tdri logo
tdri logo
13 พฤศจิกายน 2013
Read in Minutes

Views

โมเดลใหม่การพัฒนา: ต้องยกระดับการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีภาคการผลิต

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เมื่อการพัฒนาประเทศในแบบเดิมกำลังมาถึงทางตัน ทีดีอาร์ไอเสนอโมเดลใหม่ในการพัฒนา สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ โดยหนึ่งในองค์ประกอบหลักคือ ต้องยกระดับการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิตพร้อมแจงรายละเอียดชัด ๆ ประสบการณ์ตรงตัวอย่างธุรกิจไทยที่สู้ได้ในตลาดโลก ในงานสัมมานาวิชาการประจำปี 2556 วันที่ 18 พ.ย.นี้ ชมสดๆได้ทางเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ

50 ปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน โดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพึ่งพาภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก เป็นการใช้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกเป็นพลังขับเคลื่อน  ในปัจจุบัน สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของไทยสูงถึงร้อยละ 35.6 ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก ที่ส่วนใหญ่สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

ภาพที่ 1 สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตใน GDP (หน่วย: ร้อยละ)

chart-1

ที่มา: World Bank (http://data.worldbank.org/indicator/NV.IND.MANF.ZS)

ความสำเร็จดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสามารถในการผนวกเข้ากับเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศของผู้ประกอบการในประเทศไทย ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นผู้รับจ้างผลิตให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการกระจายการส่งออก ทั้งการกระจายสินค้าที่หลากหลาย และกระจายการส่งออกไปยังหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของวัฏจักรเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าไม่กี่รายการ หรือพึ่งพาตลาดส่งออกไม่กี่ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของไทยก็คือยังไม่สามารถสร้างผลิตภาพได้มากพอ ซึ่งหมายถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับสูงขึ้น โดยใช้ปัจจัยนำเข้าเท่าเดิม  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแนวโน้มการใช้พลังงานในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออก  และที่สำคัญก็คือ อุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมที่จำกัด

ปัญหาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาเกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมมายังภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก โดยมีการกระจายการผลิตไปในหลายสินค้า แต่ไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้มาก ซึ่งน่าจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของไทยมีแนวโน้มลดลงในอนาคต เนื่องจากมีแรงงานในภาคเกษตรกรรมเหลือให้เคลื่อนย้ายไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตน้อยลงเรื่อยๆ และไม่สามารถกระจายการผลิตได้มากกว่านี้โดยง่ายอีกแล้ว  การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในลักษณะดังกล่าวจึงแฝงไว้ด้วยความไม่ยั่งยืน หากไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพในภาคการผลิตที่สำคัญ

ภาพที่ 2 สัดส่วนแรงงานในสาขาต่างๆ โดยจำแนกตามชั่วโมงการทำงานของแรงงาน (หน่วย: ร้อยละ)

chart-2

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จากข้อมูลการสํารวจภาวะการมีงานทําของประชากร

การเพิ่มผลิตภาพจึงเป็นโจทย์สำคัญของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีปัญหาหลายประการที่ทำให้การเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นไปได้ยาก โดยปัญหาสำคัญ 6 ด้านก็คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ความไม่มีประสิทธิผลของมาตรการจูงใจด้านภาษี การขาดประสิทธิภาพของระบบวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวม การขาดความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัย ปัญหามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยจะเพิ่มผลิตภาพของตนได้อย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมและปัญหานานัปการ ร่วมหาคำตอบได้ในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2556 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์  นำเสนอผลการศึกษาหัวข้อ “การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการผลิต” (Strategies to Create Innovation and Technology Development) โดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการทีดีอาร์ไอ

ทีดีอาร์ไอเชิญชวนผู้สนใจและประชาชนติดตามการเสนอผลงานศึกษาแบบเต็มๆ ผ่านการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์  www.tdri.or.th และร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก facebook: tdri.thailand หรือทวิตเตอร์ twitter: @tdri_thailand

 

live broadcast

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด