นิพนธ์ พัวพงศกร
กำพล ปั้นตะกั่ว
หลังจากที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นำเสนอผลคำนวณการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวในงานสัมมนาเรื่องมหากาพย์จำนำข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริตฯว่ารัฐบาลจะขาดทุนอย่างน้อยปีละ 2 แสนล้านบาท รัฐมนตรีหลายท่านต่างออกมาปฏิเสธว่า โครงการรับจำนำไม่ได้ขาดทุนมากขนาดนั้น รัฐมนตรีพาณิชย์ นายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล ให้สัมภาษณ์ว่า การขาดทุนแบบสมเหตุสมผลจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นายยรรยง พวงราชให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าคิดอย่างโง่สุด ยอมขายราคาครึ่งเดียวของราคารับจำนำก็ยังขาดทุนไม่ถึง 2 แสนล้านบาท…. และที่ระบุว่ามีเงินรั่วไหล เงินถึงชาวนาเพียง 210,000 ล้านบาทนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะจ่ายโดยตรงเข้าบัญชีชาวนา”
ยิ่งกว่านั้นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ว่า “การขาดทุน 4.25 แสนล้านนั้น มองว่าเป็นการเข้าใจผิดของหม่อมอุ๋ย ยอมรับว่านักเศรษฐศาสตร์หลายท่านไม่ได้เรียนบัญชี อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการขาดทุนทางบัญชีและการขาดทุนจริงของโครงการ เมื่อนำข้อมูลออกมาเปิดเผย อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้”
บทความฉบับนี้ต้องการทำความกระจ่าง ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ มูลค่าการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว และประโยชน์ “ส่วนเพิ่ม”ที่ชาวนาได้รับจากการขายข้าวให้รัฐบาล บทความจะตอบคำถาม 3ข้อ คำถามแรก คือ ทำไมตัวเลขการขาดทุนของรัฐบาลจึงแตกต่างจากตัวเลขการขาดทุนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คำถามที่สอง คือ วิธีการคำนวนการขาดทุนทางบัญชีของโครงการจำนำข้าวควรยึดหลักการคำนวนอะไร คำถามที่สาม การขาดทุนจริงของโครงการจำนำข้าว “จะ” เป็นเท่าไหร่กันแน่
คำถามแรกเรื่องมูลค่าการขาดทุนที่ทั้งสองฝ่ายนำเสนอนั้น ต่างเป็นตัวเลขผลขาดทุน”ทางบัญชี”ทั้งสิ้น แต่สาเหตุที่ตัวเลขผลขาดทุนทางบัญชีของทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างกัน เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลตีมูลค่าของข้าวในสต๊อกด้วยต้นทุนข้าวที่ซื้อมา ในราคาข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาทหรือคิดเป็นข้าวสารตันละ 24,000 บาท ส่วน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ซึ่งอ้างอิงข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวใช้วิธีตีมูลค่าข้าวในสต๊อกด้วยราคาตลาด
คำถามที่สอง คือ โครงการจำนำข้าวควรยึดหลักการคำนวนวิธีใดหากย้อนกลับไปดูตำราวิชาการบัญชีว่าด้วยการตีมูลค่าสินค้าคงคลัง (inventory valuation methods) จะมีหลักการตีราคา 2 รูปแบบ คือ (1) คำนวนด้วยต้นทุนของสินค้า[1]หรือ (2) คำนวนด้วยราคาตลาดในการจัดหาสินค้านั้นมาทดแทน ทั้ง 2 วิธีต่างก็เป็นวิธีการที่ได้ยอมรับให้ใช้และมีสอนกันในวิชาการบัญชีทั่วไป
ฝั่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เลือกที่จะใช้วิธีการแรกในการตีมูลค่าข้าวที่เหลืออยู่ในคลังด้วยราคาต้นทุนที่ซื้อข้าวมา ผลการขาดทุนทางบัญชีจึงมีประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ และม.ร.ว.ปรีดิยาธรเลือกที่จะใช้วิธีการที่เรียกว่า LCM[2]หรือราคาตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่าของข้าวที่เหลืออยู่ในคลัง ผลขาดทุนจึงสูงกว่า
ประเด็นจึงมีอยู่ว่าในกรณีการจำนำข้าวรัฐบาลควรใช้วิธีทางบัญชีวิธีใดจึงจะเหมาะสม
ในวงการธุรกิจที่สินค้าคงคลังมีราคาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว นักบัญชีทราบดีว่าหลักวิชาการทางบัญชีที่นิยมใช้กันคือการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยราคาตลาด เพราะว่าการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยต้นทุนสินค้าที่ได้มาจะไม่สามารถแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาตลาดของสินค้านั้นๆ ตกต่ำลงกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อมาอย่างรวดเร็ว การใช้ราคาต้นทุนจะก่อให้เกิดการบิดเบือนสถานะทางบัญชี ขัดกับวัตถุประสงค์ของวิชาบัญชีที่มุ่งเน้นให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรับทราบสภาพการดำเนินงานทางธุรกิจที่แท้จริงเพื่อให้การตัดสินใจบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีการจำนำข้าว รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารของประเทศจำเป็นต้องรับทราบสถานการณ์รายได้-รายจ่ายที่เป็นจริงให้มากที่สุด หากตัวเลขระบุว่าจะมีโอกาสขาดทุนมาก รัฐบาลก็จะได้เตรียมรับมือกับความเสี่ยงทางการคลังไม่ใช่ปล่อยให้ไฟไหม้บ้าน แล้วค่อยคิดซื้อประกันไฟที่หลัง
