tdri logo
tdri logo
3 ธันวาคม 2013
Read in Minutes

Views

ยุบสภาเป็นทางออก

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ผมได้เคยแสดงความเห็นไว้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556  ไม่นานหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมีผลในการล้มล้างความผิดต่างๆ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และการคอรัปชั่น โดยเฉพาะประเด็นหลังที่ทำให้เกิดปฏิกริยาในวงกว้างจากผู้ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว โดยเสนอว่า ขอให้รัฐบาลรีบเรียกศรัทธากลับคืนมาโดยกำหนดมาตรการต่อต้านคอรัปชั่นให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม  และเตือนว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการอะไร ปล่อยให้ความขัดแย้งขยายต่อไป ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่    ผมยังเสนอต่อไปว่า หากสถานการณ์ลุกลาม ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา ซึ่งเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งตามกระบวนการประชาธิปไตย

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงจนเริ่มมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนท่าทีของแกนนำผู้ชุมนุม ซึ่งต้องการยกระดับการเคลื่อนไหวให้สูงขึ้น จนสุ่มเสี่ยงที่จะออกนอกหลักการประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที  ผมยิ่งเห็นว่า การยุบสภาเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้

จริงอยู่การยุบสภาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มากว่า 10 ปีได้   แต่การยุบสภา ก็จะทำให้มีการเลือกตั้งใหม่  ซึ่งทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องกลับไปหาเสียงกับประชาชนอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยยุติหรืออย่างน้อยลดความขัดแย้งบนท้องถนนไว้ชั่วคราว   นอกจากนี้ การยุบสภาน่าจะช่วยปรับอารมณ์ของประชาชนให้กลับสู่ปรกติมากขึ้น แทนที่จะเผชิญหน้ากันอย่างเอาเป็นเอาตายว่าจะต้องแพ้ชนะกันในไม่กี่วัน

ที่สำคัญ ผมเชื่อว่า การยุบสภาจะช่วยให้เราสามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้ โดยหลีกเลี่ยงการรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยอาศัยอำนาจนอกระบบอื่นๆ  ตลอดจนหลีกเลี่ยงการนองเลือด ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่สงครามกลางเมือง

เดิมผมเคยเสนอว่า ก่อนยุบสภา ฝ่ายต่างๆ ควรตกลงกันเพื่อให้มีกติกาในการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ซึ่งจะไม่ทำลายระบบการเมืองและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว  แต่พอมาถึงจุดนี้ ผมสนับสนุนข้อเสนอของ อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ที่อยากให้มีการยุบสภาโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพราะผมเห็นว่าสถานการณ์ได้ล่วงเลยเกินกว่าที่เราจะมีเวลามาตกลงในเรื่องใหญ่ๆ กันแล้ว

การยุบสภาเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งไม่มีในระบอบประธานาธิบดี   ผมเคยศึกษาพบว่า มีการวิจัยทางรัฐศาสตร์ที่ชี้ว่า ในบรรดาประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ประเทศในระบอบรัฐสภามีโอกาสอยู่รอดเป็นประชาธิปไตยต่อไปมากกว่าประเทศในระบอบประธานาธิบดี แต่นักรัฐศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปเหตุผลที่แน่ชัดของปรากฏการณ์ดังกล่าว   ผมสันนิษฐานว่า ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากกลไกต่างๆในการลดความขัดแย้ง รวมทั้งการยุบสภา น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศในระบอบรัฐสภาสามารถรักษาความเป็นประชาธิปไตยต่อไปไว้ได้

ที่ผ่านมา คนไทยขัดแย้งกันมามาก เพราะความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตย ซึ่งเน้นการปกครองด้วยเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้ง และนิติรัฐ ซึ่งเน้นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ    อันที่จริง เราไม่น่าจะต้องถูกบังคับให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประชาธิปไตย และนิติรัฐ เพราะทั้งสองอย่างต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน   ผมไม่เชื่อว่า เราจะสามารถสร้างประชาธิปไตยได้โดยไม่มีนิติรัฐ เช่นเดียวกับที่เราจะไม่สามารถสร้างนิติรัฐโดยไม่มีประชาธิปไตย   แต่การจะตกลงกันในรูปธรรมว่า ควรมีกลไกในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ที่สามารถสร้างการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในบริบทของประเทศไทย น่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เราจะสามารถหาคำตอบได้ในไม่กี่วัน  แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ของทุกฝ่ายในสังคมอีกพอสมควร   การกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องแพ้ชนะกันในไม่กี่วัน จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นอันตรายมาก

สังคมไทยควรช่วยกันป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองพัฒนาไปสู่การนองเลือด หรือสงครามกลางเมือง ซึ่งจะสร้างบาดแผลให้ประเทศไทยมากกว่า และฟื้นฟูประเทศกลับมาได้ยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้น   ผมเชื่อว่า การยุบสภา เป็นทางออกที่ตรงไปตรงมาที่สุดในเวลานี้ ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยและป้องกันการสูญเสียที่จะสร้างความแตกแยกระหว่างคนไทยไปอีกนาน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