ผ่าทางตัน…ประเทศไทย ก้าวข้ามประชานิยมสู่การเติบโตยั่งยืน

ปี2013-11-25

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งปัญหาการเมืองและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2556 จาก 3.8-4.3% ลงมา อยู่ที่ 3% เพราะคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะขยายตัวเพียง 1% ประกอบกับการส่งออกทั้งปีจะไม่โตมากกว่าปีที่แล้ว คืออยู่ที่ 0%

วันเดียวกันนั้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ในหัวข้อ โมเดลใหม่ในการพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ เรียกว่าเป็นการระดมสมองเสนอทางออกเมื่อการพัฒนาประเทศในแบบเดิมกำลังมาถึงทางตันของกูรูระดับประเทศ

“ทีดีอาร์ไอ” เสนอก้าวข้ามประชานิยม

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยประสบความสำเร็จจากการใช้โมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ และนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้พัฒนาความรู้ตัวเอง พร้อมอาศัยภาคส่งออกโดยเน้นจ้างงานราคาถูก ซึ่งไม่ได้สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทาง สังคม และติดกับดักประเทศรายได้ระดับกลาง

ขณะที่นโยบายกระจายรายได้เน้นนโยบายประชานิยมของ รัฐบาล การใช้สินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวจะเสี่ยงต่อฐานะการคลัง เป็นแรงต้านการเติบโตของประเทศ เนื่องจากทำให้ประชาชนมีหนี้สินสูงขึ้น ฉุดรั้งการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นตั้งแต่ช่วง ต้นปี 2556 ที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากการบริโภคที่หดตัวลง

โมเดลใหม่การพัฒนาใหม่ที่ทีดีอาร์ไอเสนอ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.สร้างขีดความสามารถการแข่งขันของ ผู้ประกอบการไทย 2.การสร้างความสมดุลระหว่างตลาดส่งออก ในระดับโลก การลงทุนไทยในระดับภูมิภาค สร้างกำลังซื้อในประเทศ 3.เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ปรับค่าตอบแทนทั้งค่าจ้าง สวัสดิการ และประกันสังคม ควบคู่ไปกับรักษาสิ่งแวดล้อม

“อัมมาร” โอกาสขยายตัว ศก.ถึงทางตัน

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หากอนาคตเศรษฐกิจไทยไม่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มแรงงานฝีมือ โอกาสการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ทางตัน และเติบโตระดับต่ำที่ 4-5% ไปเรื่อย ๆ ถึงเวลาที่ไทยต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ ไม่ใช่การพัฒนารูปแบบเดิมที่อาศัยแรงงานราคาถูก และเคลื่อนย้ายคนจากภาคเกษตรมาที่ภาคอุตสาหกรรม แต่จากนี้ต้องขายปัญญาที่บรรจุเข้าไปในหมวดสินค้า อุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ นับจากนี้จึงต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน พัฒนาอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงการผลิต ซึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญคือการศึกษา กระทั่งการจัดสรรทรัพยากร และปฏิรูปนโยบายการคลังอย่างเหมาะสม

เสนอลดเหลื่อมล้ำ-จัดสรรงบฯให้ถึงคนจน

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมาการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ใน ระดับต่ำและช้าลงอย่างต่อเนื่อง หากวิเคราะห์จากโครงสร้างความเป็นเจ้าของจะพบผลประโยชน์ตกอยู่ที่คนไทยน้อยลง เรื่อย ๆ โดยที่ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก เมื่อเทียบเกาหลีใต้และไต้หวันที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องมาตลอดกลับมีความเหลื่อมล้ำที่ลดลง
เพราะช่องว่างสวัสดิการของไทยค่อนข้างห่าง ดังนั้นจึงต้องจัดสรรให้ครอบคลุมผู้ด้อยโอกาส โดยใช้งบประมาณอย่างถูกวิธีและถูกกลุ่มเป้าหมาย

“ต้องเลิกการแบ่งความจนด้วยอาชีพ เช่นที่ผ่านมาชาวนาถูกมองว่าจน แต่แท้จริงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะ 35-40% ไม่ได้จน ขณะที่นโยบายช่วยเหลือมุ่งไปที่ชาวนา เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่ขาดทุนราว 1.5 แสนล้านบาทต่อปี เข้ากระเป๋าคนจนจริงแค่ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนตัวจึงมองว่าควรเลิกโครงการรับจำนำข้าว และมาจัดสรรงบประมาณให้เข้าถึงคนจน ซึ่งคาดว่าใช้เงิน 1 แสนล้านบาท จะครอบคลุมคนจนทั่วประเทศได้ และควรเพิ่มงบฯ เข้าสู่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ปัจจุบันจัดสรรงบฯให้น้อยมากทั้งที่มีความสำคัญมาก”

“ทนง” จี้กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศให้ชัด

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อัตราการว่างงานในประเทศไทยต่ำแค่ 1% สะท้อนการใช้กำลังคนเต็มพิกัด แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวช้ามากเพราะกลไกการพัฒนาศักยภาพแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยใช้แรงงานราคาถูกเข้ามาดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันใช้ไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ต่างชาติเริ่มออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน มากขึ้น จากนี้ประเทศไทยต้องกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาประเทศให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะติดกับดักประเทศรายได้ระดับกลางเรื่อยไป

การยกระดับประเทศต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติคนไทย เริ่มจากภาคการผลิตที่ไม่ใช่ผลิตเพื่อคนไทย แต่ต้องเป็นการผลิตเพื่ออาเซียน ค่าแรงที่สูงขึ้นจำเป็นต้องย้ายฐานออกไปลงทุน ต่างประเทศ และมุ่งให้ความสำคัญที่เราถนัด เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมยกระดับแรงงานไทยกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ต้องลงทุนการวิจัยและพัฒนามากขึ้น และที่สำคัญต้องเปลี่ยนแนวคิดว่าคอร์รัปชั่นได้หากเศรษฐกิจโต ทั้งต้องมีภาวะผู้นำและการบริหารจัดการที่มีศักยภาพ

ขณะที่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า นโยบายประชานิยมเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เศรษฐกิจไทยควรเพิ่มประสิทธิภาพ 3 แนวทาง คือ 1.ปล่อยให้การแข่งขันเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเป็นธรรม 2.การลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ผ่านมา ก็มีการลงทุน แต่เมื่อวัดประสิทธิภาพการผลิตกลับเพิ่มขึ้น แค่ 0.22% และ 3.นวัตกรรมภาคเอกชนต้องคิดเรื่องการผลิตอย่างมีดีไซน์ มีแบรนด์ มีมาร์เก็ตติ้งครบถ้วน

เสนอสร้างกติกา-ตีกรอบฐานะการคลังที่ดี

ขณะที่ ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า การใช้จ่ายของภาครัฐที่มากขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว หรือขยายตัวติดลบได้ ซึ่ง ปัจจัยสำคัญมักมาจากการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง ขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และรายจ่ายลงทุนปรับตัวลดลง

“แม้ว่าประเทศไทยจะมีเกณฑ์ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล แต่ก็ตั้งขึ้นมาหลวม ๆ โดยระยะหลังรัฐบาลมักจะกู้เงินนอกงบประมาณถี่ขึ้น เริ่มจากโครงการไทยเข้มแข็งปี 2552 โครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำปี 2555 และล่าสุดโครงการ 2 ล้านล้านบาท ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว” ดร.ภาวินกล่าว

รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เสนอว่า ประเทศไทยควรต้องสร้างกติกาที่ทำให้เกิดฐานะการคลังที่ดี เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะทำให้รัฐบาลมีการจัดทำงบประมาณสมดุลหรือเกินดุล หรือลดหนี้สาธารณะลงได้ อาจจะต้องมีกฎหมายบังคับให้การจัดทำงบประมาณประจำปีต้องคำนึงถึงแผนระยะปานกลางด้วย ทั้งควรจะต้องมี “องค์กรเฝ้าระวังทางการคลังอิสระ” (PBO) ทำหน้าที่หน่วยวิเคราะห์งบประมาณอย่างอิสระจากฝ่ายบริหาร และเป็นกลางทางการเมือง ไม่มีความเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวว่า ปัจจุบันการกู้เงินนอกระบบเป็นที่นิยมมาก แต่สุดท้ายต้องนำภาษีประชาชนไปชำระหนี้ ขณะที่นโยบายประชานิยม ที่ไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจะทำให้ฐานะการคลังเสื่อมลง อย่างโครงการรถคันแรกที่ส่งผลกระทบอัตราการ เติบโตเศรษฐกิจลดลง รวมถึงโครงการรับจำนำข้าว

“คนเป็น รมว.คลังต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่จะตั้งงบฯรายจ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรายจ่ายบางอย่างก็ทำให้เศรษฐกิจหดในปีต่อ ๆ ไปได้ ขณะที่โครงการลงทุน 2 ล้านล้าน ในจำนวนนี้ 1.5 ล้านล้านเชื่อว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์อย่างรถไฟรางคู่ แต่อีก 5 แสนล้านบาทยังไม่ชัดเจนในเรื่องความคุ้มค่า เพราะไม่ใช่แค่ลงทุนแล้วจะทำให้จีดีพีเติบโตได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ อยู่ที่จริยธรรมของผู้บริหาร” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “ผ่าทางตัน…ประเทศไทย ก้าวข้ามประชานิยมสู่การเติบโตยั่งยืน”