“อัมมาร สยามวาลา” ชี้โมเดลเศรษฐกิจแบบเก่าไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในยุคนี้ ต้องปรับมาเน้นเพิ่มผลิตภาพ และขายปัญญามากกว่าขายแรงงานราคาถูก “สมชัย จิตสุชน” เสนอ 10 วิธียกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว
สัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เริ่มต้นเปิดสัมมนาโดยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่ฟันธงว่า หมดยุคการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม จากนั้นเริ่มด้วยบทความที่ 1 “โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ” นำเสนอโดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ และ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ โดยมี ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้นำอภิปราย
แต่ก่อนเริ่มเข้าเนื้อหาของบทความ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงภาพรวมของหัวข้อในการสัมมนาในประจำปีนี้คือ “โมเดลใหม่ในการพัฒนา สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ” ว่าทำไมต้องเป็นโมเดลใหม่ โมเดลเก่ามีปัญหาอย่างไร?
ดร.อัมมารระบุว่า การพัฒนาประเทศในรูปแบบเก่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำเนินมาเรื่อยๆ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนมาถึงในปี 2523 เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมมีการย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพที่สูงกว่า โดยค่าแรงต้องไม่สูงมากนัก
เมื่อมาถึงช่วงหลังปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ productivity หรือ ผลิตภาพการผลิตของประเทศลดต่ำลงมากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตแค่ 4% มาตลอดหลังจากนั้น ทำให้โมเดลการพัฒนาประเทศในรูปแบบเก่าที่ยังคงใช้มาถึงในปัจจุบัน เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ถูกต้องแล้วหรือ
อาจกล่าวได้ว่าโมเดลการพัฒนาในปัจจุบันของประเทศไทยเป็นโมเดลที่เน้น “การขายแรงงานราคาถูก” มีลักษณะที่พอจะอธิบายได้คือ เน้นการส่งออก ค่าแรงต่ำ พัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่พัฒนาเทคโนโลยี กำลังซื้อภายในต่ำอ่อนไหวต่อความผันผวนในตลาดโลก มีความเหลื่อมล้ำสูง เสี่ยงที่จะเกิดนโยบายประชานิยม และที่สำคัญคือติด “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง”
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มต่างๆ ในช่วง 30 ปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย อาทิ สัดส่วนชั่วโมงของการทำงานของแรงงาน ที่เมื่อปี 2528 แรงงานยังทำงานในภาคเกษตร 70% ภาคบริการ 20% และภาคอุตสาหกรรม 10% ในขณะที่ปี 2553 สัดส่วนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็น การทำงานในภาคเกษตรลดลงเหลือ 30% ภาคบริการขึ้นมาเป็น 45% และภาคอุตสาหกรรม 25%
ส่วนแนวโน้มค่าจ้างที่แท้จริงในปี 2553 สูงขึ้น 1 เท่าตัวจากปี 2528 และโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
ดร.อัมมารกล่าวว่า จะเห็นได้ว่า โมเดลการพัฒนาในปัจจุบันที่เน้นการขายแรงงานราคาถูก ไม่สามารถตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศในยุคนี้ได้ ผนวกกับแนวโน้มต่างๆ ในโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนไป ทำให้ประเทศไทยต้องนำโมเดลการพัฒนารูปแบบใหม่มาใช้ และต้องเป็นโมเดลการพัฒนาใหม่ที่เน้น “การขายปัญญา”
คุณลักษณะที่สำคัญคือการเชื่อมโยงการผลิต เพิ่มกำลังซื้อจากภายใน พัฒนาอุตสาหกรรมโดยพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพแรงงานและรักษาสิ่งแวดล้อม จัดสรรทรัพยากรการคลังอย่างเหมาะสมและรักษาวินัยทางการคลัง สร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ
“การย้ายคนจากภาคหนึ่งไปสู่อีกภาคหนึ่งเหมือนเมื่อก่อนที่เคยทำ ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว ต้องเน้น productivity ต้องขายปัญญา” ดร.อัมมารกล่าว
โฉมหน้าและปัญหาการพัฒนาของไทย
ด้าน ดร.สมชัย และ ดร.นณริฏ นำเสนอบทความว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงการขยายตัวต่ำมาประมาณ 15 ปีแล้วหลังจากปี 2540 สังเกตได้จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลงชัดเจน ซึ่งในที่นี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจบ่อยครั้งขึ้น
คนไทยได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำลงเรื่อยๆ สังเกตได้จากสัดส่วนรายได้ประชาชาติ (GNI) ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของธุรกิจที่ไม่ใช่คนไทย นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยแลกมาด้วยความสกปรกที่มากขึ้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อ GDP เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2500 สะท้อนว่ายิ่งมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเท่าไหร่มลพิษก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
