ภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซึมลึกจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เคยยืนยันมาตลอดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะฟื้นตัว ก็เริ่มไม่แน่ใจที่จะกล่าวเช่นนั้น หลังจากที่ตัวเลขดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภคในประเทศ เงินเฟ้อ การลงทุนขยายตัวในอัตราที่ลดลงทุกด้าน
ขณะนี้หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจทุกสำนัก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ว่าจะเติบโตต่ำกว่า 4% อย่างแน่นอน
การที่จีดีพีเติบโตลดลงจะยังไม่เห็นผลเสียในช่วงนี้ แต่อีกไม่กี่เดือนจะได้เห็นผลกระทบที่เป็นรูปธรรมแน่นอน โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน
ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าขณะนี้มีความเป็นห่วงสถานการณ์ปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะตัวเลขการว่างงานในเดือน ส.ค. ที่ออกมา โดยเฉพาะคนที่จบระดับปริญญาตรี มีการว่างงาน 1.44 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 2%
ในขณะที่แต่ละปีการว่างงานของคนที่จบปริญญาตรีจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 9 หมื่น-1 แสนคนเท่านั้น และยิ่งหากจีดีพีเติบโตไม่ถึง 4% ปัญหาการว่างงานจะต้องมากขึ้น
“ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถที่จะดูดซับเด็กที่จบปริญญาตรีที่ออกสู่ระบบแรงงานใหม่ รวมทั้งปัญหาสะสมคนที่ยังหางานทำไม่ได้ ยิ่งจะทำให้ปัญหาการว่างงานสะสมมากขึ้น ในขณะเดียวกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรก็ส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งที่เคลื่อนย้ายไปทำภาคเกษตรลดลง ยิ่งทำให้เกิดปัญหาการว่างงานมากขึ้นด้วย” นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอกล่าว
ความเป็นห่วงนี้ไม่เกินเลยจากความเป็นจริง เพราะหากพิจารณาตัวเลขการจ้างงานในเดือน ส.ค. ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเดือน ส.ค.มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.17 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.8% เทียบกับช่วงเดียวกับของปีที่แล้วที่มีผู้ว่างงาน 2.24 แสนคน หรือผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 9.3 หมื่นคน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจำนวนผู้มีงานทำเดือน ส.ค. ซึ่งมีจำนวน 38.95 ล้านคน พบว่าเป็นผู้ทำงานภาคเกษตรกรรม16.22 ล้านคน ลดลงจาก 16.46 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือลดลง 2.4 แสนคน และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 22.73 ล้านคน ลดลงจาก 23.08 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือลดลง 3.5 แสนคน
นอกจากนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรจะพบว่าสาขาการผลิตมีจำนวนผู้ทำงาน 5.55 ล้านคน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผู้ทำงาน 5.68 ล้านคนหรือลดลง 1.3 แสนคน แต่หากเทียบกับเดือน ก.ค. ที่มีผู้ทำงาน 5.8 ล้านคน เท่ากับว่าคนทำงานในสาขาการผลิตลดลง2.5 แสนคน
ขณะที่สาขาก่อสร้างมีผู้ทำงาน 2.08 ล้านคน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผู้ทำงาน 2.3 ล้านคน หรือลดลง 2.2 แสนคน แต่หากเทียบกับเดือน ก.ย. ที่มีผู้ทำงาน 2.29 ล้านคน จำนวนผู้ทำงานในสาขาก่อสร้างจะลดลง 2.1 แสนคน และสาขาการขายส่ง การขายปลีก มีผู้ทำงาน5.59 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.7 แสนคน
ส่วนผู้ทำงานในสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ และการบริหารราชการ การป้องกันประเทศอยู่ในภาวะทรงตัว
ผลสำรวจยังพบว่า ในเดือน ส.ค. มีแรงงานที่ทำงานเต็มที่ หรือทำงาน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป พบว่ามีจำนวน 32.71 ล้านคน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผู้ทำงานเต็มเวลา 32.83 ล้านคนหรือลดลง 1.2 แสนคน แต่หากเทียบกับเดือน ก.ค. ที่มีผู้มีงานทำเต็มที่ 33.17 ล้านคน เท่ากับคนมีงานทำเต็มที่ลดลง 4.6 แสนคน
ตัวเลขการว่างงานที่เริ่มสูงขึ้น และการปรับลดชั่วโมงการทำงานของแรงงานลง สะท้อนว่ากำลังการผลิตยังไม่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขการว่างงานจะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความต้องการแรงงานเพิ่มจากหลายธุรกิจ ซึ่งต้องการแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะด้าน เช่น ภาคการเงินที่หลายธนาคารเปิดรับพนักงานใหม่หลายพันคน ส่วนภาคแรงงานที่ขาดแคลนกลับเป็นภาคการก่อสร้าง ผลิตรถยนต์
เมื่อเศรษฐกิจยังย่ำอยู่กับที่ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายต้องเตรียมตัวรับมือปัญหาปากท้องที่จะมาถึงตัวได้ทุกเมื่อ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2556 ในชื่อ “พิษเศรษฐกิจทรุดเตะฝุ่นกระจาย”