นี่คือเหตุผลที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวเลือกใช้วิธีการ LCMโดยตีมูลค่าสต็อคข้าวด้วยราคาตลาดเพื่อสะท้อนฐานะที่แท้จริงของโครงการจำนำข้าว แม้ในตอนต้นรัฐบาลจะไม่ยอมรับตัวเลขขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯจนกลายเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้วแต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับว่าการจำนำข้าว2 ฤดูแรก (นาปี2554/55 และนาปรัง 2555) ขาดทุนถึง 136,896ล้านบาท มาวันนี้ราคาข้าวในตลาดลดลงไปมากจากวันที่ปิดบัญชี การขาดทุนก็ย่อมมากขึ้นเพราะรัฐบาลขายข้าวได้น้อยมาก
อนึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการทำบัญชีของธุรกิจเอกชนทั่วประเทศ และทราบดีถึงหลักบัญชีที่ถูกต้อง หรือแม้แต่องค์การคลังสินค้าที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์เองยังเลือกตีราคามูลค่าสต๊อคข้าวในโครงการจำนำข้าวด้วยราคาตลาด บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังดูแลก็มีบัญชีแบบ mark to the marketแต่รัฐบาลกลับปล่อยให้กระทรวงพาณิชย์ทำบัญชีอีกแบบหนึ่ง
การที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีตีมูลค่าข้าวด้วยต้นทุนการซื้อข้าว จึงเป็นการหลอกลวงตนเองและประชาชน ว่าจะมีภาระทางการคลังในอนาคตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
คำถามที่สาม การจำนำจะขาดทุนจริงเท่าไหร่ ณ วันนี้ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจน เพราะรัฐบาลปิดบังข้อมูลการขายข้าวทั้งๆที่การปกปิดดังกล่าวผิดกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลของทางราชการ (ยกเว้นข้อมูลบางประภท) แม้รัฐบาลจะมีการเปิดเผยตัวเลขเงินรายได้จากการขายข้าว แต่ก็ไม่ยอมบอกว่าขายข้าวไปจำนวนเท่าไร เพราะขืนเปิดเผย ประชาชนก็จะรู้ว่ารัฐบาลขายข้าวขาดทุนหนักกว่าที่รัฐบาลพูด และอาจหนักกว่าที่นักวิชาการประมาณการไว้ เพราะรัฐบาลขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดมาก ทำให้เกิดปัญหาการเมืองตามมา
หลักฐานที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลจะขาดทุนหนักมากเพราะขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาจากรายงานการปิดบัญชีของกระทรวงพาณิชย์ที่รมว.วราเทพนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ผู้เขียนพบว่าราคาข้าวที่ขายต่ำกว่าราคาตลาด คือราคาข้าวนาปี 2554/55 ที่ขายเฉลี่ย 14,435.71 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาขายส่งข้าวสารในตลาดกรุงเทพฯในเวลาเดียวกันที่เฉลี่ย 19,635 บาทต่อตัน เนื่องจากมีต้นทุนค่าซื้อข้าวและต้นทุนดำเนินการ 29,605.52 บาทต่อตันข้าวสาร จึงขาดทุนจริงตันละ 15,169.31 บาท และสำหรับข้าวนาปรังปี 2555 พาณิชย์ขายเฉลี่ยเพียง12,839.45 บาทต่อตัน เทียบกับราคาตลาด17,266 บาทต่อตัน และขาดทุนตันละ 11,781.61 บาท ถ้าคิดเฉพาะข้าวที่ขายไปจริงจำนวน 3.62 ล้านตันข้าวสารในสองฤดู มูลค่าการขาดทุนจริงคือ 49,561.10 ล้านบาท (ณ 31มกราคม 2556) ผู้เขียนประมาณการว่าเฉพาะการขายข้าวราคาต่ำให้พ่อค้าบางรายที่เป็นพรรคพวกทำให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก 30% ของภาระขาดทุนทั้งหมด…นี่แหละคือเหตุผลแท้จริงที่รัฐบาลต้องปกปิดข้อมูลการข่ายข้าว ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อความจริงถูกเปิดเผยเมื่อไร บรรดาข้าราชการที่มีส่วนในการขายข้าวและปกปิดข้อมูลเพื่อหวังลาภยศ มีหวังติดคุกกันหัวโต
บทความนี้ไม่ได้หวัง และ คิดว่าคงไม่มีความหวังที่จะให้รัฐมนตรีบางคนเข้าใจและยึดหลักบัญชีที่ถูกต้อง แต่หวังว่าประชาชนจะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และเลือกคนที่พูดความจริงมาบริหารประเทศ.
[1]วิธีนี้มี 3 รูปแบบย่อย คือสต๊อกที่นำเข้ามาก่อน จะถูกขายออกก่อน (first in-first out), สต๊อกที่เข้าก่อน ถูกขายที่หลัง(first in last out) และค่าเฉลี่ยของสองวิธีแรก
[2] LCM: Lower of cost or market เป็นวิธีการตีราคาสินค้าคงคลังด้วยการใช้ราคาตลาดในการจัดหาสินค้าชนิดเดียวกันมาทดแทน อ้างถึงใน Kimmel, Paul D., Weygandt, Jerry J., Kieso, Donald E. 1997. Financial Accounting: Tools for Business Decision Making. Wiley, John & Sons: