นักวิชาการ ภาคประชาชน เปิดเวทีวิพากษ์การทำงาน 2 ขวบปี คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในงานเสวนาเวทีสื่อไทย (ไทย มีเดีย ฟอร์รั่ม) หัวข้อ “2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม” จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การมี กสทช. ถือเป็นความก้าวหน้าระบบการกำกับดูแล สกัดไม่ให้ไปข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ฝ่ายการเมือง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์และ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ
แต่ทั้งนี้ที่ยังไม่อาจปลดล็อกได้ คือ เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ โดยมิชอบ โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ โปร่งใส พร้อมสร้างกลไกการติดตามตรวจสอบการทำงานที่เห็นผล เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
เขากล่าวว่า คลื่นความถี่มีอยู่จำกัด สวนทางกับความต้องการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ประเด็นคือแม้เทคโนโลยีเอื้อให้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทว่าไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมดไปได้
ดังนั้นจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ จัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน มิเช่นนั้นถูกผ่องถ่ายไปยังผู้ประกอบการจำนวนน้อย ยิ่งปัจจุบันมูลค่าคลื่นมีมากขึ้น ยิ่งต้องทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง
พร้อมยกตัวอย่างว่า ปัญหาการจัดสรรคลื่นยังมีอยู่ชัดเจนเช่นกรณีคลื่น 1800 ทั้งที่หากสัญญาสัมปทานหมดอายุต้องคืนและนำไปประมูลใหม่ และทั้งที่ทราบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว และควร ต้องเตรียมการ แต่น่าเสียดาย กสทช. กลับไม่ได้ทำหน้าที่อย่างดีพอ
:ล้มเหลว-ไม่โปร่งใส
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการภายใต้คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NTBC Policy Watch) กล่าวเสริมว่า จากการติดตามตรวจสอบธรรมมาภิบาลภายในกสทช.ได้พบถึงความล้มเหลว 5 ประเด็นได้แก่
1.การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เช่นรายงานการประชุมและรายงานผลการศึกษาล่าช้าและไม่เป็นไปตามกรอบเวลา ที่กฎหมายกำหนด
2. ด้านกระบวนการจัดทำและกำหนดนโยบายยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร โดยพบว่า การคัดเลือกอนุกรรมการในการนำเสนอชุดนโยบายทำผ่านระบบโควตามากกว่าคุณสมบัติ มีการหลีกเลี่ยงการออกประกาศหรือคำสั่งที่จะทำให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสในการใช้ดุลยพินิจของกสทช.
3.กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่มีการรับฟังให้รอบด้านก่อนออกประกาศ บางกรณีใช้ทรัพยากรไปกับการรับฟังภาคธุรกิจมากกว่าภาคประชาสังคม ขณะที่ 4.การรับและจัดการเรื่องร้องเรียนของประชาชนมีกระบวนการหลายขั้นตอนทำให้ใช้เวลาแก้ไขเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
และ 5.การใช้งบประมาณ เห็นได้ว่า บางรายการไม่มีการแจกแจงให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น งบประชาสัมพันธ์ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีรายการที่จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ทั้งที่ควรสอบหรือประกวดราคา ที่ใช้สูงมากยังมีงบไปต่างประเทศและมีแนวโน้มว่าต่อไปจะสูงขึ้นไปอีก
:ทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้น
นายเอนก นาคะบุตร มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา แสดงความคิดเห็นในมุมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ว่า ควรมีการทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งปลายน้ำ ทั้งด้านเนื้อหา ช่องทาง และตัวกฎหมาย อย่างพ.ร.บ.กสทช.
พร้อมระบุให้ชัดเจนว่าใครที่ควรได้ใช้ทรัพยากรที่มี อีกทางหนึ่งขอให้ภาคประชาชนมีอำนาจ กระบวนการทำงานได้รับการตรวจสอบจากนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ สำคัญก่อให้เกิดการ กระจายอำนาจ ขอเสนอว่าหากต้องการปฏิรูปจริงจังต้องทำให้ครอบคลุมตั้งแต่เจตนารมณ์ทางกฎหมายสอดคล้องไปกับการทำงานของภาคประชาชน
ขณะที่ นางสาวจิรนุช เปรมชัยพรมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน กล่าวถึงบทบาทกสทช.ต่อการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและอื่นๆ ว่า ขอให้ทำงานด้วยความชัดเจน ขณะเดียวกันคำนึงถึงผลกระทบต่อความเป็นธรรมในการแข่งขัน ความเป็นเจ้าของสำหรับภาคประชาชน มีการตรวจสอบโครงสร้างการบริหารซึ่งจะสะท้อนความ เป็นอิสระจากการเมืองและธุรกิจ มากกว่านั้นควรมีแผนการจัดสรรและที่มาของ งบประมาณที่ชัดเจน รวมถึงพิจารณาออก ใบอนุญาตในลักษณะร่วมกันประกอบกิจการ
พร้อมระบุว่า จาก 2 ปีมานี้ที่ได้ติดตามการทำงานโดยมีประเด็นยิบย่อยที่ต้องไล่ตามจำนวนมาก จากวันนี้อาจต้องลองตั้งหลักกันใหม่ โดยช่วยกันวางบทบาทให้มีความชัดเจน รวมทั้งติดตามไม่ให้ใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง
“สิ่งที่ยังไม่อาจ ปลดล็อกได้ คือ การแสวงหา ผลประโยชน์ โดยมิชอบ”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “นักวิชาการรุมวิพากษ์ 2ปี บริหาร กสทช.”