จำนำข้าว 2 ปี ค่าเสื่อมหมื่นล้าน

ปี2013-12-24

“ทีดีอาร์ไอ” ประเมินค่าเสื่อมข้าวในสต๊อกรัฐบาล 2 ปีการผลิตกว่าหมื่นล้าน  ยังไม่นับรวมค่าเสื่อมจากโรงสีขี้ฉ้อบางรายที่นำข้าวใหม่ออกไปขาย เอาข้าวเก่ามาซุกแทน ด้านผู้ส่งออกลุ้นรัฐบาลใหม่กล้าเลิกจำนำข้าว หวังช่วยเพิ่มขีดแข่งขันทันที

601

ข้างนักวิชาการสั่งจับตาข้าวหอมมะลิไทยตกที่นั่งลำบาก ข้าวหอมเวียดนาม-เขมร ประกาศท้าชนเต็มสูบ โรงสีแฉแม้ยุบสภาแต่พาณิชย์ยังแอบระบายข้าวแบบลับๆ เร่งหาเงินจ่ายชาวนาโค้งสุดท้าย

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” กรณีการประเมินค่าเสื่อมคุณภาพข้าวจากโครงการรับจำนำของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณทั้งสิ้น 28.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.15 แสนล้านบาท หากเก็บไว้ในคลังกลางแบบปกติ คือไม่มีห้องเย็นรักษาอุณหภูมิหรือระบบ airtight จะทำให้ข้าวเหลืองและมีมอด เช่น ใน 3 เดือนแรก ดัชนีความขาวจะลดลงจาก 51.5% เหลือ 49.5% แมลงจะเพิ่มขึ้น 23.2 ตัวต่อกิโลกรัม  ถ้าเก็บไว้ 6 เดือน ความขาวจะลดลงเหลือ 49% และแมลงจะเพิ่มขึ้นเป็น 90 ตัวต่อกิโลกรัม  หากสมมติว่าปัญหาดังกล่าวทำให้มูลค่าข้าวลดลง 5% ต่อปี หากเก็บข้าวไว้เกิน 2 ปี และไม่เร่งระบายข้าวออกมาจะมีค่าเสื่อมไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท  ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่มีโรงสีบางรายนำข้าวใหม่คุณภาพดีออกไปขาย แล้วนำข้าวเก่ามาสวมแทนไว้ในโกดัง ค่าเสื่อมจะยิ่งมากกว่านี้

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ ที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการจัดการสต๊อกข้าว (คาดจะมีราว 17-18 ล้านตันข้าวสาร) โดยต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในรูปองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบโกดังข้าวเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลอ้างมาตลอดว่าเป็นความลับ และไม่สามารถอธิบายได้ว่าจริงๆ แล้วสต๊อกข้าวเหลือเท่าไร รวมถึงปริมาณข้าวที่หายไปจากการระบายข้าวถุง เพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพผู้บริโภค อย่างไรก็ดีจากการประเมินเบื้องต้นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะได้พรรคเดิม หรือได้อีกขั้วหนึ่งเป็นแกนนำ คาดว่าจะยังไม่รีบดำเนินการรับจำนำทันที  เพราะเห็นปัญหาอยู่แล้วว่าในเวลานี้โครงการขาดสภาพคล่องทางการคลังอย่างหนัก

ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่ที่เข้ามา แม้จะได้ขั้วเดิมหรือขั้วใหม่เป็นรัฐบาล หากมีการปรับเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือชาวนาด้วยวิธีอื่น โดยไม่รับจำนำข้าวใหม่เพิ่ม(ยกเลิกจำนำ)และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด จะทำให้ผู้ส่งออกข้าวมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น จากที่ขณะนี้ต้องรอลุ้นว่าหลังตรุษจีนว่าจะมีออร์เดอร์เข้ามาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะขณะนี้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกมีความใกล้เคียงกับราคาข้าวเวียดนาม  บางช่วงราคาก็ต่ำกว่า อย่างไรก็ตามสต๊อกข้าวของรัฐบาลไทยที่ยังมีมากยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกยังทรงๆ และมีแนวโน้มลดต่ำลง

“ภาพรวมส่งออกข้าวปี 2556 ข้าวหอมมะลิ เป็นพระเอก ส่วนข้าวนึ่งมาดีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากรัฐบาลบังกลาเทศมีการลดภาษีนำเข้า จึงเป็นตัวผลักทำให้พ่อค้ามีการสั่งนำเข้าข้าวนึ่งไทยเพิ่มขึ้น ก็หวังว่ารัฐบาลบังกลาเทศจะขยายเวลาต่อไปอีกจะทำให้ปีหน้าโอกาสข้าวนึ่งจะกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง”

ขณะที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ  กล่าวว่า ปริมาณข้าวในสต๊อกของไทยขณะนี้มีอยู่ประมาณ 17-18 ล้านตันข้าวสารหรือ 17% ของสต๊อกข้าวโลก นับเป็นลำดับ 3 ของโลกรองจากจีนและอินเดีย ในแต่ละปีจะมีข้าวมาสมทบในสต๊อกเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะรัฐระบายไม่ออก หากจะเคลียร์สต๊อกให้เหลือประมาณ 2 ล้านตันได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-7 ปี และหากจะล้างสต๊อกให้ได้เร็วกว่านี้ข้าวส่งออกของไทยจะต้องมีราคาต่ำกว่าราคาข้าวของเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดีคุณภาพข้าวไทยในสต๊อกของรัฐกำลังเป็นที่กังขาของผู้บริโภคภายในและต่างประเทศเป็น เครื่องบ่งชี้ว่าค่าความจำเพาะด้านคุณภาพของข้าวไทยที่เคยมีเหนือกว่าเวียดนามกำลังหายไป

“ล่าสุดกัมพูชาชนะการประกวดข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน เวียดนามเองก็ให้ความสนใจในการปรับปรุงคุณภาพ และขยายการผลิตข้าวหอมและรวมถึงข้าวหอมมะลิ105 ทั้งเพื่อตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อข้าวหอมมะลิไทย”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 22-25 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “จำนำข้าว 2 ปี ค่าเสื่อมหมื่นล้าน”