“โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” แนะรัฐก้าวข้าม “ประชานิยม” ชี้ถ่วงเศรษฐกิจ-บิดเบือนตลาด

ปี2013-11-25

“โฆสิต” แนะไทยเร่งพัฒนาโมเดล ศก. ใหม่ ก้าวข้ามการใช้ “ประชานิยม-สินเชื่อ” กระตุ้นเศรษฐกิจ เหตุได้ผลแค่ระยะสั้น ถ่วงการเติบโตระยะยาว “ณรงค์ชัย” เตือน กลไกตลาดบิดเบือน กรณีข้าวไทยจากคุณภาพดีกลายเป็นแย่ “ปรีดิยาธร” ระบุโครงการรัฐกดเศรษฐกิจตกต่ำ กรณี “รถยนต์คันแรก” ดีแค่ปีแรก ส่วน 2 ล้านล้านบาท มีคุ้มค่าแค่ 1.5 ล้านล้านบาท

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเปิดสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 “โมเดลใหม่ในการพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยการเพิ่มผลิตภาพ” ซึ่งจัดโดยทีดีอาร์ไอ ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาโมเดลการพัฒนาใหม่ ที่จะช่วยให้มีการเติบโตแบบมีพลวัต เพื่อยกระดับเศรษฐกิจให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง หรือ middle-income trap พร้อมทั้งต้องเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการประชานิยม และการใช้สินเชื่อเป็นตัวกระตุ้นในการขยายตัว

“ประสบการณ์การพัฒนาประเทศอื่นๆ ทั่วโลกสะท้อนให้เห็นว่า วิธีการรักษาหรือเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยแนวทางประชานิยมและการใช้สินเชื่อเป็นตัวขับเคลื่อนหลักนั้น ให้ผลเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น เพราะผลจากการเร่งความเจริญด้วยแนวทางดังกล่าว จะกลายเป็นแรงต้านไม่ให้ประเทศขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ตามศักยภาพในระยะยาว ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ นอกจากจะเห็นได้จากข้อมูลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ยังเห็นได้จากกรณีของเศรษฐกิจไทยเองที่ปี 2556 มีการชะลอตัวลงชัดเจน”

ประเทศไทย นอกจากต้องหลีกเลี่ยงนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เร่งการเติบโตผ่านแนวทางประชานิยม และการขยายตัวของสินเชื่อแล้ว ไทยยังจำเป็นต้องมีโมเดลการพัฒนาในทิศทางที่หลายประเทศ อย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือ อิสราเอล สามารถใช้จนประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนมาแล้ว ซึ่งก็คือ โมเดลการพัฒนาที่อาศัยฐานจากความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นหลัก

ไทยล้าหลังด้านศึกษา-เทคโนโลยี

นายโฆสิตกล่าวว่า ถ้าดูการจัดอันดับการแข่งขันของ World Economic Forum ล่าสุดของปีนี้ พบว่า ความสามารถการแข่งขันของไทยอยู่อันดับที่ 37 จาก 148 ประเทศ แต่เมื่อมองลึกในรายละเอียดของปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขัน จะเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ลำดับที่ 47 แต่ด้านประสิทธิภาพของการศึกษา และการฝึกอบรมอยู่ที่ 66 ขณะที่ด้านเทคโนโลยีอยู่ลำดับค่อนข้างล้าหลัง คือ ที่ 78

“ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า โครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลักสำหรับประเทศไทยในเรื่องความสามารถในการแข่งขันในอนาคต แต่ปัญหาหลักของไทยในปัจจุบัน คือ ประเด็นที่ประเทศไทยมีความล้าหลังในระดับโลกอย่างชัดเจน ในด้านการศึกษาและด้านเทคโนโลยี”

โมเดลการพัฒนาใหม่ที่ ทีดีอาร์ไอ ขอนำเสนอเพื่อพิจารณาในการสัมมนาครั้งนี้ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย 2.การสร้างความสมดุลระหว่างตลาดส่งออกในระดับโลก การลงทุนของไทยในระดับภูมิภาค และการสร้างกำลังซื้อในประเทศ และ 3.การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและกระบวนการปรับค่าตอบแทนแรงงานทั้งในด้านค่าจ้าง สวัสดิการและการประกันสังคมให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

“ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และจากการที่ระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ของโลกในระยะต่อไปมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำกว่าที่เคยเป็นในอดีต ประกอบกับสภาพการแข่งขันซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องเร่งพิจารณาหาแนวทางปรับตัวร่วมกันของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจก้าวไปสู่การขับเคลื่อนอย่างมีคุณภาพ จึงขอเสนอว่า การเพิ่มผลิตภาพควรจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก เพราะรองรับเศรษฐกิจในระยะยาว”

“ทนง” ชี้ประชานิยมทำ ปชช. ติดกับดักรายได้ต่ำ

ด้าน นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลใช้อยู่ขณะนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทย ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง เพราะการที่รัฐบาลเอาเงินมาแจกประชาชน แม้จะช่วยเพิ่มการบริโภคขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ได้ช่วยประชาชนมีความสามารถในการหารายได้เพิ่มเติม ในที่สุดประชาชนเองก็จะมองว่า สิ่งที่เขาทำถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะหากไม่พอ เดี๋ยวรัฐบาลก็เข้ามาช่วย จึงทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องกับดักรายได้ที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้น

“กับดักรายได้มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมาก เพราะเราเป็นประเทศที่การว่างงานต่ำมาก แค่ 1% ปรากฏการณ์นี้ บ่งบอกว่าแม้ใช้คนทั้งประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยกลับโตได้เพียง 3-4% ทำให้ประเทศไม่สามารถขยายตัวโดยการเพิ่มการลงทุนได้ ส่วนต่างชาติเองก็เริ่มมองว่าไทยมีต้นทุนการผลิตสูง ค่าแรงสูงกว่าประเทศอื่นๆ เขาจึงเลือกที่จะย้ายฐานไปยังประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าแทน”

“ภาพรวมผมไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่มองว่า แต่ละโครงการควรดูภาระหนี้ระยะยาวให้ชัดเจน แม้จะอธิบายว่าระยะยาวไม่เกิน 50% แต่ผมเชื่อว่าด้วยการเติบโตเศรษฐกิจในปัจจุบัน เชื่อว่าโครงการอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ใส่เข้ามาอีกเยอะ ทำให้ระดับหนี้คงเกิน 50% อย่างแน่นอน” นายทนงกล่าว

ส่วนการเมืองขณะนี้น่าเป็นห่วง เพียงแต่ถ้ายังอภิปรายกันบนวิถีทางของประชาธิปไตย เชื่อภาคการท่องเที่ยวคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ณรงค์ชัยจวกบิดเบือนกลไกตลาด

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า นโยบายประชานิยมเป็นเรื่องของการบิดเบือนกลไกราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งมีการบิดเบือนค่อนข้างแรง ซึ่งโครงการจำนำข้าวถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสุด เพราะก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพข้าวที่ดี เป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่ระยะหลังคุณภาพข้าวไทยลดลงมาต่อเนื่อง

เขากล่าวว่า ความจริงแล้วเศรษฐกิจไทย ควรดำเนินนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพ 3 แนวทาง คือ 1.ทำให้เขาแข่งขันกันมากขึ้น แต่ต้องเป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่เข้าไปควบคุมกลไกราคา เพราะการคุมราคาจะทำให้คุณภาพสินค้าลดลง 2.สนับสนุนการลงทุน เพื่อให้สังคมเก่งขึ้น มีความรู้ในการค้าขายมากขึ้น ที่ผ่านมาแม้เราจะลงทุนไปพอสมควร แต่เมื่อวัดคุณภาพการผลิตแล้ว กลับดีขึ้นแค่เล็กน้อยจึงยังเรียกว่าไม่ประสบความสำเร็จ และสุดท้าย คือเรื่องนวัตกรรม ควรมีทฤษฎีธุรกิจสมัยใหม่ เน้นดีไซน์ และมาร์เก็ตติ้ง

“สมชัย” หวังใช้ประชานิยมลงรากหญ้า

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า นโยบายประชานิยม เป็นนโยบายที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถชนะการเลือกตั้งได้ ดังนั้นพรรคการเมืองจึงยังคงใช้นโยบายเหล่านี้ไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เราหวัง คือ หากมีบางคนทำให้ประชานิยมเปลี่ยนรูปแบบไป โดยให้ผลประโยชน์ไปตกกับประชาชนในระดับรากหญ้าจริงๆ ก็น่าจะพอเป็นประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจอยู่บ้าง

“โครงการประชานิยมในช่วงหลัง ผลประโยชน์ไปตกกับประชาชนระดับรากหญ้าจริงๆ น้อย ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรก หรือบ้านหลังแรก รวมไปถึงโครงการรับจำนำข้าว ดังนั้นเรื่องพวกนี้ต้องให้ภาคประชาชนระดับรากหญ้าตื่นตัวมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องตามดูด้วยว่า หากเราทำโครงการเหล่านี้แล้ว มีเงินเหลือพอหรือไม่ ซึ่งก็คือในเรื่องวินัยการคลัง พวกนี้ต้องทำควบคู่กันไปไม่ใช่จ่ายเงินอย่างเดียว” นายสมชัยกล่าว

โครงการลงทุนของรัฐมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ทีดีอาร์ไอยังมีคำถามว่า จะทำให้รัฐบาลมีกำไรในอนาคตได้จริงหรือไม่ เพราะแม้รัฐบาลจะระบุถึงผลการศึกษาว่าสามารถทำกำไรได้ แต่ไม่ยอมเปิดเผยแหล่งที่มาของผลการศึกษา ในขณะที่วงเงินใช้สูงถึง 2 ล้านล้านบาท

ชี้โครงการรัฐไม่ช่วยกระตุ้น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากรัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยม โดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า อาจทำให้ฐานะการคลังเสื่อม ที่ผ่านมา รายจ่ายบางอย่างของรัฐบาล แม้เพิ่มขึ้น แต่กลับทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง เช่น กรณีโครงการรถยนต์คันแรก แม้ปีแรกของการใช้นโยบายนี้ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น แต่ปีถัดๆ ไป กลับทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงมาก

“ของพวกนี้ คนเป็นรัฐมนตรีคลังต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่ตั้งงบประมาณรายจ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ เพราะรายจ่ายบางอย่างทำให้เศรษฐกิจหดตัวในปีต่อๆ ไปได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ส่วนการลงทุนโครงการมูลค่า 2 ล้านล้านบาท เขากล่าวว่า ในจำนวนนี้ 1.5 ล้านล้านบาท เชื่อเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทย เช่น โครงการรถไฟรางคู่ รวมถึงโครงการท่าเรือน้ำลึก ตลอดจนรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยอง และกรุงเทพ-โคราช ขณะที่อีก 5 แสนล้านบาท ยังชัดเจนเรื่องความคุ้มค่า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน

“ไม่ใช่ว่าแค่ลงทุนแล้วจะทำให้จีดีพีเติบโตได้ แต่ความคุ้มค่าต่างหากที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวเป็นบวก”

ป้องคอร์รัปชันเน้นเข้ม 3 แนวทาง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้ต้องรอการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะพิจารณาอย่างไร

“หากโครงการ 2 ล้านล้านบาทเกิดอุบัติเหตุ โครงการต่างๆ ต้องเดินหน้าต่อไป แต่ต้องให้กระทรวงการคลังดูว่า จะหาเงินที่ไหนมาลงทุน หลายๆ โครงการ ตั้งมาหลายยุค แต่หาเงินมาลงทุนไม่ได้ จึงเสียโอกาส เช่น สร้างรถไฟรางคู่ สมัยก่อนใช้งบ 8 หมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้ใช้งบถึง 4 แสนล้านบาท”

เรื่องความกังวลทุจริตคอร์รัปชันโครงการ 2 ล้านล้านบาท และโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ต้องป้องกันเข้มงวด 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. ราคากลาง ต้องสะท้อนความจริง 2.คุณภาพงานต้องดี 3.มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ที่สำคัญต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบทุกขั้นตอน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “จี้รัฐก้าวข้าม ‘ประชานิยม’ ชี้ถ่วง ศก.-บิดเบือนตลาด”