ทีดีอาร์ไอเชิญรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีร่วมวิพากษ์ โมเดลใหม่การพัฒนาประเทศ

ปี2013-11-13

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอเปิดเผยว่า ในการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ของทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “โมเดลใหม่ในการพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ(New Development Model: Towards Quality Growth Based on Productivity Improvement)”ในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์เซ็นทรัลเวิลด์ตั้งแต่เวลา 8.00 ถึง 16.30 น.โดยคณะวิจัยจากทีดีอาร์ไอจะร่วมกันนำเสนอผลการศึกษาสาระสำคัญของ “โมเดลใหม่ในการพัฒนา” 4 บทความ  คือ 1) โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ 2) การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิต 3) การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ  และ 4) บทบาทของภาครัฐในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลังโดยในการแต่ละประเด็นมีเนื้อหาสำคัญประกอบด้วย

โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ (Features and Paths Towards a New Development Model)  นำเสนอโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและสังคมไทยในด้านต่างๆ เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว  สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต เกษตร และบริการในผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) สัดส่วนของการส่งออกต่อความต้องการในประเทศ ระดับค่าจ้างแรงงาน ผลิตภาพแรงงาน ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ระดับการกระจายรายได้ เป็นต้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก โครงสร้างประชากรไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ    บทความนี้ยังจะกล่าวถึงแนวทางในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากปัจจุบันไปสู่โครงสร้างใหม่ตามภาพสถานการณ์ต่างๆ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ในการพัฒนาของประเทศอื่นๆ ที่สามารถหลุดพ้นจาก “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง”

การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิต (Strategies to Create Innovation and Technology Development)เป็นหัวใจของการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ของภาคการผลิต  เรียนรู้ประสบการณ์ของภาคธุรกิจไทยในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีโดยสังเคราะห์จากกรณีศึกษาของธุรกิจไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตและบริการ และข้อเสนอทางนโยบายต่อรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิตไทยมากขึ้น

การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ (Human Capital Development for Better Productivity)การนำเสนอแนวทางการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศไทยให้สอดคล้องกับการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skill) การปฏิรูประบบการทดสอบ การประเมินผลสถานศึกษา และการปรับระบบการเงินของการศึกษาให้เกิดความรับผิดชอบ (accountability)  เพื่อที่จะสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิต แรงงานไทยจำเป็นต้องยกระดับผลิตภาพของตน ทั้งโดยกระบวนการศึกษาในระบบ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการฝึกอบรมทักษะหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว

บทบาทของภาครัฐในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลัง (The Roles of the Government in Allocating Financial Resources)การเสนอผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งการจัด สรรเงินทุนผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และการดำเนินนโยบายการคลัง การจัดสรรทรัพยากรที่ดีจะช่วยสร้างผลิตภาพของภาคการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น หากประเทศมีฐานะทางการคลังที่เข้มแข็ง มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีสวัสดิการสังคมและทุนมนุษย์ที่เหมาะสม ก็จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว   ในทางตรงกันข้าม หากรัฐใช้จ่ายงบประมาณสูงในลักษณะ “ประชานิยม” ซึ่งเน้นผลกระทบระยะสั้น โดยไม่สร้างความเข้มแข็งของธุรกิจและประชาชนในระยะยาว หรือใช้ธนาคารของรัฐจัดสรรเงินทุนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศก็จะไม่สามารถยกระดับผลิตภาพ มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวในระดับต่ำ

และในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีเข้าร่วมอภิปราย ดังนี้ ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ม.ร.ว.ปรีดิยากร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรี  ร่วมด้วย ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ  คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศอธิบการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และคุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร   รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องราว 800 คนเข้าร่วมงาน

ทีดีอาร์ไอเชิญชวนผู้สนใจและประชาชนติดตามการเสนอผลงานศึกษาแบบเต็ม ๆ ได้ผ่านการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์  www.tdri.or.th และร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/tdri.thailand