“เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” เตือนรัฐบาลคุมความเสี่ยงแบงก์รัฐ-แนะโอนให้ ธปท. กำกับเงินกู้

ปี2013-11-25

‘ทีดีอาร์ไอ’ ชำแหละแบงก์รัฐ จวกสร้างภาระบาน ไม่คุ้มหนี้ เผย ‘เอสเอ็มอีแบงก์’ นำโด่ง รัฐแบกต้นทุนสูงสุด 2.2 หมื่นล้าน แนะโอนให้ ธปท. กำกับ เสนอคุมเพดานปล่อยกู้เอสเอ็มอี ประเมินความคุ้มค่าทุกโครงการ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ บทบาทของภาครัฐในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลัง งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ของทีดีอาร์ไอ ว่ามาตรการกึ่งการคลังในการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ปัจจุบันช่องว่างการเข้าถึงเงินทุนของเอสเอ็มอีไทยยังอยู่ในวงจำกัด บทบาทของภาครัฐผ่านธนาคารเฉพาะกิจ ยังไม่สามารถลดช่องว่างลงได้

“การเติบโตทางสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่สินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกค้าเอสเอ็มอีมีวงเงินเฉลี่ยต่อราย 3 ล้านบาท มากกว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่วงเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อราย แสดงว่าไม่ได้ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีที่แท้จริง และเป็นการปล่อยสินเชื่อโดยไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน” นาง เดือนเด่นกล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังไม่มีกลไกติดตามตรวจสอบและไม่มีทิศทางที่ชัดเจน เพราะขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุค

นางเดือนเด่นกล่าวว่า ขณะที่ต้นทุนของภาครัฐที่รับภาระจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สูงสุดคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ที่ต้นทุนของภาครัฐจะอยู่ที่ 2.24 หมื่นล้านบาทต่อหนี้เสียที่มีอยู่สูงถึง 31% จากสินเชื่อที่มีราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสถาบันเฉพาะกิจที่มีหนี้สูงมากและมีสำรองหนี้ต่ำ ทำให้มีภาระทางการคลังสูงถึง 3.2 แสนล้านบาท ส่วนความคุ้มค่าต่อภาครัฐที่วัดจากการประเมินเคพีไอรัฐวิสาหกิจพบว่ามีเพียง 20% เท่านั้น

“ข้อเสนอแนะคือ ต้องลดวงเงินกู้สูงสุดต่อของเอสเอ็มอีแบงก์ลงเหลือ 3 ล้านบาท เท่ากับสถาบันการเงินเฉพาะกิจเรื่องเอสเอ็มอีของประเทศอื่น เพราะปัจจุบันวงเงินกู้สูงสุดของเอสเอ็มอีแบงก์อยู่ที่ 100 ล้านบาท และห้ามแตกวงสินเชื่อด้วย รวมทั้งต้องกำหนดเป้าหมายของเอสเอ็มอีตามรายได้ให้ชัดเจน” นางเดือนเด่นกล่าว

ทั้งนี้ เสนอให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อลดต้นทุนทางการคลัง และคำนวณภาระทางการคลังของสินเชื่อทุกโครงการ ระดมเงินทุนร่วมกับธนาคารพาณิชย์ มากกว่าพึ่งพาสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วยกันเอง ตลอดจนต้องประเมินความเสี่ยง เน้นการเข้าถึงเงินทุนของเอสเอ็มอีและความคุ้มค่าของโครงการทั้งหมด รวมทั้งปล่อยสินเชื่อตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยรวม ไม่ใช่เพียงโครงการใดโครงการหนึ่ง

นายภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้จ่ายและการจัดเก็บภาษีของภาคการคลังเดินไปในแนวทางที่บิดเบือนพฤติกรรม เช่น การอุดหนุนการบริโภค อาทิ นโยบายแจกเช็คช่วยชาติ การแทรกแซงราคาสินค้า ซึ่งประเทศไทยมีระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อรายจ่ายประจำของรัฐบาลลดลงต่อเนื่องเช่นกัน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “เตือน รบ. คุมความเสี่ยงแบงก์รัฐสร้างภาระงบอ่วม-ไม่คุ้มหนี้ แนะโอนให้ ธปท. กำกับเงินกู้”