tdri logo
tdri logo
16 พฤศจิกายน 2013
Read in Minutes

Views

โมเดลใหม่การพัฒนา: โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

การเติบโตของประเทศในโมเดลแบบเดิม  ได้สะสมปัญหาไว้จนยากจะแก้ไขทั้งในโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง  สภาพแวดล้อมและการใช้พลังงาน  อีกทั้งยิ่งพัฒนายิ่งมีความเหลื่อมล้ำ ถึงเวลาประเทศไทยต้องก้าวข้ามสู่แนวทางการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลแบบใหม่โดยเร็ว

ณ เวลานี้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ทางแยกที่สำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ที่สำคัญก็คือ ดูเหมือนว่าศักยภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดต่ำกว่าในสมัยที่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนกระทั่งประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหา “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง”

ในด้านสังคมและการเมือง ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ซึ่งทำให้เกิด (หรือมีความสัมพันธ์) กับปัญหานานัปการ

ในด้านสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงาน เศรษฐกิจไทยมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน และความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมก็เป็นปัญหาที่ประจักษ์ชัด

ภาพที่ 1 ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 11 ปี ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

chart-1

         ที่มา: คำนวณจากข้อมูลรายได้ประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จากภาพ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าในอดีตอย่างชัดเจน โดยจุดเริ่มต้นคือช่วงกลางทศวรรษ 2530  แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้ง ซึ่งเป็นการทำลายรากฐานทางเศรษฐกิจและกลุ่มธุรกิจดั้งเดิม อันก่อให้เกิดการปรับตัวขนานใหญ่ในภาคธุรกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องปรับตัว

ปัญหาเชิงโครงสร้างอีกประการหนึ่งก็คือ การที่คนไทยมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจไทยน้อยลง ซึ่งเห็นได้จากการที่สัดส่วนของ GNI ต่อ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง  การที่ GNI น้อยว่า GDP หมายความว่ารายได้ของคนไทยในต่างแดนน้อยกว่ารายได้ของคนต่างชาติในไทย  ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยตกอยู่ในมือของคนต่างชาติมากขึ้น และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่กับคนไทยน้อยลง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งอาการที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันน้อยลง

นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังมาพร้อมกับความสกปรกที่มากขึ้น โดยวัดจากสัดส่วนของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบกับรายได้ประชาชาติ ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2530  แม้สถานการณ์จะดีขึ้นในระยะหลัง แต่สัดส่วนดังกล่าวก็ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ภาพที่ 2 ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และที่น่าตกใจก็คือ หลังจากใช้มาตรการทางการคลัง จะเห็นได้ว่ามาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศไทยกลับมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ภาพที่ 2 ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก
(Gini Coefficients ปี 2010)

chart-2

ที่มา: Harvard Dataverse Network (Federick Solt’s Dataverse Network)

ประเทศไทยเดินมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร ปัญหาของการพัฒนาของไทยคืออะไร บทเรียนของประเทศที่หลุดพ้นและยังไม่หลุดพ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลางสอนอะไรเราบ้าง เราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและมลภาวะได้อย่างไร ใครจะต้องเป็นผู้ทำ และทำอย่างไร ร่วมหาคำตอบได้ในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2556 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ นำเสนอผลการศึกษาหัวข้อ “โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ” (Features and Paths Towards a New Development Model) โดย ดร. สมชัย จิตสุชน และ ดร. นณริฏ พิศลยบุตร

ทีดีอาร์ไอเชิญชวนผู้สนใจและประชาชนติดตามการเสนอผลงานศึกษาแบบเต็มๆ ผ่านการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ www.tdri.or.th  และร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก facebook: tdri.thailand หรือทวิตเตอร์ twitter: @tdri_thailand

live broadcast

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด