ระดมสมอง หาทางรอดประเทศไทย ปฏิรูประบบ ยึดระบอบประชาธิปไตย

ปี2013-12-16

หลังจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำมวลมหาประชาชนออกมายึดเอาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนินเป็นสถานที่ตั้งของการปักหลักชุมนุมกันมากกว่า 40 วัน เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล รวมถึงประธานสมาชิกวุฒิสภา ลาออกทั้งคณะ และพักการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามกฎหมายออกไปก่อน

ภายใต้ข้อกำหนดการให้สรรหาผู้มีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 และจัดตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้มีการปฏิรูปประเทศ และการเมืองไทยกันใหม่เพื่อขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน และล้มล้างระบอบทักษิณออกไปจากประเทศไทยนั้น

หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า แท้ที่จริงประเทศไทยควรเดินไปในทิศทางใด และวิธีการของ กปปส.ที่ใช้คนจำนวนมากกดดันรัฐบาล และผู้คนในสังคมให้เห็นด้วย หรือเข้าร่วมต่อสู้กับตน เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ซึ่งประกอบไปด้วยคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และ ภาคเอกชน 7 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไปอีกด้าน

แม้จะเห็นด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่การเมืองซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการทุจริตในประเทศไทยจำต้องปฏิรูป แต่ก็ยังมีวิธีการอื่นอีกมากมายที่ควรทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และหลักปฏิบัติสากล

ลองฟังคำตอบของกลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความคิด และได้พิสูจน์ความสามารถของพวกเขาในหลายเวทีมาแล้วดูว่า เขาเสนอทางรอดของประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้เช่นใด

 

วิรไท สันติประภพ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าประเทศไทยต้องปฏิรูปอย่างจริงจังในหลายด้าน แต่ข้อถกเถียงที่เราเผชิญอยู่ คือจะเลือกตั้งก่อน หรือจะปฏิรูปเรื่องเหล่านี้ให้เสร็จก่อนแล้วค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งสองทางเลือกมีข้อดี ข้อเสียและความท้าทายที่ต่างกัน และต้องใช้เวลาให้เกิดการยอมรับจากคนที่คิดต่าง ต้องเตือนตัวเองว่าการแก้ปัญหาประเทศไทยไม่มีทางลัด

ถ้าจะเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป เราจะต้องใช้กฎกติกาปัจจุบันจัดการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะได้นักการเมืองที่ซื้อเสียงเข้ามาเช่นเดิม วงจรเดิมระบอบเดิมกลับมาใหม่ แต่สิ่งที่ต่างออกไปในเวลานี้ คือพลังของประชาชนที่ไม่ยอมรับการทุจริต ไม่ยอมรับอำนาจการเมืองที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้น ถ้าจะให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยไปปฏิรูป พลังประชาชนจะต้องร่วมกันกำหนดวาระการปฏิรูปที่ชัดเจน เรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำสัญญาประชาคม หรือสัตยาบันกับประชาชนตั้งแต่ตอนหาเสียง ว่าถ้าชนะการเลือกตั้ง ต้องเร่งปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง มีกำหนดเวลาอย่างไร และอาจเรียกร้องให้พรรคการเมืองประกาศให้ชัดเจนว่ารัฐบาลสมัยหน้าจะเน้นวาระแห่งการปฏิรูป รัฐบาลจะอยู่แค่เพียงสองปีแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรืออาจจะให้คณะรัฐบาลประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพื่อจะไม่กลับมาอยู่ในวงจรนักการเมืองแบบเดิมๆ

ถ้าจะปฏิรูปก่อนแล้วค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง ก็จะเกิดความท้าทายในเรื่องที่ต่างกันออกไป เช่น จะต้องใช้เวลานานแค่ไหน จะใช้อำนาจกฎหมายใดมารองรับการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น จะมีกลไกการตรวจสอบคนที่มาปฏิรูปกฎเกณฑ์กติกาใหม่อย่างไร และที่สำคัญ รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลชั่วคราวจะมีความสัมพันธ์กับทหารอย่างไร จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ในเวลาไม่นาน

ส่วนพลังประชาชนที่จุดติดในรอบนี้ เราต้องไม่ปล่อยให้พลังสูญหายไป จะต้องหาทางแปลงพลังประชาชนที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และเผด็จการรัฐสภา ขยายนิยามของผู้เสียหายให้ครอบคลุมประชาชนทั่วไปเพื่อให้สามารถฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันได้ ออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งต้องบริหารจัดการให้ได้รับการยอมรับจากคนเห็นต่างนั้น ที่ง่ายที่สุดคือรัฐบาลใหม่ต้องแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าเอาจริงกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ถ้าจัดการได้จริงจัง คนไทยจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ต้องเสียเงินในเรื่องที่ไม่ควรเสีย คุณภาพของสินค้าและบริการจะดีขึ้นและมีต้นทุนถูกลงเพราะผู้ประกอบการไม่ต้องบวกต้นทุนแฝงที่เกิดจากการคอร์รัปชัน คุณภาพของบริการสาธารณะก็จะดีขึ้น การลงทุนทั้งโดยคนไทยเองและนักลงทุนต่างชาติจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะสูงขึ้นได้เร็วก็ต่อเมื่อการแข่งขันภายในประเทศแข่งกันด้วยความสามารถ ไม่ใช่เงินทองหรืออิทธิพล

ส่วนนโยบายประชานิยมนั้น ผมเห็นว่าหากไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชน เหมือนกับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือเรียนฟรีในอดีต แต่อาจเป็นพวกนโยบายลดแลกแจกแถม เช่น แจกแท็บเล็ต รถคันแรก พักหนี้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด พยุงราคาสินค้าเกษตรให้สูงเกินจริง นโยบายแบบนี้ไม่มีทางยั่งยืน เป็นยาโด๊ปช่วงสั้นที่จะเกิดผลข้างเคียงตามมา กระทบต่อฐานะการคลังภาครัฐ วินัยของประชาชน

พรรคการเมืองต้องแสดงประมาณการต้นทุน และแหล่งเงินทุนสำหรับทุกนโยบายสำคัญในช่วงหาเสียง ต้องเปิดเผยวิธีคิดต้นทุนเหล่านั้นอย่างโปร่งใส ประชาชนกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมอาจจะไม่สนใจต้นทุนเพราะไม่ได้เป็นผู้เสียภาษี แต่เขาต้องรู้ว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสของนโยบายเหล่านี้คืออะไร ต้นทุนของการแจกแท็บเล็ตเท่ากับเงินเดือนครูหายไปกี่คน หรือต้นทุนจากการพักหนี้ทำให้โรงพยาบาลหายไปกี่โรง ถ้าเขาทราบต้นทุนค่าเสียโอกาสของนโยบายประชานิยม นโยบายเหล่านี้อาจจะกลายเป็นนโยบายที่ประชาไม่นิยมก็ได้

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา

ทางออกประเทศไทยคือการสร้างกฎกติกาใหม่

“การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ใช่ทางออก ถ้าเราไม่ได้ทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ ปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้มันไม่ได้เป็นเพียงแค่ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลจากการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบและการคอร์รัปชัน แต่ยังมีเรื่องความขัดแย้งทางความคิดของ 2 ฝ่ายที่เห็นต่างกันจนนำไปสู่ความหวาดระแวง ไม่เชื่อใจ ไม่ไว้ใจอีกฝ่าย”

ทางออกของประเทศไทยก็คือ การปฏิรูปโดยการสร้างกฎกติกาขึ้นมาใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และยอมปฏิบัติตาม เพราะสิ่งนี้จะช่วยแก้ไขได้ทั้งปัญหาความขัดแย้งและความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลกฎกติกาใหม่สามารถช่วยแก้ไขความขัดแย้ง ทำให้คนที่เห็นต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำให้ฝ่ายที่เห็นต่าง สามารถยอมรับได้ ถ้าอีกฝ่ายยอมทำตามกฎกติกาที่ตกลงกัน ตัวอย่างเช่น นโยบายประชานิยม ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย ซึ่งตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเชื่อว่าไม่ได้สร้างโอกาสที่แท้จริงให้กับประชาชนและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มันก็เป็นสิทธิของแต่ละพรรคที่จะเสนอนโยบาย

