“นิพนธ์ พัวพงศกร” แนะออกกฎหมายพิเศษ แก้ปัญหาจำนำข้าว

ปี2013-12-19

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐตรวจสต๊อกข้าว และออกกฎหมายพิเศษเผาข้าวเน่า ถ้าพบคาโกดัง เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน-ทุจริต ชี้ถ้าจะยกเลิกรับจำนำ ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักดิบ เหตุราคาข้าวทรุด พ่อค้าจ้องกดราคาซื้อ ชาวนาประท้วงใหญ่แน่ นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เผยชาวนาจำนำใบประทวนกับนายทุนหาเงินใช้หนี้ หลังเบิกเงิน ธ.ก.ส.ไม่ได้ ด้านพาณิชย์ยันรัฐเคลียร์เงินให้จบก่อนปีใหม่แน่นอน

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยระหว่างการประชุมเวทีข้าวไทย 2556 หัวข้อ “อนาคตข้าวไทยในเวทีการค้าข้าวโลก” จัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อสะสางโครงการรับจำนำข้าวคือการตรวจสอบปริมาณสต๊อกข้าวในโครงการทั้งหมดของรัฐบาล เพื่อลดการขาดทุนและการทุจริต ซึ่งไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลจำเป็นจะต้องทำเรื่องนี้โดยด่วน เนื่องจากเป็นตัวสร้างภาระงบประมาณ เป็นค่าจัดเก็บมหาศาล ทำให้การระบายข้าวของไทยมีปัญหา และเป็นแหล่งทุจริต และการขาดทุนขนาดใหญ่ “วันนี้ตัวเลขข้อมูลสต๊อกข้าวทั้งหมดยังมืดดำ ตัวเลขที่รัฐบาลชี้แจงขาดความน่าเชื่อถือ เพราะรัฐบาลประกาศว่าขายข้าวได้เป็นจำนวนมาก แต่กลับส่งคืนเงินให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้น้อย ไม่สอดคล้องกัน”

สำหรับการตรวจสต๊อกโครงการรับจำนำข้าวนั้น ขอเสนอให้มีการตรวจสอบตัวเลขสต๊อกทั้งในทางบัญชี และสต๊อกข้าวจริงที่อยู่ในโกดัง เพื่อจะได้รับรู้สภาพที่แท้จริงว่าข้าวที่เป็นข้าวเก่า หรือข้าวใหม่ปริมาณเท่าไรแน่ เมื่อรู้ข้อมูลที่แน่ชัด จะทำให้การวางแผนเพื่อระบายข้าวทำได้ดีขึ้น เพราะหากรู้ว่าข้าวส่วนใดเป็นข้าวเน่า ก็ต้องยอมรับสภาพ โดยอาจจะต้องออกกฎหมายพิเศษขึ้นมา เพื่อเผาทำลายข้าวเสื่อมสภาพ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตัวเลขสต๊อกข้าวรัฐที่มีอยู่สูงเกินจริง จนถูกผู้ซื้อกดราคารับซื้อ “รัฐบาลเคยทำท่าขึงขังออกตรวจสต๊อกข้าวในโครงการรับจำนำ ผลสุดท้าย กลับไม่ยอมเปิดเผยรายงานการตรวจสต๊อกข้าวให้ประชาชนรับทราบ นอกจากนี้ จะต้องมีการตรวจสอบด้วยว่า รัฐบาลขายข้าวได้จริงเป็นเงินเท่าไหร่กันแน่ และมีกี่ครั้งที่ขายข้าวได้แล้ว แต่ไม่ได้รับเงิน เพราะถ้าได้รับเงินจากการขายข้าวได้จริง ตัวเลขเงินส่งคืน ธ.ก.ส.จะต้องมีจำนวนมากกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นของโครงการรับจำนำข้าว เพราะหากยกเลิกโครงการทันที จะทำให้ชาวนาต้องขายข้าวตามราคาตลาด อาจถูกกดราคารับซื้อ ทำให้ขายได้ราคาต่ำกว่าปัจจุบันมาก และชาวนาอาจรวมตัวกันปิดถนนประท้วงครั้งใหญ่ เพราะมีชาวนาที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น 1.7 ล้านครัวเรือน จากทั้งหมดประมาณ 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นชาวนารายใหญ่ มีฐานะปานกลางไปจนถึงร่ำรวย กลุ่มคนเหล่านี้มีพลังในทางการเมืองค่อนข้างมาก และนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกจะกลายเป็นนโยบายที่สร้างแรงกดดันทางการเมืองขนานใหญ่ต่อทุกรัฐบาล ที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่อไปจากนี้ “ปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวจะเป็นบทเรียนสำคัญของทุกพรรคการเมืองว่า การออกนโยบายจะหวังเพียงคะแนนเสียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องศึกษาให้รอบคอบ เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย”

นายนิพนธ์กล่าวว่า ในที่สุดประเทศไทยจะต้องยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้คุณภาพข้าวไทยลดลง ก่อนที่จะเสียตลาดถาวร เพราะแนวโน้มตลาดข้าวโลกในช่วงไม่เกิน 10 ปี อัตราการบริโภคข้าวของประชากรโลกเติบโตลดลง ปัจจุบันมีแอฟริกาทวีปเดียวเท่านั้นที่บริโภคข้าวเพิ่มขึ้น แต่ตลาดส่วนใหญ่บริโภคข้าวลดลง เพราะมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นกว่าในอดีต จึงหันไปบริโภคอาหารชนิดอื่นๆ เมื่อบริโภคข้าวน้อยก็ต้องการข้าวคุณภาพดีเท่านั้น

ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ชาวนาเดือดร้อนมาก เพราะนำข้าวไปเข้าโครงการแล้วได้รับใบประทวนมา แต่นำไปเบิกเงินที่ ธ.ก.ส.ไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้หาเงินมาจ่ายให้ ธ.ก.ส. ทำให้หลายรายนำใบประทวนไปจำนำกับนายทุน เพื่อนำเงินไปจ่ายเป็นค่าเช่านา ค่าปุ๋ย ที่ติดหนี้ไว้ ยิ่งไปกว่านั้นมีนักการเมืองในพื้นที่บอกชาวนาว่า ใครสนับสนุนพรรครัฐบาลจะได้เงินค่าจำนำข้าวก่อน ส่วนนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นโยบายสินค้าเกษตรที่เหมาะสมที่สุดคือ การไม่บิดเบือนราคาตลาด ต้องหาทางทำให้ชาวนาอยู่ได้โดยเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้คัดเลือกชาวนา 100 คน จาก 10 จังหวัด ที่ปลูกข้าวนาปรังได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาเป็นต้นแบบให้ชาวนาคนอื่นๆ เพื่อให้มีกำไรมากขึ้น

ขณะที่นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับและดูแลการรับจำนำข้าวว่า กรณีที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินนั้น ขณะนี้ ธ.ก.ส.กำลังเร่งจ่ายให้แล้วเสร็จก่อนปีใหม่ ซึ่งขณะนี้ มีเงินที่จะจ่ายเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นแล้วประมาณ 60,000 ล้านบาท ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 56/57 (รอบแรก) ที่จะสิ้นสุดสิ้นเดือน ก.พ.57 นั้น ยืนยันว่ามีเงินเพียงพอแน่นอน เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้แล้ว 270,000 ล้านบาท สำหรับการเปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐ ผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) วันที่ 20 ธ.ค.นี้นั้น จะเปิดให้ผู้เข้าร่วมประมูลตรวจสอบข้าวในโกดังได้ตั้งแต่วัน ที่ 13-19 ธ.ค.นี้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 17 ธันวาคม 2556 ในชื่อ “แนะออกกฎหมายเผาข้าวเน่า หวังล้างสต๊อกรัฐไม่ถูกกดราคาซื้อ-แก้ทุจริต”