โดยมีตัวอย่างของประเทศที่หลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปแล้ว 2 ประเทศ นั่นก็คือ เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่มลพิษหรือปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับลดน้อยลง โดยเฉพาะประเทศไต้หวันที่มลพิษลดลงอย่างต่อเนื่องแม้การพัฒนาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำของทั้งสองประเทศก็ลดลงเช่นเดียวกัน
แต่ประเทศที่ยังไม่หลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางซึ่งในที่นี้ยกมา 4 ประเทศ คือ จีน มาเลเซีย บราซิล และไทย ทั้ง 4 ประเทศล้วนแล้วแต่มีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำที่สูงและการเพิ่มขึ้นของมลพิษที่มากขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกเว้นแต่ประเทศจีนที่ปัญหามลภาวะถูกจัดการแล้วอย่างรวดเร็วแม้ว่าจะยังมากอยู่ก็ตาม ในขณะที่ประเทศบราซิลกลับไม่มีปัญหามลพิษเลย จากตัวอย่างทั้ง 6 ประเทศที่ยกมาข้างต้นมีข้อสังเกตอยู่บางประการคือ
หนึ่ง การพัฒนาที่ “ลงตัว” มักเกิดกับประเทศที่เริ่มต้นด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำ โดยความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การล่มสลายของชนชั้นนายทุนหลังสงครามขนาดใหญ่ หรือเป็นผลมาจากนโยบายเชิงโครงสร้าง เช่น การปฏิรูปที่ดินของประเทศไต้หวัน
สอง การพัฒนาการศึกษาที่ “ถูกทาง” ช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น
และสาม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ “ไม่จำเป็น” ว่าจะต้องมาพร้อมกับความสกปรกของมลภาวะเสมอไป ซึ่งประเทศไต้หวันและบราซิลเป็นตัวอย่างที่ดีของกรณีนี้
10 วิธีการยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว
จากการจัดอันดับประเทศของ World Economic Forum ในปี 2013 ไทยถูกลดอันดับลงหลายส่วนจากที่มีการจัดอันดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2001 อาทิ ด้านนวัตกรรมที่ตกจากอันดับที่ 47 มาเป็นอันดับที่ 52 ด้านสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคตกจากอันดับที่ 16 มาเป็นอันดับที่ 22 และด้านสถาบันของรัฐที่ตกจากอันดับที่ 42 มาเป็นอันดับที่ 78
แม้ปัญหาเดิมจะยังมีอยู่แต่ปัญหาใหม่ก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้น การยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยประเด็นที่ควรจะให้ความสำคัญในการลงมือทำเพื่อพัฒนาในระยะยาวมีต่อไปนี้
1. จริงจังกับการวิจัยและพัฒนา โดยประเทศไทยต้องลงทุนในด้าน R&D เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ไทยยังมีการลงทุนด้านนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ จีน และบราซิล ซึ่งเหตุผลไม่ใช่มาจากกรณี “ไม่มีเงิน” เพราะมีตัวอย่างในหลายประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำกว่าไทยแต่ลงทุนใน R&D มากกว่าไทย และไทยยังให้ความสำคัญของการใช้จ่ายมากกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี นอกจากนี้ การลงทุนด้าน R&D จะต้องมาจากภาคเอกชนเป็นหลักไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนไทยเริ่มหันมาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังแล้ว ในขณะที่ตัวบุคลากรในการทำการวิจัยและพัฒนากลับมีจำนวนน้อยมากเหลือเกินในประเทศไทย นี่จึงเป็นอีกโจทย์ที่ต้องได้รับการแก้ไข
2. ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยปฏิรูปให้ถูกทางอย่างต่อเนื่อง ต้องพัฒนาการศึกษาที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นหลัก จากผลการสอบของนักเรียนไทยทุกวิชาของ PISA (Programme for International Student Assessment) และ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) มีผลการสอบที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีกว่าไทย พูดง่ายๆ คือ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจดีย่อมมีการศึกษาที่ดีควบคู่กันไป ส่วนการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมายังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ ดูได้จากปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ที่เด็กจากโรงเรียนสาธิตมีผลการสอบเฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่มาจากโรงเรียนของรัฐอย่างเห็นได้ชัด
3. เสริมทักษะแรงงานให้เหมาะกับเศรษฐกิจระดับโลก โดยธนาคารโลกสำรวจนักลงทุนต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในไทยพบว่าแรงงานไทยขาดแคลนทักษะด้านภาษาอังกฤษ เทคโนโลยี การคำนวณ สร้างสรรค์ และความเป็นผู้นำ มากที่สุด ซึ่งทักษะเหล่านี้ควรได้มาจากการเรียนในระบบโรงเรียน และทักษะอื่นๆ ก็ต้องการบ่มเพาะที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น ซึ่งทักษะทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจและพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อที่จะยกระดับประเทศในระยะยาว
4. เตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนคู่แข่งชาติอื่นๆ โดยมีนัยยะต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อรองรับอย่างเร่งด่วน หากประเทศไทยมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ต่อปี ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุก็จะสามารถรับมือได้ ภาคครัวเรือนไทยต้องปรับแผนการบริโภค การออม การทำงานเพื่อเก็บสะสมทุนให้เพียงพอ ภาคธุรกิจควรนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อลดแรงงานและปรับเพิ่มกิจกรรมที่เน้นทุน เทคโนโลยี และความรู้มากกว่าที่จะเป็นแรงงานราคาถูก
5. พัฒนาประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ แม้ว่าการวัดประสิทธิภาพของธนาคารโลกจะบอกว่าอันดับของไทยในด้านโลจิสติกส์จะอยู่ลำดับกลางๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ก็ยังต่ำกว่าประเทศที่หลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีน นอกจากนี้ในช่วงปี 2007-2012 ประเทศส่วนใหญ่มีการพัฒนาประสิทธิภาพในระบบโลจิสติกส์ที่ดีขึ้นในขณะที่ประเทศไทยกลับลดต่ำลง
6. ศึกษาทางเลือกของโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เหมาะกับไทย โดยหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (structural transformation) จากการศึกษาพบว่าประเทศที่หลุดพ้นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางมักจะมีการเน้นการผลิตที่ภาคใดภาคหนึ่งหรือ specialization มากกว่าที่จะกระจายในทุกๆ ภาค ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไต้หวันและเกาหลีไต้ ในขณะที่ประเทศไทยและอาร์เจนตินากลับมีการกระจายไปตามภาคการผลิตที่แตกต่างกันหรือ diversification ที่มากกว่า
7. ปฏิรูปการคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูประบบภาษีเสียใหม่โดยพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการให้ครอบคลุมผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึง ไม่ให้ผู้ด้อยโอกาสหรือคนจนตกอยู่ในวังวนความยากจน การใช้งบประมาณต้องเป็นไปอย่างถูกวิธีและถูกกลุ่มเป้าหมาย มีการสำรวจหาค่าความเหลื่อมล้ำหรือค่าสัมประสิทธิ์ Gini ในหลายประเทศทั่วโลก พบว่าหลังจากมีการใช้มาตรการทางการคลัง ค่าความเหลื่อมล้ำของประเทศนั้นๆ จะลดลงหรือเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยกลับสวนทางกับประเทศส่วนใหญ่หรือนี่จะเป็นการสะท้อนความจริงที่ว่า “เรายังคงเก็บภาษีจากคนจนมากกว่าคนรวยอยู่”
8. สวัสดิการถ้วนหน้าและทั่วถึง โดยทุกวันนี้ยังมีเด็กปฐมวัยอีกมากที่ยังไม่ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร และไม่ได้ใช้บริการศูนย์เด็กเล็ก แรงงานอีก 23 ล้านคนที่ไม่มีหลักประกันสังคม เบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุก็ยังไม่เพียงพอ การพัฒนาในระยะยาวจะต้องคำนึงถึงสวัสดิการให้ครบถ้วนและทั่วถึงมากกว่าที่เป็นอยู่
9. ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ดีว่าใครคือคนจน โดยต้องทำให้คนไทยเข้าใจความจริงและออกจาก “มายาคติ”เดิมๆ ก่อนที่ว่าอาชีพนั้นๆ เป็นคนจน ยกตัวอย่างเช่น ชาวนา ในความเป็นจริงแล้วชาวนามีหลายกลุ่มมากๆ และมีคนอีกหลายๆ อาชีพที่ยากจน
ฉะนั้น การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือกับคนจนเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากจะยกตัวอย่างของความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น ก็คงต้องยกตัวอย่างนโยบายรับจำนำข้าวที่ใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยมีเพียง 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้นที่ตกอยู่ในมือชาวนาจน
10. พัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยมีแนวทางการดำเนินการคือ ลดผลกระทบทางลบของการลงทุนต่อสภาวะแวดล้อม ปรับปรุงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) การพิจารณาการใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม (carbon tax) และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยรวม ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังถือว่าทำได้ไม่ดีในเรื่องพวกนี้
สภาพปัจจุบันของการพัฒนาประเทศไทยที่ยังติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สามารถยกระดับขึ้นได้ด้วยแนวทางทั้ง 10 วิธีข้างต้น แต่จะต้องอาศัยแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาซึ่งประกอบไปด้วย 3 แนวทาง คือ การสร้างภาวะความเป็นผู้นำในการพัฒนา (development leadership) ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์การพัฒนาแบบร่วมกันได้ประโยชน์ (win-win strategy) และการประสานแนวร่วมภาคีการพัฒนา (coordinate development) ซึ่งจะนำประเทศไปสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ขณะที่ ดร.ทนง อภิปรายบทความนี้สั้นๆ ว่า การพัฒนาแบบร่วมกันได้ประโยชน์ หรือ win-win strategy นั้นเชื่อว่า “ไม่มี” ในอดีตเคยพิสูจน์มาแล้วว่าในการพัฒนาจะต้องมีการทำลายล้างก่อนจะนำไปสู่การพัฒนาใหม่
ดาวน์โหลดบทความฉนับเต็ม “โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ” และ เอกสารประกอบการนำเสนอ
เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอ เสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่: ต้อง ‘ขายปัญญา’ และ 10 วิธียกระดับเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน”