ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชัน

ปี2013-12-24

หลายสัปดาห์ก่อน มีการเปิดเผย “ดัชนีคอร์รัปชันไทย” ที่ลดฮวบจากอันดับ 88 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 102 จาก 177 ทั่วโลก

เท่ากับประเทศเอกวาดอร์ มอลโดวา และปานามา และอยู่อันดับที่ 16 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากข้อมูลของมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ที่ได้รับผลการจัดอันดับคอร์รัปชันโลก ประจำปี 2556 หรือดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2556 ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเวทีเรื่องความโปร่งใส ต่อสู้กับคอร์รัปชัน 2 เวที

เวทีแรก ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สร้างประเทศไทยให้โปร่งใส เตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC” ความตอนหนึ่งระบุว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการ ทุจริตคอร์รัปชันอยู่ทุกหย่อมหญ้า โดยยอมรับว่า ตัวเองทำงาน อยู่ในตำแหน่งประธานองค์กรเครือข่ายต้านคอร์รัปชันมา 10 ปี ยังไม่สามารถหยุดการทุจริตคอร์รัปชันได้หมดสิ้น และยอมรับว่า ปัญหานี้ยากต่อการแก้ไข

“มนุษย์มีสัญชาตญาณสัตว์อยู่ เมื่อหิวแล้วก็กิน ต่างกับ สัตว์เดรัจฉานที่รู้จักพอ อิ่มแล้วหยุด ส่วนมนุษย์ที่ร่ำรวยแล้ว ก็ไม่รู้จักพอ ปล่อยใจไปตามกิเลส ตัณหา” ดร.สุเมธกล่าว

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ยังบอกว่า ประเทศไทยเคยมีบทเรียนมาแล้ว เมื่อปี 2537-2539 ก่อนฟองสบู่แตก ธุรกิจขนาดใหญ่ล้มลง เพราะความอยากโต ในขณะที่ฐานยังไม่มั่นคง องค์กรธุรกิจ และสิ่งต่างๆ ในประเทศจะดีขึ้น ต้องเข้าใจคำว่า ความดี จริยธรรม ส่วนคนในสังคมต้องรู้กาลเทศะ และรู้จักแบ่งปัน เดินตามรอย ทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขณะที่ การทำธุรกิจในอนาคต จะต้องนำกำไรส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม ทดแทนทรัพยากรโลกที่นำมาใช้ให้มากขึ้น โดยเชื่อว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเข้ามาดูแลตรงส่วนนี้

อีกเวที เป็นเวทีสาธารณะ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ สกว.ในเวทีที่ชื่อ “สกว. : ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1” หัวข้อ “ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชัน”

มี “ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ร่วมทำวิจัย อาจารย์เห็นว่า คอร์รัปชันแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ 1. ภาคราชการ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพราะข้าราชการเป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ 2. ภาคการเมือง มักเป็น การร่วมมือกันระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจและนักการเมือง โดยมีวงเงินค่อนข้างสูง จากการสำรวจทั่วประเทศในปี 2543 พบว่า ร้อยละ 10 ของครัวเรือนทั่วประเทศต้องจ่ายเงินเมื่อไปติดต่อ ราชการ และมีการกระจุกตัวของการคอร์รัปชันในบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวงเงินสูง อาทิ ตำรวจ ที่ดิน สรรพากร และกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งอาจารย์บอกว่า ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2557 จะทำการสำรวจซ้ำทั่วประเทศอีกครั้ง จำนวน 6,000 ครัวเรือน โดยการสนับสนุนของ สกว. เพื่อเปรียบเทียบกับครั้งแรกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร รวมถึงการซื้อเสียงด้วย

“การคอร์รัปชันทางการเมืองยากจะแก้ไขเพราะเกี่ยวโยงกับขบวนการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีการจ่ายสินบนหรือใช้ตำแหน่งอิทธิพลในการเข้าถึงสัมปทานหรือใบอนุญาตในการเข้าถึงทรัพยากรหายาก เช่น ที่ดินสาธารณะ หรือทรัพยากรอื่นๆ ที่ต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ เช่น เหมืองแร่ ดาวเทียม โครงการขนาดใหญ่ทางด้านสาธารณูปโภค วงเงินที่เกี่ยวข้องมีอัตราสูง

“ทำให้เป็นแรงจูงใจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องแสวงหากำไรที่เกินปกติ และพบว่าถ้านักการเมืองหรือนักธุรกิจรวมถึงข้าราชการเข้าไปในวงจรจะมีครอบครัวเศรษฐีได้หลายชั่วอายุคน แม้ในปี 2544 จะมีการก่อตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้องค์กรมีเขี้ยวเล็บมากขึ้นและดำเนินคดีกับนักการเมืองได้ แต่ก็น่าจะทำได้มากกว่านี้ เช่น กรณีจำนำข้าวยังเอาผิดใครไม่ได้” ศ.ผาสุก ระบุ

นักวิชาการผู้นี้ ได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างการต้านคอร์รัปชันในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในระดับนานาชาติ

“ภายหลังการจัดตั้งองค์กรกำจัดคอร์รัปชันของอินโดนีเซีย (KPK) ในปี 2002 ที่มีกรณีสืบสวนสอบสวน 236 คดีในเวลา 10 ปี ทุกคดีประสบความสำเร็จ จับกุมข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ส.ส. ซีอีโอ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงประมาณ 400 คน จึงน่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษาของไทยในการมีศาลพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับนักการเมืองเป็นกรณีเฉพาะ รวมถึงการมีองค์กรภาคประชาชนและสื่อเป็นมิตรที่สำคัญของ KPK

“แม้คอร์รัปชันเป็นเรื่องที่แก้ยาก แต่จากประสบการณ์ของอินโดนีเซียชี้ให้เห็นว่าสามารถทำได้ถ้ามีการปรับปรุงหน่วยงานคอร์รัปชัน และได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและรัฐบาล ทั้งนี้อยากเสนอให้มีการจัดตั้งศาลคดีคอร์รัปชันโดยเฉพาะ น่าจะเป็นไปได้ในประเทศไทยเพราะขณะนี้กระแสต่อต้านคอร์รัปชัน สูงมาก และสามารถใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงได้ สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียที่เกิดหลังวิกฤต เศรษฐกิจและประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองของประธานาธิบดี ซูฮาร์โต” ศ.ผาสุกกล่าว

ขณะที่ อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า

“ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชัน” นั้น คอร์รัปชันเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอันเนื่องจากคดีคอร์รัปชัน และการที่ไทยมีดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศตกลงมามากก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง การคอร์รัปชันจะเป็นปัญหาทำให้การพัฒนาประเทศไปต่อไม่ได้

แรกจะทำให้การลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นักลงทุนต่างชาติที่มีธรรมาภิบาลจะไม่จ่ายใต้โต๊ะ หรือถ้าจ่ายก็จะผ่องถ่ายโดยหาตัวแทนแต่ผลการตอบแทนจะต่ำลง ทำให้การลงทุนจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ ยังทำให้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหากจะให้ประเทศไทยหลุดพ้น จากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางจะต้องมีการปฏิรูประบบ ธรรมาภิบาลเพื่อลดการคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ การที่ไม่สามารถลงโทษนักการเมืองระดับสูง ในคดีคอร์รัปชันได้อย่างที่ควรจะเป็น เป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถ ดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะแก้ได้ไม่หมดแต่ก็ทำให้ลดลงได้ เราต้องคิดเชิงระบบไม่ใช่เพียงคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมเพียงอย่างเดียว จึงขอเสนอกรอบความคิดที่เป็นประโยชน์คือ สมการคอร์รัปชันของ ศ.โรเบิร์ต คลิตการ์ด ที่สรุปว่าคอร์รัปชันเกิดจากดุลยพินิจและการผูกขาด โดยขาดกลไกความรับผิดชอบ เช่น ความโปร่งใส

นักวิชาการผู้นี้ ระบุว่า จึงมีข้อเสนอแนะให้ลดดุลยพินิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายเรื่อง เช่น กำหนดกรอบเวลาและจัดทำคู่มือพิจารณาใบอนุญาต อธิบายและเปิดเผยเหตุผลต่อสาธารณะกรณีไม่อนุญาต การจะแก้ปัญหาต้องเปิดเสรีและลดการผูกขาดเศรษฐกิจ เช่น เลิกโควตานำเข้าสินค้าต่างๆ รวมถึงเลิกผูกขาดทางการค้า เช่น การค้าข้าว สามารถว่าจ้างที่ปรึกษาด้านกระบวนการทางธุรกิจให้ออกแบบขั้นตอนการอนุญาตเพื่อลดคอร์รัปชัน

รวมถึงให้องค์กรแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระ และควรให้การฟ้องร้องคดีสู่ศาลควรให้ผู้เสียหายฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง นอกจากนี้ยังควรแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารให้เปิดเผยข้อมูล ของรัฐมากขึ้น เปิดให้สังคมเข้าตรวจสอบ เช่น ยอมรับข้อตกลงคุณธรรมในโครงการขนาดใหญ่ แก้กฎหมายให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ และให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการให้สินบนของ Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD

ทั้งนี้ การจะหวังให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชันเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีกลไกสร้างความเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่มีกลไกตรวจสอบ ขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังจัดทำคู่มือประชาชนในการต้านคอร์รัปชัน โดยจะเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์และจัดพิมพ์แจกประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. เพื่อให้ประชาชนเข้าใจกลไกการเกิดคอร์รัปชัน ผลเสียที่เกิดขึ้นเป็น อย่างไร ตลอดจนให้ประชาชนช่วยกันจับตาและมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดคอร์รัปชันในประเทศไทย

จะเห็นได้ว่า “คอร์รัปชันเป็นปัญหาเรื้อรัง สร้างผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ” และยังเป็นปมใหญ่ของความขัดแย้งทาง การเมืองในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการให้เร่งแก้ไขปัญหานี้

หากข้อเสนอแนะทางวิชาการดังกล่าวนี้เผยแพร่ในสาธารณชน ฝ่ายการเมือง ฝ่ายธุรกิจและภาคประชาชนที่นำไปใช้ จะสามารถกระตุ้นภาคปฏิบัติ เพื่อทำให้อันดับคอร์รัปชันโลก ประจำปีต่อๆ ไปของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ดีขึ้นหรือวูบลงในระดับโลก เพราะอันดับ 102 จาก 177 ประเทศในปีนี้ หลายคนก็เบือนหน้าหนี

เชื่อว่าข้อเสนอ “ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชัน” น่าจะเป็น 1 ในชุดทางเลือกในการปฏิรูปประเทศของภาคประชาชนในอนาคต เป็นสมการ คู่มือต้านคอร์รัปชัน ตามที่ 2 อาจารย์ บอกไว้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์  วันที่ 21-27 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “ ‘ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชัน’ ชุดทางเลือกในการปฏิรูปประเทศ”