นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากนโยบายภาคการคลัง จะพบว่ารัฐบาลมีการเก็บภาษีของคนมีรายได้น้อยมากกว่าคนที่มีรายได้สูงหรือคนรวย นอกจากนี้ยังพบว่ารัฐบาลใช้เงินภาษีไปให้กับคนรวยมากกว่าช่วยเหลือคนจน
ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอเสนอว่ารัฐบาลไทยต้องทำการปฏิรูปการคลังเพื่อสังคมและลดความเหลื่อมล้ำ โดยต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ดีว่าใครคือคนจน ซึ่งพบว่านโยบายประชานิยมไม่ได้แก้โจทย์ จึงต้องทบทวน
นายสมชัยกล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล หากคิดว่ามีผลขาดทุนปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่ามีเม็ดเงินเพียง 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้นที่ตกอยู่ในมือของชาวนาที่ยากจน ส่วนเงินที่เหลืออีก 1.2 แสนล้านบาท กลับตกอยู่กับชาวนาที่มีฐานะดี ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ส่งออกบางราย นักการเมือง ข้าราชการ และชาวนาต่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยจึงไม่ลดลง
นายสมชัยกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้มีช่องว่างของคนด้อยโอกาสสูงขึ้น ทั้งในวัยเด็ก คนทำงาน และคนแก่ จำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลเพียงพอจากรัฐบาล เช่น ในส่วนของเด็กเล็ก พบว่ามีเด็กเพียง 1 ล้านคน จากทั้งหมด 5 ล้านคน ที่ได้เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขณะที่คนทำงานส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมถึง 70% ของแรงงานทั้งหมด แม้ว่าจะมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ตามมาตรา 40 แต่ก็ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนคนชราก็พบว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล
นายสมชัยกล่าวว่า จากการประเมินของทีดีอาร์ไอ หากรัฐบาลจะจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม จะใช้เงิน 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลยกเลิกโครงการจำนำข้าวเพียงอย่างเดียว ก็สามารถนำเงินมาช่วยคนจนทั้งประเทศให้มีสวัสดิการได้อย่างเพียงพอ
นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า จากที่รัฐบาลนำนโยบายประชานิยมมาใช้ ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเพิ่มรายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการทำให้ประเทศไม่มีการพัฒนาต่อไปได้ หรือเรียกว่าเป็นกับดักรายได้ของประเทศ เห็นได้จากอัตราการว่างงานที่ต่ำอยู่เพียง 1% แต่แม้จะมีการจ้างงานเกือบหมด แต่ผลผลิตยังคงเติบโตได้ 3-4% ต่อเดือน ซึ่งทำให้ประเทศไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้ หรือเพิ่มการลงทุนได้อีก
นายทนงกล่าวอีกว่า เมื่อประเทศมีการออกนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรง ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมองว่าไทยมีต้นทุนด้านค่าแรงสูงกว่าประเทศอื่นจึงมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า โดยขณะนี้จะเห็นได้ว่าการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในไทยมีจำนวนน้อยลง แต่กลับมีการเข้าไปขยายการลงทุนในเวียดนามและอินโดนีเซียมากขึ้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่หลงผิดและไม่มีความคุ้มค่า ส่งผลกระทบทำให้ฐานะการเงินการคลังมีความสุ่มเสี่ยง และทำให้เศรษฐกิจเติบโตลดลง เห็นได้ชัดจากโครงการรถคันแรก ซึ่งเป็นโครงการที่บ้องตื้น กระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ช่วงแรกเท่านั้น
ขณะที่โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่เลวสุดขั้ว ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท หากยังทำต่อไปก็ยิ่งจะกระทบกับฐานะการคลัง จึงขึ้นอยู่กับจริยธรรมของผู้บริหารการคลังด้วยว่าจะใช้จ่ายอย่างไรให้คุ้มค่า
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “สับนโยบายการคลัง ทีดีอาร์ไอถล่มเอื้อประโยชน์ให้แต่คนรวย ‘ทนง’ สุดทน เฉ่งนักลงทุนเริ่มหนีไทย”