tdri logo
tdri logo
26 ธันวาคม 2013
Read in Minutes

Views

ภาคประชาชนตรวจการบ้าน ‘กสทช.’ มองรอบด้าน 2 ปี กับปัญหาที่แก้ไม่ตก

ยังคงมีการจับตาอย่างต่อเนื่องสำหรับการทำงานของ “กสทช.” หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เปิดเวทีเสวนา “2 ปี กสทช. กับการติดตามและประเมินผลโดยเครือข่ายภาคประชาชน”

ประเดิมด้วย “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า คลื่นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่เทคโนโลยีทำให้คลื่นมีปริมาณมากขึ้นได้ เช่น การเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี แอนะล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่กระบวนการจัดสรรคลื่นได้ ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ไม่เหมือนในอดีตที่การจัดสรรไม่มีประสิทธิภาพ มีผู้ได้รับประโยชน์เพียงบางกลุ่ม อย่างอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคที่ร่ำรวยจากการประกอบกิจการด้านนี้ และเคยมีผลประโยชน์ร่วมกับผู้นำเรียกร้อง สภาประชาชนในปัจจุบัน

ธรรมาภิบาลหัวใจสำคัญ

“การทำให้คลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ หัวใจสำคัญคือ การจัดสรรคลื่นโดยการประมูล แต่การประมูลอาจทำให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ รายใหญ่เท่านั้นจึงไม่ควรนำมาใช้ทั้งหมด จึงควรมีการใช้หลักบิวตี้คอนเทสต์ร่วมด้วย เช่น การจัดสรรสำหรับบริการประเภทชุมชนและสาธารณะ แต่จะทำได้เมื่อองค์กรที่ดูแลมีธรรมาภิบาลเข้มแข็ง ไม่ให้เกิดการใช้เส้นสาย และการใช้บิวตี้คอนเทสต์ควรมีรูปแบบที่ชัดเจนในการพิจารณามากกว่าการใช้ดุลพินิจ”

“วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง” ตัวแทนกลุ่ม NBTC Policy Watch กล่าวว่า กสทช. ล้มเหลวด้านธรรมาภิบาล เพราะการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามกรอบที่กำหนด กระบวนการจัดทำและกำหนดนโยบายคัดเลือกอนุกรรมการใช้ระบบโควตามากกว่าคุณสมบัติ ขณะที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นพิธีกรรมเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับความเห็นของภาคเอกชนมากกว่าประชาชน

“กสทช.ยังใช้งบประมาณมากเกินจำเป็น และไม่มีความชัดเจน คาดว่าในปี 2557 กสทช.ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม”

ด้าน “จีรนุช เปรมชัยพร” ตัวแทนมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน กล่าวว่า การเปลี่ยนจากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้สื่อยึดโยงกับภาคประชาชน แต่ในการจัดสรรคลื่นสำหรับทีวีดิจิทัลบริการสาธารณะ 12 ช่องยังมีปัญหา แม้ต่อมา กสทช.จะยอมออกหลักเกณฑ์การจัดสรร แต่จากคุณสมบัติเห็นได้ว่า มีการล็อกสเป็กให้บางกลุ่มเท่านั้น

กำกับแบบละเมิดสิทธิ์

“ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ตัวแทนเว็บไซต์ ilaw กล่าวว่า ร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ…. เป็นการขยายความเพิ่มเติมจากมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมถึงกำหนดมาตรการควบคุมรายการเชิงข่าวอย่างเข้มงวด ซึ่งการเพิ่มขึ้นของร่าง ดังกล่าวเป็นเหมือนการเพิ่มอำนาจของ กสทช. และขัดรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยเสรีภาพสื่อ รวมถึงใช้ถ้อยคำกำกวมในประกาศ

แม้ต่อมา กสทช. จะได้นำไปแก้ใหม่ แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม ซึ่งค่อนข้างอันตรายต่อสื่อมวลชน ทั้งที่บรรดากฎหมายเดิมที่มีอยู่ก็นำมาใช้กำกับดูแลได้

ตั้งกองทุนเพื่อประโยชน์ใคร ?

ประธาน TDRI กล่าวเสริมว่า กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มีหน้าที่เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชน ให้บริการบรอดแคสต์เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ที่ผ่านมา กสทช.ยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

“วิชาญ อุ่นอก” สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุน กทปส.เป็นหัวใจสำคัญต่อกิจการชุมชนและสาธารณะ เพราะทำให้ภาคประชาชนมีพื้นที่ในสื่อมากขึ้น โดยทุกวันนี้วิทยุชุมชนที่ไม่มีการโฆษณาและนำเสนอข่าวสารที่ไม่เลือกข้าง มีเพียง 700 ราย และได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการของ กสทช.เพียง 400 ราย ดังนั้นการรับเงินอุดหนุนจาก กสทช.จึงเป็นสิ่งสำคัญ

แต่โครงการ กทปส. ให้ทุนส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา ในปีนี้มีผู้ยื่นขอรับเงินทุน 225 โครงการ อนุมัติ 10 โครงการ อยู่ระหว่างพิจารณา 8 โครงการ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีกลุ่มวิทยุชุมชนได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้

ปัญหาหลักคือกองทุนไม่ได้ออกกรอบ หรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณาให้เงิน สนับสนุนที่ชัดเจน มีความล่าช้าในการพิจารณาโครงการ ไม่มีการกำหนดเป้าและภารกิจในการพิจารณาที่ชัดเจน อันไหนควรทำก่อน-หลัง และควรปรับโครงสร้างการทำงาน ควรตั้งอนุกรรมการระดับย่อยลงมาเพื่อพิจารณาจัดสรรอย่างรวดเร็ว

“เอนก นาคะบุตร” ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า หากต้องการให้ภาคประชาชนได้รับประโยชน์และเข้าถึงเงินสนับสนุนอย่างแท้จริง ต้องรื้อ พ.ร.บ กสทช.เพื่อให้ผู้กำกับดูแลกองทุนมาจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกองทุนนี้ นักวิชาการ และภาครัฐ ไม่ใช่รวมให้ กสทช.เป็นผู้จัดสรรควบคุมงบประมาณตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26-29 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “ตรวจการบ้าน 2 ปี กสทช. คาดหวังมากไปหรือไม่ได้ทำอะไร”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด