จับตาการสร้างอนาคตไทยด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้าน

ปี2013-09-23

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งใหญ่ที่มีการออกพระราชบัญญัติกู้เงินลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นพ.ร.บ. สร้างอนาคตไทย 2020ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบวาระ 3 ไปเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา การปฎิรูปโครงสร้างประเทศครั้งใหญ่นี้แม้ควรเกิดขึ้นแต่ยังมีสิ่งที่ต้องร่วมกันจับตาเพื่อให้เกิดการใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ดร.สุเมธ องคกิตติกุล, นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ
ดร.สุเมธ องกิตติกุล, นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ

ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ เปิดเผยมุมมองโดยพิจารณาจากยุทธศาสตร์  โครงการที่จะเกิดขึ้น และการบริหารจัดการ กล่าวว่า ในด้านการลดต้นทุน  โครงการที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านนั้น เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางเป็นหลัก นั่นคือการขนส่งทางรถไฟ ที่เชื่อว่าเป็นการขนส่งที่ประหยัดและขนส่งได้ครั้งละมาก ๆ น่าจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งของประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงข้อจำกัดของระบบรางในบ้านเราคือมีโครงข่ายระบบรางทั่วประเทศประมาณเพียง 4,000 กิโลเมตร ขณะที่เมื่อเทียบกับระบบขนส่งทางถนนเรามีโครงการข่ายถนนมากกว่า 200,000 กิโลเมตร  ระบบขนส่งทางรางจึงมีความทั่วถึงไม่มากนัก ด้านการลดต้นทุนคงลดได้บ้าง  แต่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดหรือมีนัยยะสำคัญกับระบบเศรษฐกิจยังต้องดูกันต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่ที่ทางรถไฟได้พัฒนาเส้นทางไปนั้นเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

รถไฟความเร็วสูง ไม่ลดต้นทุนการขนส่ง

อย่างไรก็ดีกรอบของพ.ร.บ.2 ล้านล้านนั้นประกอบไปด้วยโครงการจำนวนมากเหมือนเป็นแพ็คเกจใหญ่ มีตัวโครงการที่มีการพัฒนาระบบการขนส่งเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบทางคู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบรถไฟทางเดี่ยววิ่งสวนกันไม่ได้ ถ้าเป็นทางคู่ก็จะทำให้วิ่งสวนกันได้ ก็จะสามารถขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้จำนวนมากและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ แต่โครงการลักษณะนี้มีสัดส่วนประมาณ 20-25% ของเม็ดเงินในการลงทุนเท่านั้น ในขณะที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงเป็นเม็ดเงินค่อนข้างสูงมากประมาณกว่า 8 แสนล้านบาทหรือ 39%ของเม็ดเงินที่จะลงทุน2ล้านล้านครั้งนี้ และในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ยังมีความไม่ชัดเจนในหลายประการเช่นจะช่วยเรื่องความเชื่อมโยงกับภูมิภาคได้อย่างไร อีกทั้งรถไฟความเร็วสูงก็ไม่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนมากนักเพราะเน้นรองรับการขนส่งคนเป็นหลัก เป็นทางเลือกใหม่ของการเดินทางที่มีต้นทุนสูงซึ่งค่าโดยสารก็น่าจะแพงตามไปด้วย

ลุ้น…ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประเด็นนี้ต้องดูรายละเอียดโครงการ หากมีลักษณะอย่างเรื่องของระบบทางคู่ หรือรถไฟฟ้าที่ให้บริการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันในเรื่องรถไฟความเร็วสูงยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่  ต้องรอดูกันต่อไป เพราะการหวังว่าการมีรถไฟความเร็วสูงแล้วจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินไปตลอดแนวที่รถไฟความเร็วสูงพาดผ่านนั้นความจริงแล้วกระบวนการพัฒนาที่ดิน พัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ในลักษณะอย่างนี้จำเป็นต้องใช้เวลามาก หลายครั้งที่เราได้ยินการยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากมีรถไฟความเร็วสูงแล้วทำให้เศรษฐกิจเขาเติบโตพัฒนา ตรงนี้ต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ประเทศเขาด้วยว่า เป็นประเทศที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่นจึงมีปริมาณการใช้งานรถไฟความเร็วสูงค่อนข้างมาก และพื้นที่ก็มีการพัฒนามาเป็นเวลานาน เริ่มจากการพัฒนาตัวรถไฟระบบปกติก่อน เสร็จแล้วจึงมีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงมาเป็นระยะ ๆ ทีละเส้นทาง

