สมชัย จิตสุชน
ในที่สุดความขัดแย้งทางการเมืองของไทยก็ได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญและน่าสนใจมาก คือเกิดการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยอย่างขนานใหญ่ ถือได้ว่าเป็นการหาทางออกจากความขัดแย้งที่มีความ “ศิวิไลซ์” กว่าทางเลือกอื่นที่เคยถูกใช้มา ไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ การแทรกแซงของทหาร การชุมนุมที่เน้นความรุนแรง การปราบปรามการชุมนุมที่รุนแรงไม่แพ้กัน ล้วนแต่พิสูจน์ว่าไม่ใช่ทางแก้ปัญหาระยะยาว
แน่นอนว่าการปฏิรูปการเมืองรวมทั้งการปฏิรูปเรื่องสำคัญอื่นๆ เป็นเรื่องที่ดีและควรเกิดขึ้นมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตั้งธงว่าจะใช้การปฏิรูปมาแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเหตุแห่งความขัดแย้งคืออะไร มิเช่นนั้นแล้วข้อเสนอการปฏิรูปอาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างรอบด้าน จนท้ายที่สุดอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร
ผมคิดว่ามุมมองต่อความขัดแย้งที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการครุ่นคิดเรื่องการปฏิรูปคือการทำความเข้าใจในสองเรื่อง ประการแรก ต้องแยกให้ออกระหว่างความต้องการของผู้ชุมนุมกับความต้องการของแกนนำหรือผู้ให้การสนับสนุนการชุมนุม โดยต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ชุมนุมมากกว่า ประการสอง ผู้มาชุมนุมของทั้งสองฝั่งชุมนุมเพื่อเรียกร้องอำนาจต่อรองทางการเมืองของฝ่ายตนที่ “หายไป” เริ่มกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมเพราะพวกเขารู้สึกว่าอำนาจการต่อรองทางการเมืองที่เคยได้รับในช่วงสมัยรัฐบาลไทยรักไทยถูกแย่งชิงเอาไปด้วยการรัฐประหารส่วนผู้ชุมนุมอีกฝั่งก็รู้สึกว่าอำนาจต่อรองหายไปเช่นกัน คือ อำนาจการควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทั้งที่รัฐบาลใช้กลไกเสียงข้างมากอย่างขาดมารยาททางการเมืองขัดรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมและไม่แสดงความรับผิดชอบเท่าที่ควรเป็นเยี่ยงรัฐบาลประชาธิปไตยในอารยประเทศ
ด้วยหลักคิดข้างต้น การปฏิรูปการเมืองจึงควรมีคุณสมบัติ (ก) เป็นการคืนและรักษาอำนาจต่อรองให้ทั้งสองฝ่ายอย่างสมดุลต่อการเดินหน้าต่อไปได้ (ข) มีที่มาจากประชาชนด้วยเพราะหากไม่มีเลยการปฏิรูปที่เกิดขึ้นอาจมีมุมมองที่แคบ ไม่ได้รับการยอมรับและนำไปสู่การชุมนุมของอีกฝ่ายในที่สุด กลายเป็นวงจรความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด (ค) มีสภาพบังคับตามกฎหมาย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของข้อเสนอส่วนใหญ่ ซึ่งมักเป็นเพียงการทำสัตยาบันว่ารัฐบาลหน้าจะ “พิจารณา” ข้อเสนอปฏิรูป ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามก็อาจมีการชุมนุมทวงถามอยู่ร่ำไปเช่นกัน
โดยผมมีข้อเสนอแนะกระบวนการ (แสดงในรูปประกอบ) ดังนี้
(1) ให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศ โดยสภาปฏิรูปเร่งจัดทำข้อเสนอปฏิรูปสองชุดคือ ข้อเสนอระยะเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้วนำเสนอให้รัฐบาลรักษาการประกาศใช้ทันที ส่วนข้อเสนอปฏิรูประยะยาวให้ดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงหลังเลือกตั้งได้
(2) ให้พรรคการเมืองทำการหาเสียงในเรื่องการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งจุดยืนและรายละเอียดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนสามารถออกเสียงในเรื่องการปฏิรูปประเทศผ่านการเลือกพรรคการเมือง โดยในวันเลือกตั้งให้เพิ่มช่องการเลือกอีกหนึ่งช่องว่าต้องการเลือกพรรคใดเป็นตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
(3) หลังเลือกตั้งให้รัฐสภาใหม่ จัดให้มี ส.ส.ร. ที่เสนอชื่อโดยพรรคการเมืองตามสัดส่วนตัวแทนร่างรัฐธรรมนูญที่แต่ละพรรคได้รับเสียงจากประชาชน โดยสมาชิก ส.ส.ร. ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ และต้องตั้ง ส.ส.ร. นี้ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนหลังจากมีรัฐสภาใหม่
(4) สสร. ทำงานร่วมกับสภาปฏิรูปประเทศไทยเพื่อรับประเด็นการปฏิรูปมาร่วมพิจารณากับข้อเสนอปฏิรูปของ ส.ส.ร. เอง แล้วนำการปฏิรูปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยบางประเด็นอาจอยู่ในรูปกฎหมายลูกก็ได้
(5) รัฐธรรมนูญใหม่ต้องได้รับเสียงจากสมาชิก ส.ส.ร. เกิน 2 ส่วน 3 จากนั้นให้ทำประชามติอีกรอบหนึ่งโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง (หรือผู้มีสิทธิ์ออกเสียงก็ได้)
ข้อเสนอนี้เปิดโอกาสให้ทั้งพรรคการเมืองที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนให้มาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการปฏิรูปประเทศ แต่มิได้ละเลยข้อคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในสภาปฏิรูปการเมือง ส่วนการบรรจุการปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้มีสภาพบังคับสูงสุดตามกฎหมาย
นอกจากนั้นการกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องได้เสียงข้างมากเด็ดขาด 2 ใน 3 เป็นการปรับใช้แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญของสหรัฐ ที่ต้องได้เสียงถึง 4 ใน 5 ของรัฐสภาจึงจะแก้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสมควรเพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายใหญ่ควรได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงข้างมากลักษณะ super majority ไม่ใช่เพียงเกินกึ่งหนึ่งแบบ simple majority ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งในสังคมที่รุนแรง เช่น คนจำนวน 49% ของประเทศไม่เห็นด้วยกับสาระใหม่ของรัฐธรรมนูญและออกมาต่อต้านตามท้องถนนในที่สุด
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “ปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย”