ปี | 2013-09-19 |
---|
เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ผมอ่านหนังสือจบไป 1 เล่ม…เกิดความคิดติดพันขึ้นหลายๆประการ ขออนุญาตนำมาเขียนถึงในวันนี้
ชื่อหนังสือ “พลังเทคโนแครต” ครับ…มีคำบรรยายตัวเล็กๆกำกับไว้บนหน้าปกด้วยว่า “การขับเคลื่อนและเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย (2504-2535) ผ่านชีวิตและงานของเสนาะ อูนากูล”
เขียนในแนวหนังสือประวัติชีวิตของข้าพเจ้า จับความตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กวัยเรียนและวัยทำงานของ ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์, อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในยุคสมัยของรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน
หนังสือเล่มนี้เป็นของสำนักพิมพ์ มติชน โดยนำเล่มเก่าที่ตีพิมพ์โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อปี 2552 มาปรับปรุงเล็กน้อย และจัดพิมพ์ใหม่ในรูปเล่มพ็อกเกตบุ๊กออกวางจำหน่าย เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง
ดร.เสนาะ อูนากูล ในฐานะนักวางแผนของภาคราชการ ที่ไต่เต้ามาตั้งแต่การเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์
จึงมีส่วนอย่างมากในการรวบรวมเรียบเรียงและประสานแนวความคิดในการพัฒนาประเทศจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากภาคราชการอื่นๆ หรือภาคเอกชนให้มาเป็น 1 เดียวกันในแผนพัฒนาประเทศนับตั้งแต่ช่วงปลายของแผนฉบับที่ 1 มาจนถึงฉบับที่ 5 และที่ 6
โดยเฉพาะฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 ที่เกิดขึ้นในยุคที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และท่านอาจารย์เสนาะเป็นแม่งานในการร่างแผนทั้ง 2 ฉบับด้วยตัวท่านเองนั้น เป็นแผนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มองปัญหาและมีวิธีการในการแก้ปัญหาค่อนข้างครบถ้วน
มีแผนปฏิบัติการและโครงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ ที่เรียกว่า “แผนพัฒนาชนบทยากจน”
มีแผนและโครงการที่จะผลักดันประเทศให้ก้าวออกไปข้างหน้า ที่เรียกว่า “แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก”
รวมทั้งมีระบบการทำงานในรูปแบบของการจับมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ที่เรียกว่า “ระบบ กรอ.” เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
นับว่ามีส่วนอย่างมากในการสร้างความแข็งแกร่งและเป็นการวางรากฐานไว้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้
หลังจากผ่านยุค พล.อ.เปรม และ ดร.เสนาะไปแล้ว บทบาทของ สภาพัฒน์ก็เริ่มลดลง เป็นเพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ มักมีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเอง และได้ประกาศนโยบายในระหว่างการหาเสียงมาแล้วเป็นที่รับรู้รับทราบของประชาชนทั่วประเทศ
ทุกๆประเทศที่จะก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มตัวจะต้องเป็นเช่นนี้ ภาคการเมืองจะต้องแข็งขึ้น และมีความรู้มากขึ้น ในขณะที่นักวิชาการในภาคราชการจำเป็นจะต้องเปลี่ยนบทบาทไปมองเหตุการณ์ระยะยาวๆมากขึ้น ดังเช่นที่สภาพัฒน์ทุกวันนี้ก็พยายามมองไปถึง 10 ปี 20 ปีข้างหน้าว่าประเทศไทยควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ลดบทบาทในการประสานงานพัฒนาเฉพาะหน้า ประเภทคิดไปด้วยทำไปด้วยอย่างในสมัยจอมพลสฤษดิ์ หรือสมัยป๋าเปรมลงไปเยอะ
บันทึกของอาจารย์เสนาะจึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่จะไม่มีวันหวนกลับมาอีกอย่างแน่นอน
แต่ก็เป็นบันทึกที่ทรงคุณค่าที่จะสอนให้คนไทยรู้ว่า ในยุคของเผด็จการเต็มใบอย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์มาจนถึงประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างสมัยป๋าเปรมนั้น เขาพัฒนาประเทศกันอย่างไร
อาจจะดูดี ขับเคลื่อนได้เร็ว แต่ก็ขาดความเป็นประชาธิปไตย ขาดการมีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์จากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ดังนั้นเมื่อเราก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบอย่างทุกวันนี้แล้ว เราจะปรับวิธีการอย่างไร จะเอาส่วนดีของระบบเก่ามาใช้อย่างไร หรือทำอย่างไรจะให้ของใหม่ทุกวันนี้ดีกว่าของเก่า
โดยส่วนตัวผมในฐานะที่เคยมีส่วนร่วมมากับระบอบเก่า มองว่าระบบทุกวันนี้แย่กว่าระบบเก่ามาก แย่จนบางครั้งรู้สึกท้อถอยด้วยซ้ำ
แต่เราก็จะต้องอยู่กับมัน และจะต้องช่วยกันทำให้ระบบนี้ดีเท่าหรือดีกว่าระบบเก่าให้จงได้ เพราะระบบการบริหารประเทศแบบเก่าที่ท่านอาจารย์เสนาะเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ จะไม่มีวันหวนกลับมาอีกแล้วครับ.
“ซูม”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 17 กันยายน 2556 ในชื่อ “เรียนรู้จากหนังสือ ชีวิต/ผลงาน/เสนาะ อูนากูล”