ปี | 2013-11-25 |
---|
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เผย ตลาดซอฟแวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยปีนี้สดใส มูลค่าการผลิตในประเทศสูงถึง 39,096 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 22.2 คาดปีหน้าขยายตัวแบบสูสี ชี้การบริการในรูปแบบมัลติแชลแนลมาแรง พร้อมระบุการขาดแคลนบุคลากรคือตัวแปรหลักในอุตสาหกรรมนี้ แนะสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับการขยายตัวธุรกิจซอฟแวร์ไทย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI จับมือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เปิดเผยผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ซึ่งผลิตในประเทศไทยปี 2555/2556 โดยระบุว่า มีการเติบโตในภาวะที่ดีมีมูลค่าการผลิต 39,096 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 22.2 โดยจำแนกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 7,962 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 35.5 และบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 31,134 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 19.3
ขณะที่ภาพรวมของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในปี 2557 นั้น คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะมีมูลค่าประมาณ 44,026 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 12.6 ส่วนตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว(Embedded system software)ในปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 5,864 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตประมาณร้อยละ 20

นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า SIPA และ TDRI ได้ร่วมกันสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เป็นปีที่สอง โดยได้มีการปรับปรุงวิธีการศึกษา ขอบเขตการศึกษา และกรอบนิยามในตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รวมทั้งซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวให้มีความชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลการสำรวจที่น่าเชื่อถือ ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงได้มีการสำรวจบุคลากรด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ภายในองค์กร (In-House)ขึ้นเป็นปีแรก โดยในปัจจุบันสัดส่วนการใช้ซอฟต์แวร์ของไทยยังมีน้อยอยู่ที่ประมาณ 18 % แต่ทาง SIPA ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2559 อัตราการเติบโตในส่วนนี้จะพัฒนาไปถึง 25%
ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานTDRI คาดการณ์สัดส่วนการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟแวร์ในปี 2557 โดยระบุว่า จะเน้นที่ซอฟแวร์สำเร็จรูป ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น เนื่องจากมีการนำแอพลิเคชั่นเข้ามารวมด้วย ขณะที่สัดส่วนการเติบโตของตลาดในภาพรวมใกล้เคียงกับปี 2556 โดยประมาณการเบื้องต้นจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 10 % เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าค่อนข้างชะลอตัว เป็นเหตุให้ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามารองรับภาคบริการมีการชะลอตัวตามไปด้วย โดย TDRI จะมีการสำรวจอีกครั้งในอีก 1-2 ไตรมาส ซึ่งจะจำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบขนาดตลาดซอฟต์แวร์ไทยกับต่างประเทศยังไม่สามารถวัดได้ เนื่องจากตัวเลขแต่ละประเทศไม่นิ่ง อีกทั้งยังมีขนาดตลาดและมาตรฐานแตกต่างกัน ขณะเดียวกันวัตถุประสงค์หลักของการสำรวจในครั้งนี้ เป็นการสำรวจเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของคนไทยในประเทศ
สำหรับภาพรวมตัวเลขการส่งออกของไทยปี 2555 มีสัดส่วนไม่มากนัก โดยพบว่ามีมูลค่าการส่งออกรวม 817 ล้านบาท แบ่งเป็นบริการซอฟต์แวร์ 575 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในรูปแบบ SI Service ที่มีการขยายฐานในกลุ่มอาเซียน และซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 242 ล้านบาท โดยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกจากความต้องการของตลาดที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เทรนด์ที่มาแรงและกำลังเป็นที่นิยม คือบิ๊กดาต้า ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลในส่วนของการบริการในรูปแบบมัลติแชลแนลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินทางออนไลน์
ประธาน TDRI ยังกล่าวอีกว่า ตัวแปรหลักของปัญหาอุตสาหกรรมซอฟแวร์คือ การขาดแคลนบุคลากร ซึ่งในปีนี้มีจำนวนบุคลากรที่ต้องการเพิ่มขึ้นถึง 8,136 คน โดยกลุ่มทักษะที่มีความต้องการเพิ่มคือ การออกแบบและเขียนโปรแกรม (Object-Oriented Design and Programming) 34% ตรวจสอบคุณภาพของซอฟต์แวร์ (Software Quality and Testing) 16% และรับเรื่องและวิเคราะห์ (Requirement Gathering and Analysis) 15% ตามลำดับ โดยเห็นว่า สถาบันการศึกษาควรขยายหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากบริษัทต้องเสียเวลาในการฝึกอบรมพนักงานก่อนเริ่มงาน 6-12 เดือน จึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติงานจริงได้ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่นิยมเปลี่ยนงานบ่อยหรือประกอบอาชีพอิสระ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการสะสมความรู้และประสบการณ์ อีกทั้งบุคลากรมักกระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพ ส่งผลให้บริษัทที่ต้องอยู่นอกเมืองหาบุคลากรได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ประธาน TDRI เชื่อว่าเส้นทางการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยยังคงเป็นไปอย่างสดใส โดยได้รับอิทธิพลมาจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาคเอกชนและภาครัฐมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับการแนวคิดของผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทย ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น