แต่จะยอมรับได้ ถ้าการดำเนินนโยบายประชานิยมทำตามกฎกติกา มีเหตุมีผล เช่น 1. ไม่มีการเซ็นเช็คเปล่า ไม่มีการทำนโยบายประชานิยมแบบไม่จำกัดวงเงิน เพราะการทำนโยบายแบบนี้ทำให้ไม่สามารถประเมินความคุ้มค่าได้ และรังแต่จะสร้างความหวาดกลัวว่าจะนำไปสู่ภาระหนี้ทั้งกับฝ่ายที่ไม่ได้เห็นด้วย และส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปซึ่งไม่ได้เป็นคนเลือกนโยบายนี้

2. รัฐบาลต้องยอมเปิดข้อมูลทุกด้าน มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะต้องเปิดข้อมูลให้ตรวจสอบเพราะทุกอย่างมาจากภาษี เมื่อประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีเลือกไม่ได้ว่าจะจ่ายภาษีให้โครงการไหน ไม่จ่ายภาษีให้โครงการไหน รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะเลือกเปิดเผยบางเรื่อง และไม่เปิดเผยในบางเรื่องได้

3. มีการสร้างกลไกความรับผิดรับชอบ (Accountability) ในกรณีที่โครงการสร้างความเสียหาย จะต้องสามารถระบุชื่อผู้รับผิดชอบได้ เพราะไม่ว่าระบบการติดตามและการประเมินผลจะดีเพียงใด หากไม่มีผู้รับผิดรับชอบ รายงานจากการติดตามและประเมินผลก็จะเป็นเพียงแค่กระดาษเท่านั้น

จริงๆ ถ้ามองย้อนไปในอดีต โครงการอย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งก็เป็นโครงการประชานิยม แต่เมื่อสามารถควบคุมการใช้งบประมาณในแต่ละปีตามค่าใช้จ่ายรายหัวที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ มีข้อมูลเปิดเผยให้คนสามารถตรวจสอบได้ ก็ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้

สำหรับโครงการที่รับไม่ได้อย่างเช่น รับจำนำข้าว ก็จะเห็นว่าไม่เข้ากฎกติกาที่กล่าวมาเลยสักข้อ ทั้งใช้งบประมาณแบบไม่จำกัดวงเงิน ทั้งพยายามปกปิดข้อมูลงบกำไรขาดทุนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย แล้วจะให้คนที่ไม่เห็นด้วยยอมรับได้อย่างไร

ในทางกลับกัน การไม่ทำตามกฎกติกาอาจทำให้เรื่องบางเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยกลายเป็นเรื่องที่เห็นต่าง อย่างเช่น เรื่องน้ำซึ่งที่จริงทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน แต่เมื่อฝ่ายที่เสนอไม่ทำตามกฎกติกาที่มีเหตุมีผล กระบวนการก็ผิดไปจากขั้นตอนปกติ การทำประชาพิจารณ์ก็ไม่ทำตามหลักการที่ยอมรับ แม้ในบางพื้นที่จะมีคนคัดค้านมากมายแต่ฝ่ายที่เสนอก็ยังยืนยันเสียงแข็งว่าโครงการนี้จะต้องดำเนินการต่อไป ทำให้สุดท้ายแล้วเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าต้องทำ ก็ถูกมองเป็นเรื่องการใช้อำนาจไม่ชอบและถูกคัดค้านจนตกไปในที่สุด

นอกจากนี้ กฎกติกายังช่วยแก้ปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลจากการคอร์รัปชัน สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำตอนนี้ก็คือ การสร้างความชอบธรรมของตัวเองกลับมาให้ได้ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ ต้องไม่ใช่เพียงแค่การพูดว่าจะทำการปฏิรูป แต่แผนปฏิรูปนั้นจะต้องมีกฎกติกาที่ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเชื่อมั่นว่าแผนปฏิรูปจะถูกนำไปปฏิบัติและได้ผลจริง

