tdri logo
tdri logo
24 ธันวาคม 2013
Read in Minutes

Views

ปัดฝุ่นกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน คปภ. ได้ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.รถภาคบังคับ เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการ และกฎระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ขณะนี้ ทีดีอาร์ไอได้เสนอผลการวิจัยขั้นต้นต่อสำนักงาน คปภ. แล้ว โดยมีทั้งส่วนดีและส่วนที่ต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ E-Claim ที่มีการแจ้งข้อมูลผู้ประสบภัย และข้อมูลการรักษาพยาบาล รวมถึงเอกสารหลักฐานผ่านระบบออนไลน์ในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ทำให้ผู้ประสบภัยจากรถไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานอาจจะยังมีช่องว่าง และสำนักงาน คปภ. ก็พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนา ปรับปรุง เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถทุกคนได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ ผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์น่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2557

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าการศึกษาวิจัย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีผลบังคับใช้มากว่า 20 ปี ซึ่งในเบื้องต้นคณะนักวิจัยมีความเห็นว่า นโยบายบางส่วนควรปรับปรุง เช่น การควบคุมอัตราเบี้ยประกันภัยรถบางประเภท จนทำให้กลไกด้านราคามีการบิดเบือน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูง มีเบี้ยประกันภัยต่ำเกินกว่าอัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Claim ratio) ทำให้การกำหนดเบี้ยประกันภัยไม่สะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง

นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันสัดส่วนรถไม่ทำประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มรถจักยานยนต์ ซึ่งจากสถิติพบว่ามีค่าเฉลี่ยในการทำประกันภัยเพียง 3 ปีแรกของรถจดทะเบียนเท่านั้น จึงเตรียมเสนอภาครัฐหามาตรการให้รถเข้าสู่ระบบทั้งหมด โดยการเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ไม่ทำประกันภัยจะเป็นข้อเสนอหนึ่งที่ควรต้องมีการทบทวน เพราะหากประชาชนหลีกเลี่ยงไม่ทำประกันภัย นอกจากเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการสร้างปัญหาต่อสาธารณะและประชาชนที่ร่วมใช้รถใช้ถนน เพราะรถที่ไม่ทำประกันภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ประชาชนได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเท่านั้น ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงเห็นว่าควรมีการเพิ่มผลประโยชน์ให้กับประชาชน โดยเฉพาะกรณีผู้ประสบภัยที่ถูกชนแล้วหนี ซึ่งคนกลุ่มนี้ควรได้รับความคุ้มครองจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยให้มากขึ้นเสมือนกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

ในขณะเดียวกันผลการวิจัยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วนเกี่ยวกับการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัย เช่น ค่าชดเชยรายวันกรณีการรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 21 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “ปัดฝุ่น กม.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถ”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด