“เสกสรรค์” นำทุกสีป้อง ปชต.-เลือกตั้ง ไม่เอารุนแรง-ปว. ดันปฏิรูปในระบบ

ปี2014-01-13

ฝั่งธนลูกโป่งว่อน

ลายจุดนัด”เปิดไฟ”

3จว.ใต้หนุน 2 กพ.

“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”เปิดตัวกลุ่ม”2 เอา 2 ไม่เอา”นำนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมทุกสีสู้ปฏิวัติ คัดค้านความรุนแรง หวั่นนองเลือดเกิดสงครามกลางเมืองเหมือนหลัง 6 ต.ค.19 ที่สู้รบกันกว่า 50 จังหวัด หนุนปฏิรูปประเทศคู่เลือกตั้ง ฝากคำถามถึงสุเทพ-ประยุทธ์-ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ขณะที่กิจกรรมจุดเทียนเพื่อสันติ หนุนเลือกตั้ง สว่างไสวทั่วประเทศ ดร.เจษฎานำชาวจุฬาฯจุดตะเกียงให้แสงสว่างสังคมไทย มุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ครึ่งหมื่นละหมาดให้กำลังใจรัฐบาลจากประชาธิปไตย

 

เปิดตัวเครือข่าย” 2 เอา 2 ไม่เอา”

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 ม.ค. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน อาทิ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นายเกษียร เตชะพีระ นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นายศรีสมภาพ จิตภิรมย์ศรี นายจอน อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วยนักเคลื่อนไหวทางสังคม อาทิ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และ นายกฤษกร ศิลารักษ์ รวมตัวกันในนาม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” แถลงคัดค้านรัฐประหาร คัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย

โดยร่วมกันอ่านแถลงการณ์เครือข่ายฯ สรุปว่า ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่มีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ และการรัฐประหาร รวมทั้งทำลายโอกาสปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย พวกเราเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรและบุคคลต่างๆ วิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ จึงมีจุดยืนและข้อคิดเห็นต่อประชาชนทุกฝ่ายดังนี้

คัดค้านรัฐประหาร-วิธีนอกระบบ

1.คัดค้านการรัฐประหาร พวกเราคัดค้านการแก้ไขวิกฤตการเมืองด้วยวิถีทางนอกระบบ การรัฐประหารไม่สามารถยุติความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองและประชาชนฝ่ายต่างๆ ได้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นความรุนแรงระหว่างผู้ก่อรัฐประหารกับประชาชนด้วยกันเอง นำไปสู่สงครามกลางเมืองและโศกนาฏกรรมที่มิอาจเยียวยา

คัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ

2.คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ จากทุกฝ่าย ไม่ว่าจากประชาชนกลุ่มใด หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ขอยืนยันว่า สิทธิการแสดงความคิดเห็นและจัดกิจกรรมการเมืองโดยสันติ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่ไม่ควรถูกคุกคามด้วยความรุนแรง และบรรยากาศแห่งความกลัว นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุขของสังคม ต้องเป็นไปตามหลักสากล ไม่กระทำเกินกว่าเหตุ และระวังอย่างถึงที่สุดไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน

ควรเลือกตั้ง-ปฏิรูปบนวิถีปชต.

3.เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรม นูญ การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของทุกคน ที่ไม่มีใครหรือกลุ่มใดละเมิดได้ และต้องดำเนินตามกรอบรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย ทั้งนี้ ควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ

4.สนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีทางประชา ธิปไตย ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งดำเนินการได้ทันทีควบคู่กับการเลือกตั้ง การปฏิรูปโดยมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับคนบางกลุ่มไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างแท้จริง การปฏิรูปจึงต้องอยู่บนวิถีทางประชาธิปไตย เช่น ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา การทำประชามติ รวมถึงการติดตาม ตรวจสอบ กดดัน รัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคม

ออกจากวิกฤตโดยไม่นองเลือด

พวกเราเห็นว่า ทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงและให้สัญญาประชาคมที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยไม่กีดกันคนกลุ่มใด เคารพในความแตกต่างหลากหลาย สร้างกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีกลไกตรวจสอบติดตาม เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างฝ่ายการเมืองกับประชาชน และลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ภาวะเผด็จการเสียงข้างมากและเผด็จการเสียงข้างน้อย ทั้งนี้เครือข่ายฯจะจัดเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย (Civic Reform Forum) เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป

สุดท้าย เครือข่ายฯเชื่อมั่นว่า สังคมไทยสามารถก้าวข้ามและออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้โดยไม่นองเลือด หากประชาชนและกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายเคารพและยอมรับกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ตระหนักว่าเราต้องอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นต่าง เพราะทุกคนมีความเสมอภาคในฐานะเจ้าของประเทศ และมีสิทธิที่เท่าเทียมในการร่วมกันปฏิรูปสังคมไทย