ห่วงการจัดการ เสนอการรถไฟปฎิรูประบบรับมือ

เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินมหาศาล เป็น พ.ร.บ.การกู้เงิน จึงมีความเป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการซโดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการบริหารจัดการคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อจำกัดภายในทั้งเรื่องโครงสร้าง บุคลากร และการบริหารจัดการที่น่าเป็นห่วง  เช่นที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตมีการอนุมัติงบประมาณโครงการรถไฟทางคู่ วงเงินราว 1.7 แสนล้านบาทให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำเนินการ ซึ่งการรถไฟฯดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้วแต่ยังมียอดเบิกจ่ายงบประมาณอยู่ในระดับหมื่นล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการให้การดำเนินงานในเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรมีการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรของการรถไฟแห่งประเทศไทยควบคู่ไปด้วย หรืออาจจะมีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมบางส่วนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความมีประสิทธิภาพของระบบมากยิ่งขึ้น

แนะ ”จับตา” เอกสารประกอบการพิจาณา

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดของโครงการที่อยู่ภายใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านคือ ส่วนของบัญชีแนบท้ายซึ่งมีผลตามกฎหมายเฉพาะส่วนที่เป็นรายละเอียดยุทธศาสตร์และแผนงานอย่างกว้าง ๆ มีเนื้อหาเพียงสองหน้าครึ่งของหน้ากระดาษเท่านั้นขณะที่รายละเอียดของโครงการจะอยู่ภายใต้เอกสารประกอบการพิจารณาที่มีความหน้ากว่า200หน้า และเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาที่ยังไม่มีผลตามกฎหมาย(ณ ร่างที่พิจารณา)หมายความได้ว่ารัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนโครงการได้ในอนาคตภายใต้ยุทธศาสตร์หรือแผนงานที่กำหนดไว้ ส่วนนี้ได้สร้างข้อกังวลสำหรับโครงการต่าง ๆ เช่น อาจมีการปรับเปลี่ยนสำหรับโครงการที่ไม่ตอบโจทย์ฐานเสียงของรัฐบาลออกไปได้  เป็นต้น  ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ

โล๊ะโครงการไม่พร้อม ช่วยลดเงินกู้

นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอได้มีการศึกษารายละเอียดโครงการที่อยู่ในพ.ร.บ.นี้พอสมควร และพบว่า มีหลายโครงการที่ยังไม่มีความพร้อม สิ่งที่ควรแก้ไข คือ ควรตัดโครงการที่ยังไม่พร้อมออกไปก่อน จะช่วยลดวงเงินการลงทุนให้น้อยลง(กู้ให้น้อยลง)ได้  เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น และโครงการที่ตัดไปหากมีความพร้อมเมื่อไหร่ก็สามารถร่างเป็น พ.ร.บ.ใหม่ขึ้นมาหรือใช้งบประมาณประจำปี หรือใช้ระเบียบงบประมาณอื่นก็ได้  ไม่จำเป็นต้องทุ่มทั้ง 2 ล้านล้าน โดยที่ทราบว่าหลายโครงการยังมีความไม่พร้อมในการลงทุนค่อนข้างมาก.

สามารถดูคลิปสัมภาษณ์ได้ที่: https://tdri.or.th/multimedia/tdrichannel-sumet-20130920/