นักวิชาการแนะตั้งพีบีโอคุมวินัยการคลัง

ปี2013-11-25

นายศาสตรา สุดสวาสดิ์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 เรื่อง บทบาทของภาครัฐในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินการคลัง ว่ารัฐบาลควรจัดตั้งองค์กรเฝ้าระวังทางการคลังอิสระ (พีบีโอ) เหมือนกับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อแก้ปัญหาการใช้งบประมาณของภาครัฐให้ยั่งยืน โดยพีบีโอนี้จะทำงานอิสระจากฝ่ายบริหาร เป็นกลางทางการเมือง ตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐ และวางนโยบายทางการคลังในอนาคต เพื่อให้รัฐสภาและประชาชนตรวจสอบการใชัเงินของรัฐบาลได้ และสร้างฐานะทางการคลังของประเทศให้ดีขึ้น ไม่ต้องขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องเหมือนปัจจุบัน

นายภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ขณะที่หนี้สาธารณะไม่ได้ลดลง แต่ที่ลดคือรายจ่ายการลงทุน ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังไม่ได้สนใจที่จะดำเนินนโยบายเพื่อรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง เห็นได้จากมีการกู้เงินนอกงบประมาณหลายโครงการ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจัดสรรทรัพยากรทั้งด้านการคลังและกึ่งการคลังของรัฐ เป็นเพียงการหวังผลในระยะสั้นมากกว่าสร้างการเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะการส่งเสริมสินเชื่อเอสเอ็มอีผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่ไม่บรรลุเป้าหมาย และยังสร้างภาระการคลังสูงจากหนี้เสีย รวมถึงไม่มีกลไกติดตามและตรวจสอบ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวว่า การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ขึ้นอยู่ที่จริยธรรรมของผู้บริหารการคลัง ในการใช้งบประมาณที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจหรือไม่ หากไม่คิดก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ โดยเฉพาะโครงการประชานิยม เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนปีละกว่า 200,000 ล้านบาทนั้น ควรจะยกเลิก ขณะที่ โครงการพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ 1-1.5 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 500,000 แสนล้านบาท ควรจะศึกษารถไฟความเร็วสูง ทั้งสายกรุงเทพฯ- เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน น่าจะศึกษาเพิ่มเติมเพราะไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “แนะตั้งพีบีโอคุมวินัยการคลัง”