ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ซอฟต์แวร์ไทยปี 57 โตเหยียบ 4.4 หมื่นล้าน”

ปี2013-11-09

อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการประเทศไทย ออกอาการลุ่มๆ ดอนๆ มาตลาดหลายขวบปี ขณะเดียวกันทิศทางที่ส่อแววว่าจะดี ก็มักมีปัจจัยลบแทรกซ้อนอย่างภัยธรรมชาติ หรือภาวะเศรษฐกิจผันผวน ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจเตรียมรัดเข็มขัดเข้ามาส่งกระทบเป็นระยะ

ผลสำรวจล่าสุดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) ชี้ว่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ซึ่งผลิตในประเทศไทยปี 2557 มีแนวโน้มเติบโต 12.6% มูลค่าประมาณ 44,026 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2556 นี้จะมีมูลค่า 39,096 ล้านบาท เติบโต 22.2% ส่วนปี 2555 มูลค่า 31,979 ล้านบาท เติบโต 24%

เศรษฐกิจซบฉุดโต

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุหลักที่แนวโน้มปีหน้าเติบโตได้ไม่ดีเท่าก่อนหน้านี้ ทั้งผู้ประกอบการเองตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้เพียง 10% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวทำให้ซอฟต์แวร์ ซึ่งรองกับภาคการผลิตมีโอกาสชะลอตามไปด้วย

แต่ทั้งนี้ยังเป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้น ตัวเลขจะชัดเจนยิ่งขึ้นประมาณ 1-2 ไตรมาสข้างหน้า เพราะขณะนี้บางบริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนงาน บางรายเริ่มปีงบประมาณใหม่ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.

“ในภาพรวมพบว่าตลาดยังเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลักทุกปี แสดงให้เห็นว่าซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้โอกาสเพิ่มขึ้นและเกิดการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม”

เขากล่าวว่า แง่การส่งออกไทยยังมีไม่มากเช่นกัน การสำรวจปี 2555 พบว่า จากมูลค่าการผลิตรวมทั้งหมดในไทยมีสัดส่วนเพียง 2.6% หรือ มูลค่า 817 ล้านบาท โดยมาจากซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 242 ล้านบาท บริการซอฟต์แวร์ 575 ล้านบาท แต่เชื่อว่าแนวโน้มยังขยายตัว รับอานิสงส์ความต้องการของตลาดที่มากขึ้น:ขาดแคลนบุคลากร

นายสมเกียรติกล่าวถึงประเด็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยว่า หลักๆ คือ ขาดแคลนบุคลากร ที่ผ่านมาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของตลาด พนักงานรุ่นใหม่นิยมเปลี่ยนงานบ่อย ชอบประกอบอาชีพอิสระ ทำให้ขาดความต่อเนื่อง ต้องฝึกพนักงานใหม่เป็นประจำ และส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ บริษัทที่ตั้งอยู่นอกเมืองจึงมักหาบุคลากรได้ยาก

ข้อมูลระบุว่า จำนวนบุคลากรที่ต้องการเพิ่มในปีนี้มีจำนวน 8,136 คน เติบโต 21.7% จากปีก่อน ประเมินตามสัดส่วน 3 กลุ่มทักษะที่มีความต้องการเพิ่มสูงสุด คือ การออกแบบและโปรแกรมเมอร์ 34% ทดสอบคุณภาพ 16% รวบรวมและวิเคราะห์ 15% ตามลำดับ

“ตลาดเปลี่ยนเร็วมาก ปัญหาที่มีแม้ไม่ถึงขั้นเป็นวิกฤติ ทว่ามีส่วนสำคัญทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ ทั้งการเติบโตถูกจำกัด ทั้งๆ ที่มีความต้องการอยู่จำนวนมาก ซอฟต์แวร์เป็นเรื่องของคน หากพัฒนาส่วนนี้ให้ดีได้เชื่อว่าต่อไปตลาดจะเติบโตเพิ่มขึ้นแน่นอน”

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจเช่นเอสเอ็มอีขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง

หวังกสทช.เร่งประมูล4จี

ดังนั้น แนวทางสนับสนุนภาครัฐ เช่น ซิป้า เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ควรร่วมมือกับภาคการศึกษา สมาคมผู้ประกอบการที่เข้าใจตลาดเป็นอย่างดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาบุคลากร รวมถึงพัฒนาการตลาดเชิงรุก สนับสนุนทางการเงิน การจัดโรดโชว์เพื่อแสดงผลงาน ด้าน บิสสิเนสโมเดลที่มีโอกาสทำได้ทั้งด้านซอฟต์แวร์การวิเคราะห์ข้อมูลและเสริมการตลาด

เขากล่าวว่า สถานการณ์การพัฒนาด้านอินฟราสตรักเจอร์ของประเทศ มีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีก โดยเฉพาะกับเทคโนโลยี 4จี ที่เอื้อต่อตลาดโมบาย แอพ พลิเคชั่น เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรเร่งดำเนินการ

สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังเป็น กระแส คือ บิ๊กดาต้า การติดต่อสื่อสารกับลูกค้ารูปแบบหลายช่องทาง และที่เกี่ยวข้องโทรคมนาคม เช่น การจัดทำแพ็คเกจที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ธุรกิจ

โดยสรุป เชื่อว่าทิศทางตลาดพอมีช่องว่างให้สามารถเติบโตได้ต่อ แม้ช่วงหลังมานี้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ยังมีปัจจัยบวกจากการลงทุนของทั้งภาคเอกชน และภาครัฐที่หันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปเสริมศักยภาพการบริหารจัดการภายองค์กร และพัฒนาบริการ ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า นอกจากการผลิตเพื่อจำหน่าย ยังพบว่ามีพัฒนาเพื่อใช้ภายในองค์กร (in-house) เองด้วย

หวังใช้ซอฟต์แวร์ไทยเพิ่ม

นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า สัดส่วนการใช้ซอฟต์แวร์บริษัทสัญชาติไทยปัจจุบันยังน้อยมากอยู่ที่ราว 18% ซิป้าตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2559 จะทำให้สัดส่วนเปลี่ยนไปเป็น 25% การสำรวจดังกล่าวจัดทำระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค.2556 โดยการส่งแบบสอบถามรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรวม 1,054 บริษัท มีการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการรายใหญ่ การวิเคราะห์ประมวลผลและตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรม เป้าหมายสำคัญที่ทำให้มีการจัดทำขึ้นมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เนื่องจากหวังรวบข้อมูลที่ไม่ซ้ำซ้อน มีมาตรฐาน พร้อมร่วมส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมในภาพรวม

“ซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ทำอย่างไรให้โอกาสเพิ่มขึ้นและเติบโตเป็นรูปธรรม”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “ ‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ซอฟต์แวร์ไทยปี 57 โตเหยียบ 4.4 หมื่นล้าน”