ห่วงจำนำข้าวรอบใหม่วิกฤติหนัก

ปี2013-10-02
Niphon
ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร

นักวิชาการ-ชาวนา ห่วงจำนำข้าวรอบใหม่ รัฐไปตายเอาดาบหน้า วงเงิน 2.7 แสนล้านยังไม่รู้เอาจากไหน ปัญหาใหญ่กระทรวงพาณิชย์ทวงเงินค่าขายข้าวจากบริษัทใกล้ชิดนักการเมืองยาก ล่าสุดกลุ่มชาวนาจำนำช่วงรอยต่อกว่าพันรายเดือดร้อนหนักยังไม่ได้เงิน ฟันธงลงทุนติดตั้งระบบไอทีแก้สวมสิทธิ์ยาก ผู้ส่งออกชี้นับวันยิ่งแข่งลำบากปี 57 อาการหนัก

กรณีรัฐบาลสั่งเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรอบใหม่ ปีการผลิต 2556/57 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน วงเงินรับจำนำทั้งรอบนาปีและนาปรังรวม 2.7 แสนล้านบาท เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็นที่ต้องจับตามอง ที่สำคัญอาทิ โครงการยังไม่มีความชัดเจนว่าวงเงิน 2.7 แสนล้านบาทที่จะใช้ในการรับจำนำจะเอามาจากไหน เพราะไม่ได้อยู่ในวงเงินงบประมาณประจำปี ห่วงว่าจะไปใช้วิธีบังคับให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้ โดยรัฐบาลค้ำประกันอีก ส่วนกรณีที่รัฐได้ลงทุนนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) มาใช้ในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันและตรวจสอบการทุจริตโครงการมองว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหา เพราะแม้จะสามารถตรวจสอบการขโมยข้าวได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการสวมสิทธิ์ข้าวได้ หากบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ก่อนเข้าเก็บในคลังปิดตาข้างหนึ่งก็จะไม่รู้ว่าข้าวนั้นมาจากไหน

นอกจากนี้ปัญหาใหญ่ของโครง การจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการระบาย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลขายข้าวไม่ออก เป็นขายแบบลับๆ ราคาถูกให้กับบริษัทนายหน้าที่พรรคพวกของนักการเมืองใหญ่ ซึ่งขายแล้วทวงเงินยากมากเพราะมีการเอาเงินไปหมุน ส่วนการขายข้าวให้หน่วยราชการด้วยกันก็ทวงเงินยาก เป็นเหตุให้การคืนเงินค่าขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีความล่าช้า ขณะที่การเปิดประมูลขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลแบบโปร่งใสให้กับเอกชนในหลายครั้งที่ผ่านมาก็ขายไม่ออก เพราะเป็นข้าวคละเกรดคุณภาพต่ำ หากขายแบบคัดเกรด เลือกโกดังได้คงขายได้มากกว่านี้

“จะสังเกตเห็นว่าจำนำข้าวรอบใหม่ส่วนหนึ่งรัฐจะจ่ายค่าสีแปรสภาพข้าวให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการเป็นข้าว รวมถึงการเปิดประมูลข้าวผ่านตลาดเอเฟท (ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า) ก็ต้องไปเอาเงินจากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาใช้เป็นค่าค้ำประกันและค่าธรรมเนียมในการนำข้าวมาซื้อขายผ่านเอเฟทแสดงว่ารัฐไม่มีเงิน”

ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ห่วงโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่รัฐจะไม่มีเงินจ่ายให้เกษตรกร หรือผู้ที่ได้รับใบประทวนแล้วอาจได้รับเงินล่าช้า เช่นช้า 1-2 เดือน ทำให้เกษตรกรที่ได้ไปกู้เงินนอกระบบมาซื้อปัจจัยการผลิต ไม่สามารถส่งเงินคืนเจ้าหนี้ได้ตามกำหนดทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่ม เห็นได้จากโครงการจำนำข้าวรอบนาปรังปี 2556 ที่สิ้นสุดไปเมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมาที่ช่วงรอยต่อกับรอบใหม่ (ช่วง 16-30 ก.ย.) รัฐบาลได้รับปากและตั้งความหวังให้กับเกษตรกรว่าจะพิจารณาให้ได้ในราคารับจำนำโดยให้โรงสีรับฝากเก็บข้าวและให้เจ้าหน้าที่ออกใบประทวนไปก่อน แต่ล่าสุดมีเกษตรกรภาคกลางกว่า 1 พันราย ยังไม่ได้รับเงิน โดยเจ้าหน้าที่ตามจุดรับจำนำระบุว่ารัฐบาลยังไม่โอนเงินมาให้

ส่วนนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวราคาสูงต่อเนื่องของรัฐบาลนับวันยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกข้าว เพราะข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง ขณะที่แนวโน้มปี 2557 ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงต่อเนื่องจากผลผลิตข้าวเกือบทุกภูมิภาคของโลกตามรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ไม่มีพื้นที่ใดเสียหายมากภาพรวมจะมีมากถึง 500 ล้านตันข้าวสาร จากปี 2556 ประมาณ 490 ล้านตัน

“ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าความ ชื้นไม่เกิน 15% ราคาตลาดของไทยเฉลี่ยที่ 8.5 พันบาทต่อตัน ของเวียดนามแค่ 6.5-7 พันบาท แต่ราคารับจำนำของรัฐบาลไทยสูงถึง 1.5 หมื่นบาทต่อตัน คิดดูเราจะไปแข่งอย่างไร”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ในชื่อ “ห่วงจำนำข้าวรอบใหม่วิกฤติหนัก เงินไม่มีจ่ายไปตายดาบหน้า/เครือข่ายการเมืองอู้ฟู่“