ดังนั้น แผนปฏิรูปที่รัฐบาลเสนอต้องมีเป้าหมาย รูปแบบที่ชัดเจน สามารถติดตามได้ ตรวจสอบได้ เช่น โครงการ 2 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องประกาศชัดว่าจะยอมเปิดเผยข้อมูลทุกด้าน ยอมให้มีการตรวจสอบ/ประเมินผลโดยผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกและองค์กรอิสระ อย่างเช่นภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน หรือรัฐบาลต้องประกาศว่าจะทบทวนหลักเกณฑ์ของนโยบายประชานิยมให้เป็นไปกฎกติกาซึ่งสมเหตุสมผลตามที่ได้กล่าว

“การเคารพกฎกติกาจะช่วยสร้างความ ชอบธรรมและการยอมรับ เหมือนกับการแข่งฟุตบอล ถ้าทีมที่ชนะ เล่นโดยการฝ่าฝืนกติกาที่วางไว้ หรือแก้กติกาเพื่อให้ฝ่ายตัวเองชนะ ไม่ว่าทีมที่ชนะจะมีแฟนบอลเยอะแค่ไหน หรือเล่นดีเพียงใด อีกฝ่ายก็ไม่อยากจะร่วมแข่งด้วย และไม่ยอมรับชัยชนะนั้น สุดท้ายคนที่ต้องผิดหวังที่สุดก็คือเหล่าบรรดาแฟนบอลทั้งสองฝ่าย”

 

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส

รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

สถานการณ์การเมืองปัจจุบันถึงแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติ ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีทางออกอย่างไรนั้น คิดว่าในวิกฤติ ยังมีแง่มุมที่ดีคือการที่ผู้คนตื่นตัวในปัญหาคอร์รัปชัน เห็นว่าเป็นปัญหาในระยะยาว ซึ่งจะต้องให้พลังมวลชนเหล่านี้ไปกระตุ้นให้การเมืองใหม่ นอกจากระบบตรวจสอบปัจจุบันที่เหมือนแมวไล่จับหนู

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันนอกจากพลังมวลชนแล้ว ยังมีพลังจากภาคเอกชน โดยเฉพาะ 7 องค์กรภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งต้องใช้พลังของเอกชนเหล่านี้มาเป็นตัวกระตุ้นนโยบายของภาครัฐ หรือนโยบายของพรรคการเมืองที่จะออกมาเน้นเรื่องนโยบายระยะยาวให้มากขึ้น เพราะกลุ่มภาคเอกชนเป็นผู้ที่ต้องการนโยบายระยะยาวอย่างแท้จริง รวมไปถึงให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐมากขึ้น เพราะขณะนี้ภาครัฐกับการเมืองอยู่ในภาวะอ่อนแอ

การออกนโยบายมาหาเสียงของพรรคการเมืองในครั้งต่อไป พลังมวลชนและภาคเอกชนจะต้องช่วยกันบีบให้นักการเมืองแข่งขันกันคิดและนำเสนอเรื่องนโยบายระยะยาวที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ต่อไปใครจะออกนโยบายสาธารณะในอนาคต จะต้องมาดีเบตกันถึงต้นทุนและประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งที่ผ่านมามักจะพูดถึงแต่เรื่องประโยชน์ เช่นนำเสนอประโยชน์ของนโยบายรับจำนำข้าว หรือประกันราคา แต่ต้นทุนคุ้มหรือไม่กลับไม่มีใครตอบคำถามหรือพูดถึง ต่อไปใครเสนอนโยบายต้องบอกด้วยว่าเอาเงินจากที่ไหน และกลไกจะทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะคิดนโยบายอย่างเดียวแล้วไปหาทางออกกันทีหลัง ประชาชนต้องมารับภาระ

อย่างไรก็ตาม นอกจากพรรคการเมืองจะต้องนำเสนอนโยบายเรื่องการลดปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ว่าในทางปฏิบัติจะดำเนินการอย่างไรแล้ว พรรคการเมืองควรวางนโยบายด้านเศรษฐกิจระยะยาว ไม่ว่าจะเกิดการเลือกตั้งใหม่ หรืออะไรที่จะเดินหน้าต่อไปทางการเมือง ควรจะต้องตอบโจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจดังนี้คือ

