เวที สกว. แนะแนวทางปฏิรูปประเทศไทย เปิดผลวิจัยทางเลือกแก้คอร์รัปชันที่ต้นตอ ลดผูกขาด ลดดุลพินิจในการจัดทำใบอนุญาต เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ชูอินโดนีเซียต้นแบบต้านคอร์รัปชัน ตั้งศาลพิจารณาคดีโดยเฉพาะ 10 ปี 236 คดี จับบิ๊กข้าราชการ นักการเมือง ตำรวจ ร่วม 400 คน
เมื่อวานนี้ (16 ธ.ค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเวทีสาธารณะ สกว. : ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 และการนำเสนอทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชัน ใน 4 ทางเลือก จากผลงานวิจัย ได้แก่ 1.การเมือง การปกครอง การปรับโครงสร้างอำนาจ 2.เศรษฐกิจสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 3.ความร่วมมือในภูมิภาค ไทยกับบทบาทใหม่และ 4.การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่าบูรณาการ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศกลายเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการเมือง ทำให้คนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในขณะที่การปฏิรูปประเทศไทยในหลายเวทีมีจุดร่วมกัน คือการปฏิรูปการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ
“ปัจจุบันต้องยอมรับว่าอันดับการคอร์รัปชันของไทยจากการประเมินขององค์กรการโปร่งใสสากล จากอันดับ 88 ตกลงมา 14 อันดับ ลงมาอยู่อันดับที่ 102 เป็นการตกครั้งใหญ่ ต่ำกว่าประเทศในลาตินอเมริกา แย่กว่าประเทศโคลัมเบีย ที่มีมาเฟีย และเศรษฐกิจนอกระบบ จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2550 ไทยเคยตกจากอันดับ 63 เป็น 84 โดยอันดับดีที่สุดอยู่ที่ 59-60 และอยู่ในช่วงขาลงมาตลอด”
นายสมเกียรติกล่าวว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนต่ำกว่าที่จำเป็น การจ่ายใต้โต๊ะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่เกิดการลงทุน ซึ่งการที่ไทยต้องการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ที่จำเป็น เช่น โครงการ 2 ล้านล้าน หรือโครงการน้ำ ที่ยังไม่ทำให้คนไว้วางใจ และเกิดกลไกตรวจสอบการใช้เงิน ทำให้โครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ยาก
“ถ้าประเทศจะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ต้องมีระดับความโปร่งใสพอ หรือมากกว่า 4 ซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อน ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถนำนักการเมืองที่ถูกตัดสินคอร์รัปชันมาลงโทษได้ โดยใช้วิธีหนีไปต่างประเทศ และรอจนกว่าคดีจะหมดอายุความ เช่น กรณีทุจิตคลองด่าน นายวัฒนา อัศวเหม คดีทุจริตรถดับเพลิง นายประชา มาลีนนท์ และอีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”
ทั้งนี้ การออกแบบประเทศต้องคิดในเชิงระบบ โดยการแก้สมการคอร์รัปชัน คอร์รัปชัน = ดุลพินิจ + ผูกขาด – กลไกความรับผิดชอบ เช่น ความโปร่งใส
นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่า การจะแก้คอร์รัปชันได้ต้องแก้ที่ต้นตอ ลดดุลพินิจในการจัดทำใบอนุญาต ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ยกเลิกโควตานำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นการแก้ที่ดีกว่าการแก้ที่ปลายเหตุ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ควรมีการตั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นองค์การอิสระ
นอกจากนี้ จำเป็นต้องแก้ไขการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ โดยเปิดให้สังคมสามารถตรวจสอบได้ เพราะการปกปิดข้อมูลทำให้เกิดคอร์รัปชันได้อย่างกว้างขวาง โครงการขนาดใหญ่ที่มีการตกลงระดับรัฐบาล ต้องยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์ได้ ภายใต้กลไกข้อตกลงคุณธรรมโดยไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การต่อต้านสินบนโออีซีดี ซึ่งมีกลไกตรวจสอบ พร้อมทั้งแก้กฎหมายให้คดีคอร์รัปชันเป็นคดีที่ไม่มีอายุความ เป็นต้น
ด้านนางผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า การคอร์รัปชันมีต้นตอจาก 2 ส่วนคือ คอร์รัปชันจากภาคราชการ ซึ่งเกิดได้ตลอดเวลา และคอร์รัปชันด้านการเมือง ที่เกิดการความร่วมมือระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง เป็นโครงการที่มีวงเงินสูง ไม่ผูกขาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอไป และไม่ได้เกิดบ่อย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบรรยากาศการคอร์รัปชันในภาคราชการของไทยดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบบริหารราชการขององค์กรต่างๆ ต่างจากในอดีตที่การวิจัยพบว่าองค์กรที่พบการทุจริตมากที่สุด ได้แก่ ตำรวจ ที่ดิน สรรพากร และศุลกากร
สำหรับประเทศที่สามารถลดปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างน่าสนใจคือ ประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้จัดตั้งองค์กรกำจัดคอร์รัปชันเคพีเค ในปี 2005 ช่วยให้อันดับการคอร์รัปชันของประเทศสูงขึ้น 10 ปี มีกรณีสืบสวนสอบสวน 236 คดี โดยทุกคดีชนะ สามารถจับกุมข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ตำรวจ เกือบ 400 คน ครึ่งหนึ่งเป็นนักการเมือง โดยมีการตั้งศาลพิจารณาคดีโดยเฉพาะ
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า สกว.ได้ให้การสนับสนุนนักวิจัยเพื่อจัดทำซีรีส์ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยได้เผชิญวิกฤตการเมือง ซึ่งกระทบต่อภาพรวม
“ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการออกแบบโดยโครงสร้างอำนาจ รัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาหนึ่ง แต่ส่งผลให้เกิดปัญหาที่ตามมา รัฐธรรมนูญปี 2540 แก้ปัญหาพรรคการเมืองให้มีอำนาจ แต่หนุนให้เกิดคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ทุนนิยมเสรี ทำให้เกิดการขัดแย้งตามมาในภายหลัง ผลข้างเคียง ทำให้ประเทศไทยอ่อนแอ ขีดความสามารถด้านการแข่งขันลดลง”
ทั้งนี้ สกว. ได้ออกแบบระบบโครงสร้างอำนาจ กระจายอำนาจ นำเสนอรัฐบาลใหม่ ใน 4 ประเด็นหลักครอบคลุม 1.การเมือง การปกครอง การปรับโครงสร้างอำนาจ ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชัน การออกแบบสถาบันการเมืองใหม่ และการกระจายอำนาจ 2.เศรษฐกิจสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม นโยบายในด้านต่างๆ การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม 3.ความร่วมมือในภูมิภาค ไทยกับบทบาทใหม่ และ 4.การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ
ผอ.สกว.ทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาที่ประเทศจำเป็นต้องออกแบบประเทศใหม่ ตรงกับโครงการวิจัย Redesign Thailand โดย สกว.เตรียมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ ข้ามเหตุการณ์ความขัดแย้ง ที่มีฐานมาจากงานวิชาการ ที่มีความเข้มแข็ง สามารถปฏิบัติได้ และให้ผลสูง ซึ่งต่างจากนโยบายมาจากความรู้สึกซึ่งมีผลข้างเคียงได้มาก
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “เวที สกว. ชี้ช่องปฏิรูปประเทศ แก้ต้นตอคอร์รัปชัน-ลดผูกขาด”