สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้จัดกิจกรรม TDRI workshop เรื่อง “โอกาสและแนวทางเพื่อการพัฒนาธุรกิจสีเขียวในประเทศไทย ในงาน “The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development”เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556โดยมีผู้ร่วมแสดงทรรศนะประกอบด้วย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนวะณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว คุณชลธร ดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศและความยั่งยืน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) คุณวิเชียร เจษฎากานต์ กรรมการบริษัท Pig Family จำกัด ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวิทยากรแต่ละคนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอแนวทางการพัฒนาธุรกิจสีเขียวในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สำคัญดังนี้
ประเทศไทยในบริบทสีเขียว
ดร.กรรณิการ์ นำเสนอ“ประเทศไทยในบริบทสีเขียว : สถานการณ์และภาพอนาคต”โดยระบุว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การจะนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวต้องอาศัย “Package of Change” หรือ “Paradigm Shift” ความร่วมมือจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ อาทิ ผู้บริโภค ผู้ผลิต ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ฯลฯ ที่สำคัญคือนโยบายและเครื่องมือต่าง ๆ
หลักสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาสีเขียวคือ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในภาคการผลิต การพัฒนาสีเขียวได้แก่ การใช้เทคโนโลยีที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต การปกป้องและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาแผนธุรกิจที่มีสองส่วนสำคัญคือ การสนับสนุนการใช้นวัตกรรมในระดับและมติต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาไปสู่ Inclusive & Green Business และการสร้างความร่วมมือและการประสานงานอย่างบูรณาการ
การจะขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวได้นั้นต้องอาศัยหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐต้องเพิ่มบทบาทมากขึ้นและดำเนินการอย่างจริงจัง ในการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่จะเอื้อไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้ ให้ความมั่นใจกับภาคธุรกิจเรื่องการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดี มีมาตรการเสริมสร้างแรงจูงใจก้าวสู่ธุรกิจสีเขียว และการพยายามส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เกิดการประสานงานของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็เริ่มมีการให้เงินกู้กับการทำธุรกิจสีเขียวมากขึ้น
ในบริบทต่างประเทศถ้าเราต้องการผลักดันธุรกิจสีเขียวเราก็ต้องมาดูผลกระทบของสินค้าสีเขียว ก็ต้องไปทำกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีราคาที่สูงขึ้นโดยนำภาษีคาร์บอนหรือภาษีสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้ แต่สำหรับประเทศไทยภาษีคาร์บอนก็ยังไม่คลอดออกมาบังคับใช้ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป
ด้านการบริโภคการที่ผู้บริโภคจะเลือกเข้ามาสู่การใช้สินค้าสีเขียวได้นั้นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่าย จากการต้องไปซื้อสินค้าสีเขียวที่มีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไปจากลักษณะของการมีประโยชน์ที่แตกต่าง/มีคุณค่ามากกว่าไปบริโภค การลงทุนนี้จะก่อประโยชน์ไม่ใช่แค่ตัวผู้บริโภคสินค้าสีเขียวแต่ยังหมายรวมถึงประโยชน์กับสาธารณะ และการเกิดปรากฏในรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ในมุมคิดของผู้บริโภคจึงเป็นการปะทะกันของ “ทุน” กับ “ประโยชน์” ที่จะเกิดขึ้น จึงนำไปสู่การเกิดผู้ผลิตผลิตภัณฑ์/สินค้าสีเขียวขึ้นมาได้ การจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ต้องอาศัยการปลูกฝังในระยะยาว โดยอาจจะบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ขณะที่ในระยะสั้นก็มีเทคนิคที่นำมาใช้คือ โครงการฉลากสีเขียว ซึ่งเป็นการดูทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าสีเขียวออกมาสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้บริโภคเน้นให้คำนึงถึงคุณค่าในการเลือกซื้อสินค้าสีเขียวมากขึ้น
ประสบการณ์สีเขียว…จากกระแสโลกถึงชุมชน
คุณชลธร นำเสนอประสบการณ์ดำเนินธุรกิจ ‘SCG SD Operation towards the Forefront of Green Business’โดย SCG เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจระดับโลกดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นสู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่ผ่านมาได้บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งในกระบวนการผลิตสินค้า การให้บริการ รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนการนำเรื่อง Green มาใช้ช่วยทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคือ1) ช่วยลดต้นทุน โดยทำในสองส่วนคือ พลังงานกับเทคโนโลยี เป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ลดลง2) ช่วยสร้างรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจด้วยการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีคุณลักษณะและราคาที่เหมือนกับสินค้าทั่วไปในท้องตลาด แต่เพิ่มเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ แทนการทำให้สินค้ามีราคาแพงซึ่งผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อได้ยากในวันนี้ที่เขาต้องจ่ายแม้จะมองเห็นประโยชน์ระยะยาวก็ตาม สำหรับ SCG ผลที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโดยตรงคือ ปีที่ผ่านมามี SCG eco value เพิ่มขึ้น 14% และครึ่งปีแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นมาเป็น 24% 3) การพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อนำของเสียอุตสาหกรรมกลับไปใช้ใหม่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือพยายามให้มีของเสียน้อยที่สุดโดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์ ซึ่งต้องพยายามต่อไป บทเรียนความสำเร็จของ SCG ในการพัฒนาธุรกิจสีเขียวคือมีเป้าหมายองค์กรที่มุ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จึงอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร วิสัยทัศน์ และการบริหารจัดการองค์กรที่ดี อย่างไรก็ตามความสำเร็จนี้ทุกคนสามารถทำได้ ยิ่งธุรกิจเล็กยิ่งทำได้ง่าย
คุณวิเชียรนำเสนอในมุมมองของการทำธุรกิจสีเขียวขนาด SME ที่พยายามดูแลและจัดการสิ่งแวดล้อมให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยให้ประสบการณ์ว่า พื้นฐานมาจากครอบครัวผู้เลี้ยงสุกร และในช่วงหนึ่งก็หันไปทำฟาร์มกุ้งซึ่งไม่ประสบความสำเร็จได้บทเรียนว่า การทำธุรกิจที่ไม่เข้าใจระบบนิเวศและลักษณะเฉพาะของธุรกิจนั้นทำได้ยาก จึงหันมาพัฒนาฟาร์มสุกรเหมือนเดิม แต่ก็ไม่ง่ายเมื่อฟาร์มหมูกับชุมชนอยู่ด้วยกันปัญหาผลกระทบย่อมเกิดขึ้น จุดเปลี่ยนมาจากการคิดได้ว่า การทำธุรกิจนั้นถ้าเป็นการทำธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้นเราจะอยู่ไม่ได้ เส้นทาง ธุรกิจสีเขียวทำไม่ง่ายแต่ทำได้ถ้าตั้งใจทำ เมื่อทำแล้วก็พยายามสื่อสารกับผู้คนเรื่องของการอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผมในแนวนี้ทำมา 16 ปีและเห็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางส่วนโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่รอบ ๆ เริ่มมีความเข้าใจมากยิ่งยิ่งขึ้น และตนยืนยันว่าตลาดของธุรกิจสีเขียวในประเทศไทยนั้นยังมีเส้นทางอีกยาวไกล แต่ปัญหาคือ ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงผู้ผลิต และผู้ผลิตเข้าไม่ถึงผู้บริโภค เส้นทางธุรกิจสีเขียวเป็นโอกาสที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยสิ่งที่จะทำให้การทำธุรกิจบนเส้นทางนี้เดินไปได้ดีนั้นต้องอาศัยนวัตกรรมและการทำให้เกิดการรีไซเคิลสมบูรณ์แบบ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระวังว่าในระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ซึ่งเราคิดว่าดีที่สุดแต่ก็ยังมีอาการข้างเคียงอยู่คือจะเกิดการกินรวบไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพสูงกว่า เป็นอาการข้างเคียงที่เราเลี่ยงไม่ได้และกำลังเกิดขึ้น การจะยับยั้งระบบทุนนิยมแบบนี้และทำให้ธุรกิจและสังคมมีความยั่งยืนนั้น ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคมสิ่งแวดล้อม ซึ่งรูปแบบความรับผิดชอบก็แตกต่างกันไป
ดร.เดชรัต กล่าวถึง ‘ชุมชนไทยกับกระแสธุรกิจสีเขียว: ประสบการณ์ของกิจการเพื่อสังคมด้านพลังงานชุมชน’โดยระบุว่า เป็นการทำกลับกันจากภาคธุรกิจที่นำสีเขียวไปใช้กับการทำธุรกิจ แต่กับภาคชุมชนนั้นเป็นการนำธุรกิจเข้าไปในชุมชนที่อยู่กับธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ที่ตนได้ทำงานร่วมกับภาคชุมชนด้านพลังงาน และทำงานกับคนที่ไม่ได้เป็นนักธุรกิจมาก่อน 14 ราย โดยใช้โมเดลนำกระแสสีเขียวสู่ชุมชนคือการให้ความสำคัญกับ “คุณค่า-มูลค่า-คุณค่า-การขับเคลื่อนสังคมต่อเนื่อง” และเปลี่ยนรูปแบบจากโครงการเป็นการทำกิจการซึ่งชาวบ้านทำกันเอง พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความต้องการใช้งานผสานกับเทคโนโลยีจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้งานได้จริงตามต้องการ นั่นคือ เตาแก๊สชีวภาพหรือไบโอแก๊สที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ทำได้หมดตามความต้องการใช้ประโยชน์จริง จากตัวอย่างชัดเจนว่า ชุมชนได้ประโยชน์จากธุรกิจสีเชียวได้ถ้าเข้าใจคุณค่าของธุรกิจสีเขียว
ดร.สรณรัชฎ์กล่าวถึง “ธุรกิจไทย-สังคม-สิ่งแวดล้อม” กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมมาจนถึงขั้นวิกฤติเกินกว่าที่โลกจะปรับตัวได้ ต้นเหตุสำคัญอันหนึ่งมาจากระบบผลิตของเราซึ่งเป็นเส้นตรงหมุนเงิน และตัวอื่น ๆ ในระบบนี้มุ่งทำกำไรสูงสุดและโยนภาระสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตอนนี้เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปแล้ว 30 %ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ จึงต้องรีบปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตวงจรปิดซึ่งจะทำให้เป้าหมายการผลิตอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ในทางปฎิบัติตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคที่มีระบบผลิตแบบเส้นตรงไปสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียว(ระบบผลิตวงจรปิด) การเปลี่ยนผ่านทำไม่ได้ข้ามคืนสิ่งที่ต้องการคือเวลาในการปลูกฝังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในวงจรการผลิต
“ธุรกิจไทยไม่ค่อยได้ทำCSRแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจังแต่เป็นการทำ CSRที่เป็นการตลาดเพื่อทิ้งขว้าง แต่หลายธุรกิจที่มีความพยายามที่จะทำ และต้องทำต่อไป สิ่งที่ต้องไม่ทำให้เกิดขึ้นคือการถอยกลับไปสู่การสร้างความสามารถในการทำลายล้าง จากการมองไม่เห็นการเชื่อมโยงของความสัมพันธ์การประกอบการที่เชื่อมโยงห่วงโซ่จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จำเป็นต้องสร้างระบบตรวจสอบที่เชื่อมโยงครบวงจร เพราะเราทุกคนล้วนสัมพันธ์กัน”
ตัวอย่างการดำเนินธุรกิจไทยกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มีความสำคัญและเห็นชัดตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีการสร้างเขื่อนไชยะบุรีในประเทศลาว เป็นการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าประเทศไทยได้ประโยชน์ คือ จะซื้อไฟฟ้า 95% จากที่เขื่อนผลิตได้ 1,285 MW นักธุรกิจไทยได้ประโยชน์จากการได้ประมูลก่อสร้าง และธนาคารไทย 6 แห่งได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งทุน ปัจจุบันเริ่มมีการก่อสร้างองค์ประกอบบนฝั่งแล้วบางส่วนโดยไม่มีแบบละเอียด ไม่มีEIAไม่เปิดเผยแผนชดเชยผู้รับผลกระทบ ฯลฯ ขณะเดียวกันอีกฟากหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบ มีการแสดงความห่วงใยจาก กัมพูชา-เวียดนามในการประชุม MRC และอีกหลายวาระจนมีการยื่นหนังสือให้หยุดการก่อสร้าง
ในกรณีนี้ ประเด็นก็คือในด้านการทำธุรกิจหากมองแค่เรื่องเม็ดเงินกำไรและผลประโยชน์ที่จะได้นั้นไม่ใช่การลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ในฐานะเป็นคนไทยที่จะต้องอยู่กับเพื่อนบ้านต่อไปในอนาคตคำถามที่ใหญ่ว่าที่ว่าธุรกิจเสี่ยงทุนหรือเปล่า คือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ภายใต้AEC เราต้องใส่ใจว่าการประกอบการธุรกิจต้องดูเรื่องผลกระทบอื่น ๆ ด้วย การจะอยู่ร่วมกันในโลกที่วิกฤติขึ้นเรื่อย ๆ นี้ หากอยากอยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูลกันจำเป็นที่จะต้องทบทวนว่าต้องการไฟฟ้าหรือต้องการเขื่อน และมีวิธีการใดบ้างที่จะได้มา เช่น หากต้องการไฟฟ้า เขื่อนก็เป็นเครื่องมือสำหรับการผลิตไฟฟ้า(ไทยซื้อ) แต่ยังมีวิธีการอื่นที่จะทำให้ได้ไฟฟ้ามาโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและเพื่อนบ้าน ซึ่งนั่นคือ ตลาดสีเขียวในอนาคต
จากประสบการณ์ดำเนินธุรกิจสีเขียว จะเห็นว่าไม่ว่าธุรกิจขนาดใด สามารถนำกระแสสีเขียวไปใช้การทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ เป็นตลาดที่โตได้อีกมาก และไม่มีสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจบนเส้นทางสีเขียว เพราะทุกคนสามารถออกแบบและทำได้ด้วยตัวเอง.