทศสูงมาก ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลพุ่ง ปัจจุบันโครงสร้างระบบการเงิน แข็งแกร่งมากกว่า ธนาคารพาณิชย์มั่นคงและมีผลกำไรที่ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่สูง ซึ่งการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยถือเป็นการชะลอตัวตามวัฎจักรเศรษฐกิจโลก

วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยมาจาก กลไกเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป เนื่องจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย บราซิล และอาเซียน ถือว่าเป็นพระเอกและน่าลงทุนมาก เพราะประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจเก่า อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป มีปัญหา แต่วันนี้ประเทศมหาอำนาจกำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เริ่มชะลอตัว

ขณะที่สภาวะแวดล้อมภายนอกไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจไทย เช่น กำลังผลิตส่วนเกินของมหาอำนาจเศรษฐกิจเก่า ทำให้ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ แม้ใน 3-4 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะระเบิดเวลาหลายลูกข้ามผ่านไปแล้ว แต่เป็นการดีดขึ้นแบบช้าๆ เห็นได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตลอดจนนโยบายอัดฉีดเงินและการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น จะมีส่วนกำหนดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ จะเริ่มลดบทบาทและลดความร้อนแรงเศรษฐกิจลง ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

นายวิรไท ยังชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางปรับขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย จะมีผลกระทบใน 3 ประเด็นคือ 1. ต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่ไทยจะไม่ได้อานิสงส์จากแหล่งเงินราคาถูกอีก ดังนั้นการวางแผนระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับวัฎจักรดอกเบี้ยสูง ภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆเท่านั้น

2. ตลาดเกิดใหม่ จะมีบทบาทน้อยลง เห็นได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางรายการจะเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีสมัยมากขึ้นที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้ เพราะประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านแรงงานมากขึ้น ประกอบกับไทยเริ่มจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และ 3. บทบาทของภาครัฐ ปัจจุบันรัฐบาลติดกับดักภาคเศรษฐกิจ ใช้กลไกของภาครัฐเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น เช่น การแทรกแซงในหลายองค์กร อาทิ สถาบันการเงินของรัฐ รัฐวิสาหกิจ แทรกแซงราคาสินค้าเกษตร จนทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด คุณภาพสินเชื่อมีปัญหา หนี้สินรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลต่อคุณภาพบริการในระยะยาว

นอกจากนั้น การใช้นโยบายแบบรัฐสวัสดิการมากเกินไป เช่น ด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือนโยบายประชานิยมต่างๆ จนทำให้ภาครัฐกลายเป็นผู้อุปถัมภ์และมีภาระมาก จนทำให้ภาครัฐเป็นผู้เล่นรายใหญ่ทำลายการแข่งขันของตลาดแทนที่จะเปิดให้เอกชนผู้เล่น และแข่งขัน โดยมีภาครัฐเป็นลงทุน และประชาชนสามารถเลือกใช้บริการได้ เช่น ระบบประกันสังคม

“เราไม่ได้ยินเรื่องการปฏิรูประบบราชการ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาขาดทุน เราควรจำกัดบทบาทของภาครัฐ เพราะวันนี้ระบบราชการและภาครัฐมีขนาดใหญ่มากเกินไป เราต้องลดการใช้กลไกและอำนาจของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการคอร์รัปชั่น และเพิ่มอำนาจของภาครัฐในการให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนได้ง่าย ที่ผ่านมารัฐบาลให้น้ำหนักในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ประเภทโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน โครงการบริหารน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ล้วนเป็นการบริหารเศรษฐกิจแบบเน้นฮาร์ดแวร์ แต่จริงๆแล้วโลกที่มีความผันผวนอย่างมาก สิ่งสำคัญคือ การบริหารเศรษฐกิจแบบที่เรียกว่า ซอฟต์แวร์ วางกติกาให้เศรษฐกิจแข่งขันได้อย่างมีพลวัตมากกว่า”

เน้นพัฒนาคนดันเศรษฐกิจโต

นายวิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในขณะนี้คือ ภาครัฐมีบทบาทในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจ เพราะหากนโยบายดีจะเป็นประโยชน์แต่ถ้าไม่ดีจะสร้างการบิดเบือนตลาด สร้างภาระการคลังทำลายระบบตลาด บิดเบือนการตัดสินใจในอนาคต การออม การลงทุน การใช้เงินของภาคครัวเรือน

ทั้งนี้สิ่งสำคัญอยู่ที่โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน โดยจุดแข็งคือภาคการเงินที่แข็งแกร่ง ขณะที่จุดอ่อนเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทุนมนุษย์ ระบบการจัดการนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งบทบาทของภาครัฐต้องเป็นผู้ส่งเสริมไม่ใช่เข้ามาร่วมเล่นมากเกินไป

ขณะเดียวกัน ปัญหาคอร์รัปชั่น ก็บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเห็นด้วยที่จะมีการปฎิรูประบบราชการ และคอร์รัปชัน รวมทั้งยังต้องดูไปถึงเรื่องหลักในการบริหารของภาครัฐต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใส คุณธรรม ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

“สำคัญที่สุดคือ คุณภาพคน เราไม่สามารถผลิตคนได้อย่างมีแบบแผน ที่ผ่านมามีปัญหาการจัดการการศึกษา กระทบต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย การบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งเราต้องพัฒนา เพราะเศรษฐกิจประเทศจะเติบโตอย่างเข้มแข็งหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพคน”

ห่วงอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์เสี่ยงสุด

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตบนฐานที่สูงกว่าปกติจากเมื่อปี 2555 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น นโยบายรถคันแรก บ้านหลังแรก การกลับเข้าสู่ฐานปกติต้องใช้เวลา เห็นได้จากในครึ่งแรกของปีนี้ การส่งออกถูกกระทบค่อนข้างมาก จากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า ปีนี้จึงประมาณการว่าอัตราการเติบโตอาจไม่ถึง 4% ตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยน่าจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงอีก แต่ภาคบริการ เช่น ท่องเที่ยว และธุรกิจรักษาพยาบาลน่าจะเป็นอนาคตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือว่ามีความสามารถในการแข่งขัน เพราะญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ แต่ที่น่ากังวลคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะผู้ประกอบการบางรายย้ายฐานไปแล้วในช่วงที่มีปัญหาน้ำท่วม ขณะที่สินค้าเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบแบบใหม่ และไปผลิตในประเทศอื่น ขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยังขึ้นอยู่กับโครงการของภาครัฐที่ต้องรอความคืบหน้า

ส่วนอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างแย่ เพราะตลาดยุโรป ยังไม่ฟื้นตัวดี ได้แก่ อาหาร และแปรรูปเกษตร

“ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไป ยกเว้นจะมีเหตุการณ์พลวัตที่เกิดขึ้นและกระทบกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเผชิญกับเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งการที่ไทยต้องปรับตัวรับมือกับเจาะตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากตลาดจีนที่จะค่อยๆขยายตัวลดลง และเข้าไปทำตลาดได้ยากมากขึ้น”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 กันยายน 2556 ในชื่อ “นักวิชาการกระตุ้นภาครัฐ ปฏิรูปราชการ