นักวิชาการ TDRI อัดโครงการจำนำข้าว ทำให้กลไกซื้อขายข้าวเปลี่ยน และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบถาวร ดึงการเมืองให้ต่ำลง แนะสร้างธรรมนูญการคลัง สร้างนิสัยทางการเงิน ลดประชานิยม….
นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เปิดเผยระหว่างการเสวนาสาธารณะ “เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้” (Economy of Tomorrow) หัวข้อ “คิดใหม่ประชานิยม : จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” ว่า นโยบายประชานิยม เป็นเครื่องมือหาเสียงทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในไทยเพียงประเทศเดียว โดยสิ่งที่ตนเห็นด้วยต่อประชานิยมคือความรับผิดชอบต่อสัญญาที่มีต่อภาคประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชานิยมในไทยและตนแสดงความไม่เห็นด้วยมาโดยตลอดคือเป็นประชานิยมที่เกิดขึ้นในไทยเป็นการแสดงความรับผิดชอบสัญญาเพียงครึ่งเดียว ประกอบกับความไม่เข้มแข็งของพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ประชานิยมในไทยแพร่หลายขึ้น และมีทั้งในทางบวกและทางลบ เช่น โครงการรถคันแรก โครงการรับจำนำข้าว และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
นายอัมมาร กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อให้การจำนำข้าวเอื้อต่อชาวนาระดับบน ซึ่งมีคะแนนเสียงน้อย แต่ได้รับอานิสงส์จากโครงการจำนำข้าวมากกว่าชาวนาระดับล่าง ในขณะที่การกำหนดรูปแบบโครงการซึ่งรัฐบาลไม่เคยตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะใช้งบประมาณในโครงการดังกล่าวไม่เกิน 100,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากความบกพร่องด้านระบบกลไกควบคุมการเงินของรัฐที่มีช่องว่างในขั้นตอนทางด้านเทคนิค ทำให้เงินงบประมาณที่จัดสรรไว้ไม่เพียงพอ และในท้ายที่สุดจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีจากภาคประชาชน
“ความรับผิดชอบต่อต้นทุนและนโยบายต่างๆ ไม่อยู่ในสัญญา ทำให้รัฐบาลถูกลง การสร้างอำนาจผูกขาดให้พ่อค้าเพียงกลุ่มเดียวหรือรายเดียว ส่งผลให้กลไกการซื้อขายข้าวเปลี่ยนแปลงไป และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบถาวร ข้าวที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ผลิตออกมาเพื่อให้เน่าอยู่ในโกดัง เพราะขายไม่ได้” นายอัมมาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม TDRI ติดตามทุกนโยบายของพรรคการเมืองนับตั้งแต่ช่วงหาเสียง โดยยอมรับว่าไม่ได้จัดทำประมาณการต้นทุนโครงการรับจำนำข้าว เพราะนโยบายในช่วงหาเสียงขาดความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI กล่าวว่า นโยบายประชานิยมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยมีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ที่เปิดช่องว่างนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง และเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองนำมาใช้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นมรดกของพรรคการเมืองที่นำมาใช้อย่างต่อเนื่องและไม่ได้ก่อให้เกิดความประโยชน์แต่ในทางตรงกันข้ามกลับสร้างความเสียหายให้กับประเทศ
ส่วนกรณีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายประชานิยมก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และไม่สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะการใช้นโยบายประชานิยมในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายรับจำนำข้าว ที่ทำให้ไทยเสียตำแหน่งผู้นำการส่งออกข้าวในตลาดโลก ในขณะที่นโยบายรถคันแรก ทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ตามแนวทางที่ควรจะเป็น สวนทางกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่เริ่มเห็นผลเสียจากนโยบายดังกล่าวแล้วจากยอดการคืนรถและการยึดรถ ที่เกิดจากผู้บริโภคไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้
นายสมเกียรติ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การลดนโยบายประชานิยมในอนาคตจึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน และนักวิชาการที่ต้องประเมินผลของนโยบาย ที่พรรคการเมืองนำออกมาหาเสียงว่าต้นทุนของนโยบายประชานิยมนั้นเป็นอย่างไรบ้าง จะเกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ควรกำหนดในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้มีการควบคุมวินัยทางการคลัง ในรูปแบบธรรมนูญการคลัง เพื่อสร้างกฎ กติกา ด้านวินัยการคลังให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย เนื่องจากจะช่วยในการคุมค่าใช้จ่ายของภาครัฐไม่ให้ขาดดุล หรือขาดทุนจากภาวะปกติที่ไม่ใช่การขาดดุลที่เกิดขึ้นจากประชานิยม.
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยรัฐ วันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ TDRI อัดโครงการจำนำข้าว ทำให้กลไกซื้อขายข้าวเปลี่ยน