วิกฤติงบฯ-เพดานเงินกู้ ระเบิดเวลาสหรัฐฯ-เศรษฐกิจโลก

ปี2013-10-03

ประเด็นร้อนฉบับนี้ข้ามทวีปไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผู้นำเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มฟื้นตัวแบบช้าๆ แต่ไม่มั่นคง ก็กลับมีปัญหาภายในบ้านตัวเอง

ทั้งนี้ เพราะวุฒิสภาสหรัฐฯ ไม่รับร่างงบประมาณใหม่ที่ชะลอการปฏิรูประบบประกันสุขภาพออกไป ทำให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องปิดทำการ ข้าราชการหลายแสนคนของรัฐบาลกลางจะต้องอยู่บ้าน และเจ้าหน้าที่อีกกว่าล้านคนจะต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่วัน รัฐบาลของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับศึกหนักในสภา เพราะต้องนำกฎหมายเพิ่มเพดานเงินกู้เข้าสภา หากมีปัญหาเหมือนงบประมาณรายจ่าย จะทำให้การใช้จ่ายเงินต่างๆ สะดุด ฉุดเศรษฐกิจที่กำลังคาบลูกคาบดอกให้จมปลัก ขณะที่พรรครีพับลิกันต้องการแลกเปลี่ยนกับการยอมให้มีการเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาล ก็คือรัฐบาลต้องยอมอ่อนข้อให้ในเรื่องกฎหมายประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบามา และกฎหมายเกี่ยวกับการเงินและสิ่งแวดล้อม

วันนี้เรามาฟังความเห็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จะมาบอกเล่าความเป็นไปเป็นมาและสิ่งที่จะเกิดผลกระทบต่อไปดังนี้

 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ปัญหางบประมาณรัฐบาลโอบามานั้นมีความเป็นมาอย่างไร
เนื่องจากว่าทางสหรัฐฯ เองมีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะสูงถึง 70% ของจีดีพี แล้วโอบามาเองก็ประสบผลสำเร็จในการผลักดันโครงการประกันสุขภาพให้กับคนอเมริกันทั้งประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องใช้เงินเยอะ ฉะนั้นก็เกิดความขัดแย้งระหว่างโอบามากับทางพรรครีพับลิกันโดยพรรครีพับลิกันไม่พอใจกับโครงการนี้ เพราะพรรคนี้เป็นพวกชนชั้นกลาง ซึ่งเขามีความรู้สึกว่า การช่วยเหลือทางด้านสวัสดิการสังคมนั้นนำเอาเงินจากคนชั้นกลางไปช่วยคนจนเพราะฉะนั้นในกรณีนี้จะผลักภาระให้มีหนี้สาธารณะ แต่ทีนี้เขากลัวว่าจะกลายเป็นปัญหาเหมือนยุโรป

ดังนี้เกิดความขัดแย้งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา งบประมาณไม่ผ่านสภาซึ่งทำให้เกิดปัญหาว่ารัฐบาลไม่มีเงินมาใช้จ่ายในระบบราชการ ซึ่งพูดง่ายๆว่าคนต้องว่างงานถึง 8 แสนคน โดยที่ทางพรรครีพับลิกันต้องการต่อรองว่าอนุญาตให้ผ่านได้ชั่วคราวถึง 15 ต.ค. แต่ว่าโอบามาจะต้องลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของโครงการประกันสุขภาพดังกล่าว เพราะโครงการนั้นมีผลต่อการใช้เงินมาก แต่ว่าทางโอบามาไม่ยอมเพราะโครงการนี้เป็นสิ่งที่เขาพยายามทำมาตลอด เป็นโครงการที่เคนาดีเคยทำแต่ไม่สำเร็จเมื่อเขาไม่ยอมในกรณีนี้เลยทำให้เกิดการสะดุดเพราะว่าไม่มีเงินแล้วที่จะมาใช้จ่ายเพราะงบประมาณไม่ได้รับการอนุมัติ

อันนี้จะเกี่ยวกับเพดานหนี้ เพราะวันที่ 17 ต.ค.นี้จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ พูดง่ายๆรัฐบาลเขาต้องการขยายเพดานนี้จาก 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะถ้าไม่ขยายเขาเองก็จะไม่มีเงินมาจ่าย เนื่องจากโครงการนี้ค่าใช้จ่ายเยอะ ทางพรรครีพับลิกันเลยถือโอกาสว่าเขาจะบีบตั้งแต่ตอนนี้ให้โอบามายอมว่าจะมีการลดค่าใช้จ่ายโครงการประกันสุขภาพ ถ้าโอบามายอมเขาจะอนุมัติให้มีการขยายเพดานหนี้ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการขยายเพดานหนี้ต้องตามมาด้วยการลดค่าใช้จ่ายโอบามาก็ไม่ยอมอีก

เพราะฉะนั้น ในกรณนี้ก็เท่ากับว่าเล่นสงครามกันอีกแล้ว ขนาดนี้ยังไม่มีอะไรหนักหนา แต่ว่าถ้าวันที่ 16 ต.ค. ตกลงกันไม่ได้จะเป็นเรื่องใหญ่เพราะถ้ารัฐบาลขยายเพดานไม่ได้ รัฐบาลจะไม่มีเงิน ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สุดท้ายจีดีพีอาจจะลดลง 1.4%และสิ่งที่จะกระทบตามมาคือพันธบัตรของสหรัฐฯจะสูงขึ้นทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบ

สิ่งที่จะกระทบต่อตลาดหุ้น ทองคำและราคาน้ำมันอย่างไร
ตลาดหุ้นนั้นได้รับผลกระทบแล้ว 3-4 วันที่ผ่านมาเพราะเขากลัวว่าโอบามากับพรรครีพับลิกันจะตกลงกันไม่ได้ ซึ่งก็ตกลงกันไม่ได้จริงๆ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยวันพุธได้ปรับตัวขึ้นเพราะว่าที่ผ่านมาขานรับข่าวไปแล้วพอข่าวร้ายนั้นยืนยันว่าตกลงกันไม่ได้ก็ปรับตัวขึ้น แต่เดี๋ยวก็กลับมาแปรผันอีกสถานการณ์แบบนี้ยังจะทำให้หุ้นตกต่อไปได้อีก

สำคัญคือวันที่ 16 ต.ค. ถ้าตกลงกันไม่ได้ จะตกลงไปอีก หรือว่ายังตกลงไม่ได้ ก็ยังจะผันผวนอยู่อย่างนี้

 

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ขอทราบปัญหาเรื่องงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลประธานาธิบดีบารักโอบามาแห่งพรรคเดโมแครตว่าเป็นมาอย่างไร
ปัญหามีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชแห่งพรรครีพับกัลที่พยายามจำกัดงบประมาณสมัยบุชมีการออกกฎหมายว่าจะมีการจำกัดวงเงินงบประมาณในอนาคต เพราะการปรับลดงบประมาณรายจ่ายนั้นไม่สามารถลดได้ทันทีทันใดต้องค่อยๆลด แต่ทีนี้พรรคเดโมแครตนั้นไม่อยากลดงบประมาณรายจ่าย แต่อยากจะใช้การขึ้นภาษีคนรวย ลดภาษีคนจนคนชั้นกลางแต่พรรครีพับลิกันไม่อยากให้ใช้จ่ายเยอะแล้วเก็บภาษีคนรวยน้อยๆ ภาษีโดยทั่วไปต่ำโดยเฉพาะคนรวย นี่คืจุดยืนของสองฝ่ายสภาคองเกรสนั้นตอนนี้ควบคุมโดยพรรครีพับลิกัน และตอนนี้มีปัญหาว่าจะมาตัดรายจ่ายขณะที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวแล้วกฎหมายบังคับเอาไว้ว่าจะตัดรายจ่ายนั้นมันยิ่งแย่ใหญ่ จึงมีการตกลงกัน แต่ระยะยาวต้องตัดรายจ่าย เพราะว่าเราใช้เงินเยอะๆในที่สุดมันต้องเก็บภาษี เงินเฟ้อจะสูงขึ้น อัตราการเจิรญเติบโตระยะยาวจะล่วงลงนี่คือปัญหา เขาก็เถียงกันในเรื่องนี้ว่าจะเอายังไง ปัญหานี้เป็นปัญหาทางการเมือง

อีก 2 สัปดาห์จะมีกฎหมายเพดานเงินกู้ให้เพิ่มขึ้นอีก จะมีปัญหาแบบนี้ไหม
ใช่ น่าจะมีปัญหานั้นด้วย นี่คือด้านรายจ่าย ถ้าจะเสนอเพดานเพื่อให้ใช้เงินมากขึ้น ส่วนจะผ่านสภาคองเกรสหรือไม่ ไม่แน่ เขาจะสู้กันต่อรองกันจนนาทีสุดท้าย แล้วทั้งนี้ทั้งนั้นสองฝ่ายจะไม่ทำให้ประเทศเขาเจ๊งเดี๋ยวก็ประนีประนอมกันได้ แต่ทีนี้ยังไม่รู้ว่าประนีประนอมกันยังไง อยู่ที่ว่าใครวาทศิลป์เก่งกว่ากัน ล็อบบี้กันหาเสียงกัน ไม่เหมือนบ้านเราที่ ส.ส. รัฐบาลจะไม่มีทางแตกแถวของเขา สามารถล็อบบี้ ส.ส. บางคนมาโหวตให้เขา แล้วมีข้อเสนอให้ว่าถ้าโหวต เขาจะทำอะไรให้บ้าง ในด้านกฎหมายมันจะอย่างนี้ จะต่อสู้กันในสภา ส่วนของบ้านเราคนละระบบ ของเราล็อบบี้ยาก เช่น แก้รัฐธรรมนูญยังตามมาโหวต ใครไม่มาสภาจะโดนพรรคเช็กบิล

เรื่องงบประมาณรายจ่ายหรือเพดานเงินกู้ของสหรัฐฯกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแน่
เรื่องนี้เรื่องใหญ่ กระทบเศรษฐกิจแน่ เพราะว่าเขาเป็นประเทศใหญ่ อย่างการลดภาษีให้คนรวย ซึ่งคนรวยเป็นเจ้าของธุรกิจเศรษฐกิจก็ดี คือแนวคิดของรีพับลิกันเป็นแบบนี้ เขาเชื่อว่ารัฐบาลไม่มีทางใช้จ่ายเงินไม่มีทางกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ต้องอาศัยบริษัทเอกชน เพราะฉะนั้นจะลดภาษีให้บริษัทเอกชน ส่วนพรรคเดโมแครต แนวคิดเขาอีกแบบหนึ่ง คือขึ้นภาษีคนรวยหรือบริษัทเอกชน แนวคิดคนละทฤษฎีกัน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ในชื่อ “วิกฤติงบฯ-เพดานเงินกู้ ระเบิดเวลาสหรัฐฯ-เศรษฐกิจโลก“