ประการแรก อยากให้เน้นเรื่องที่ประเทศไทยมีปัญหาและไม่ได้ทำมานานคือการลงทุนของประเทศ ซึ่งก่อนปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การลงทุนของประเทศ ซึ่งรวมทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทุกวันนี้เหลือสัดส่วนอยู่แค่ 20% ของจีดีพี และเป็นการลงทุนภาครัฐเพียงแค่ 5% ตรงนี้เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีการลงทุนระยะยาวมากขึ้น

ประการที่ 2 เรื่องการศึกษา จะทำอย่างไรให้แรงงานงานไทยที่นับวันโครงสร้างประชากรจะทำให้มีวัยแรงงานน้อยลง อัตราการเกิดอยู่ที่ 1% จะทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ระยะยาวที่พรรคการเมืองควรจะแข่งกันเรื่องการศึกษาและตอบโจทย์เรื่องแรงงานของประเทศว่าต้องการแรงงานประเภทไหนและจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาไม่มีใครตอบโจทย์นี้เลย

โจทย์ข้อที่ 3 คือเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ทุกวันนี้สัดส่วนของผู้สูงอายุในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 13% ของประชากร อีกไม่ถึง 15 ปี จะขึ้นมาอยู่ที่ 20% หรือ 1 ใน 5 ของประชากร ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะฉะนั้นต้องเริ่มตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะมีนโยบายดูแลคนชราอย่างไร ทั้งเรื่องระบบการออมและสวัสดิการเพื่อไม่ให้เป็นภาระของประเทศ

ประการที่ 4 เรื่องการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำเรื่องการกระจายรายได้สูงมาก คนรวยที่สุด 20% มีสัดส่วนรายได้รวมกันคิดเป็น 55% ของรายได้รวมทั้งหมดของประเทศ ส่วนคนจนที่สุด 20% แรกกินสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 5% สังคมไทยเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะแก้อย่างไร

สุดท้าย เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือ เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ปัจจุบันประเทศไทยจะต้องมีการแข่งขันกับต่างประเทศรุนแรงมากขึ้น จากการเปิดเสรีทางการค้าโดยเฉพาะการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 จะมีการแข่งขันมากขึ้นทั้งด้านการค้า การเงิน การลงทุน พรรคการเมืองต้องตอบโจทย์นโยบายในเรื่องเหล่านี้ว่าจะทำอย่างไร

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์
ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affair (SIGA) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“การให้ความเห็นต่อทางรอดประเทศไทยในครั้งนี้ถือว่าลำบากมาก เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ และคิดว่าต้องช่วยกันหาทางออกให้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผมคารวะเขาเพราะเป็นคนกล้าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตัวผมเองก็ไปร่วมชุมนุมด้วยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพียงผมไปเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ไม่ได้เชื่อเรื่องสภาประชาชน”

คำถามคือเรายังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่หรือไม่ ถ้าใช่ ต้องอย่าดึงท่านลงมาการเมือง อย่าดึงฟ้าต่ำและอย่าล่วงละเมิดท่าน ขณะเดียวกันต้องปกป้องและปรับเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตย ทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการ

ดังนั้น ก็ต้องยึดกติกา Rule of Law หรือหลักนิติธรรม ไม่ใช่หลักนิติวิธี หรือ Rule by Law คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและเป็นข้ออ้าง และไม่ใช่ Rule by กปปส.เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่สอดคล้องไม่ตอบโจทย์ ก็สามารถปรับเปลี่ยนไส้ในด้วยการ “ปฏิรูป” ได้ ด้วยการ “ยึดระบอบ เปลี่ยนระบบ”

ขณะที่ประชาชนต้องเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวจากประชาธิปไตยแบบงานอดิเรก (Part-time Democracy) คือมาเฉพาะเพื่อเลือกตั้งและหมดหน้าที่ เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มเวลา (Full-time Democracy) และเป็นเสรีชนที่ไม่อยู่ใต้ใครและต้องไม่อยู่เหนือใครด้วย

ตอนนี้มีสิ่งที่เห็นประจักษ์คือ การตื่นตัวของพลเมือง ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง และพลังเงียบ รวมทั้งการวางตัวเป็นกลางน่าชื่นชมของกองทัพ ทั้งที่เมื่อก่อนจะอยู่ในวงจรของการปฏิวัติรัฐประหาร ประชาธิปไตยเทียมและประท้วงต่อต้าน แต่ก็มีสิ่งที่ยังไม่ประจักษ์ คือ การพัฒนาทางการเมืองที่มีผู้ชุมนุมออกมาในครั้งนี้ ยังมีความคิดที่หลากหลาย แต่ว่านายสุเทพ พยายามเหมาโหลว่าคิดเหมือนกันทั้งหมด หรือกรณีการหยิบยกการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่บิดเบือน เพราะธรรมนูญตอนนั้นให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งได้

นอกจากนั้น ประสบการณ์ในอดีต เราไม่เคยมีรัฐบาลแต่งตั้งชุดไหนประสบผลสำเร็จ และตกลงแล้วเราต้องการ “รัฐบาลโดยประชาชน” คือที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ “รัฐบาลเพื่อประชาชน”ที่มาจากพระราชทาน และถ้าเป็นเช่นนี้จะเกิดวงจรอุบาทว์ คือ มีรัฐบาลเลือกตั้ง และรัฐบาลแต่งตั้ง หมุนเวียนไปไม่รู้จบ ส่วนเรื่องความเป็นกลางก็ต้องถามว่าคืออะไร เป็นความเป็นกลางของใคร และคนที่ลำบากใจคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ส่วนประเด็นสำคัญตอนนี้ ทางออกของประเทศไทย คืออะไร ก็ต้องกลับมาดูระบอบประชาธิปไตย ที่ต้อง “ปกป้อง” ด้วยการยึดกติกา เมื่อเกิดความไม่ชอบธรรมก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภา และ “ปรับเปลี่ยน” ด้วยการยึดระบอบ ปรับระบบ และปฏิรูป คือ ถ้าเชื่อตามนี้ เรายังสามารถปฏิรูประบบให้สอดรับกับเงื่อนไขหรือการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

คำถามคือทั้ง 2 เรื่อง “ปกป้อง” และ “ปรับเปลี่ยน” ต้องไปด้วยกันอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องโยงกันจนเป็นเงื่อนไขหรือไม่ คือระหว่าง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” หรือเราสามารถทำทั้ง 2 อย่างไปพร้อมๆกัน และต้องถามว่าเราเชื่อในการปรับระบบภายในระบอบ หรือเชื่อในการปรับระบบจากนอกระบอบ

ต่อมาคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างระบอบทุนนิยมกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง ซึ่งโดยธรรมชาติทุนนิยมครอบงำประชาธิปไตยอยู่แล้ว สำหรับประเทศไทยมี 4 ปัจจัย คือ 1.ระบอบการเมืองการปกครองถูกครอบงำด้วยระบบอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์นิยม อำนาจนิยม 2.ระบอบเศรษฐกิจ สังคม ถูกครอบงำด้วยระบบวัตถุนิยม บริโภคนิยมและสุขนิยม 3.ความเป็นธรรมในสังคมไม่มี 4.คุณธรรม จริยธรรมอ่อนแอ ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ทำให้เกิดคอร์รัปชันที่ดาษดื่น ความเหลื่อมล้ำที่สุดโต่ง และความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากการไม่ยึดกติกา และมาจากการไม่คิดปฏิรูปอย่างจริงจัง

ดังนั้น ทางออกประเทศไทย คือ 1.ยึดกติกา ไม่ใช่ไม่พอใจก็ล้มกระดานอยู่ตลอดเวลา 2.ปฏิรูปอย่างจริงจัง ไม่ใช่ไฟไหม้ฟางอีก

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปต้องใช้เวลา ต้องผ่านกระบวนการตระหนัก เรียนรู้ เท่าทัน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะระบอบประชาธิปไตยต้องตอบโจทย์ 3 ข้อนี้มากที่สุด คือ ทำให้ทุกคนเคารพกติกา ปลูกจิตสำนึก และการมีส่วนร่วม

ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำจากนี้ไป คือ การปฏิรูปทั้งการเมือง กฎหมายเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการปฏิรูปวัฒนธรรมและระบบคุณค่า แต่ต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปเรื่องต่างๆต้องใช้เวลา คงไม่ใช่แค่เพียงที่นายสุเทพบอกว่า ปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้งแล้วก็จบกันไปเท่านั้น แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งคือการต่อต้านคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ จะต้องเข้าใจด้วยว่าประชาธิปไตยมีหลายแบบ ไม่ใช่แบบเดียว ที่ผ่านมาเราไปเน้นประชาธิปไตยตัวแทน แต่จริงๆแล้วมีทั้งประชาธิปไตยทางตรง หรือการเมืองท้องถิ่น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เช่น กรณีที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด และประชาธิปไตยตรวจสอบรอบด้าน ซึ่งผู้ชุมนุมที่มีอยู่ปัจจุบัน ต่อไปควรพัฒนาเป็นสมัชชาต่อต้านคอร์รัปชัน 3 บทบาท คือ เฝ้าระวัง ประณามตำหนิ และประเมินผลนักการเมือง

ขณะที่การปฏิรูปจะแบ่งออกเป็น 1.ต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่ การตั้งสมัชชาต่อต้านคอร์รัปชันภาคประชาชน หรือการตั้งองค์กรพิเศษแบบประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ขึ้นมาดูแล 2.การปฏิรูปกฎหมายและหลักปฏิบัติที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การจัดสรรทรัพยากร และการจัดทำรัฐสวัสดิการแทนที่นโยบายประชานิยม 3.การปลูกฝังระบบคุณธรรม จริยธรรมใหม่ ให้คนรู้จักเต็ม รู้จักพอ และรู้จักแบ่งปัน และคนไทยต้องไม่โง่ จน เจ็บ อีก และต้องทำให้พลเมืองมีความตื่นตัว กินดีอยู่ดีและมีการศึกษาที่ดี

นายสุวิทย์กล่าวว่า ขอกลับไปที่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ กษัตริย์ที่ทรงธรรม ซึ่งเรามีแล้ว มีประชาชนที่ตื่นตัวคือสถานการณ์ตอนนี้ และมีรัฐบาลที่น่าเชื่อถือและเป็นตัวแทนของประชาชนแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้ที่ยังขาดอยู่และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ทำลายตัวเองเรื่องความชอบธรรมไปแล้ว

สำหรับนายสุเทพ มี 4 ข้อให้คิด คือ 1.อีกฝ่ายที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีความชอบธรรมเสมอไป เช่นเดียวกับที่คุณว่าฝ่ายตรงข้ามโกง ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่โกง 2.นายสุเทพกำลังล้ำเส้นระหว่างอำนาจกับกฎหมาย 3.นายสุเทพเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่จริงหรือ คนส่วนใหญ่มาต่อต้านคอร์รัปชันและความไม่ถูกต้อง อาจไม่ได้เห็นด้วยกับสภาประชาชนและรัฐบาลมาตรา 7 และ 4.จะเอาคนเสื้อแดงไว้ตรงไหน และถ้าเสื้อแดงออกมาบ้างก็ไม่จบ

สรุปแล้วต้องใช้กระบวนการทางจิตวิญญาณทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมที่ไม่น่าไว้ใจไปสู่สังคมที่น่าวางใจ คำถามคือคุณจะเชื่อถือ “คนกลาง” ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ หรือคุณจะเชื่อถือ “ระบอบประชาธิปไตย”

“ถ้าเปรียบเทียบตอนนี้นายสุเทพเป็นคนสีเทาแต่มีความกล้า จุดยืนผมเชื่อในระบอบ เพราะถ้าไม่เชื่อก็จะเกิดเรื่องมีระบอบและล้มระบอบเวียนไปมา ฉะนั้น อยากให้คนดีในประเทศไทยที่มีอยู่เยอะ กล้าที่จะออกมา เช่น ออกมาสู่ระบบการเลือกตั้ง แล้วประเทศไทยจะได้การเมืองที่ดี ไม่ใช่รอแต่ฟ้าประทาน”


เผยแพร่ครั้งแรก: ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 16 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “ระดมสมอง หาทางรอดประเทศไทย ปฏิรูประบบ ยึดระบอบประชาธิปไตย”