“เสกสรรค์”ยึดฉันทามติคนส่วนใหญ่

จากนั้นนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการ อดีตผู้นำนักศึกษา 14 ต.ค. 2516 แสดงความคิดเห็นว่า ส่วนตัวปลีกวิเวกมานาน ไม่อยากยุ่งกับเรื่องภายนอก แต่ในฐานะสมาชิกของสังคม ต้องการเห็นบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข จึงจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมแสดงจุดยืน ความต้องการยกระดับสังคมเป็นเส้นทางปกติของมนุษย์ ที่ผ่านมาเราพยายามปรับปรุงสังคม หรือปฏิรูปสังคมอยู่เป็นระยะ กระแสปฏิรูปที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเครื่องบ่งบอกว่าสังคมต้องการปรับสมดุลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเข้าใกล้จุดหมายของการอยู่เย็นเป็นสุข

นายเสกสรรกล่าวอีกว่า เราต้องตระหนักว่า การปฏิรูปมีทั้งวิธีการและเนื้อหาสาระ ระบอบประชาธิปไตยเป็นผลพวงของการปฏิรูปสังคมในอดีต มาจากความพยายาม กระทั่งเสียเลือดเนื้อที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ในเวลานี้ยิ่งจำเป็นต้องใช้ประชาธิปไตยเป็นอุปกรณ์ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง สงบสุขยิ่งไปกว่าแต่ก่อน เพราะการพัฒนาไปสู่ความหลากหลายทั้งเรื่องผลประโยชน์และความคิดเห็น การรับฟังประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นเรื่องจำเป็น การปฏิรูปประเทศจะมีคนได้รับผล กระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ จึงต้องระมัด ระวัง ไม่สามารถใช้วิธีการนอกประชาธิปไตย เพราะมันหาฉันทามติไม่ได้ และจะได้ไม่คุ้ม การเลือกตั้งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ผู้ที่จะทำหน้าที่จัดการให้เกิดกระบวนการก็คือรัฐบาล สมควรต้องได้ฉันทามติจากคนส่วนใหญ่ก่อน แต่ไม่ใช่การมอบอำนาจให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปทำเรื่องการปฏิรูป ทั้งนี้การปฏิรูปต้องมีการยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ สิ่งเหล่านี้จะทำได้อย่างไรถ้าไม่มีระบอบประชาธิปไตย

ต้องใช้สติ-ปัญญาเลี่ยงรุนแรง

“กระบวนการปฏิรูปจำเป็นต้องปราศจากความรุนแรงมารบกวน ปราศจากระบวนการนอกระบบ ที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ของประชา ธิปไตย ตอนนี้สังคมไทยกำลังเดินอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ เราต้องมีสติ ไม่อนุญาตให้ตัวเองพลัดตกลงไปในหล่มหลุมที่ไม่อาจกลับคืนมา สิ่งที่เราต้องฝากความหวังไว้เพียงอย่างเดียวคือสติและปัญญา เพราะในเวลานี้สภาพของบ้านเมือง เหมือนว่ากลไกไปกันคนละทิศละทาง ประชาชนรู้สึกว้าเหว่ เหมือนไม่มีคนคุ้มครอง ถ้าถึงขั้นที่ประชาชนต้องป้องกันตัวเองก็เป็นเรื่องน่ากลัว ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่งคือสติและปัญญาที่จะถอยห่างจากสถานการณ์เหล่านี้” นายเสกสรรค์กล่าว

นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผอ.สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ กล่าวว่า อยากจะย้ำจากบทเรียนการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ประกอบด้วยคำที่มีความหมายอยู่ 3 คำ คือ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติภาพ สามอย่างนี้ทำให้ความรุนแรงลดลง และนำไปสู่การพูดคุยกันในทางสันติ แม้แต่บีอาร์เอ็นที่เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ก็พูดว่าต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย คือมีรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ยอมรับได้แม้แต่ในพื้นที่ที่มีความรุนแรง การเลือกตั้งเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดในการสร้างความยุติธรรม เพราะว่าคนที่มีการศึกษา ชาติพันธุ์ ศาสนาแตกต่างกัน ทุกกลุ่มทุกเหล่าได้รับการยอมรับพร้อมกันในเวลาเดียวกัน

ตอบคำถามถ้ามีคนตาย

จากนั้นเปิดให้ซักถาม นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักสันติวิธี ตอบคำถามว่าถ้าเกิดความรุนแรงสูญเสียหลายสิบศพขึ้นไปในสัปดาห์หน้า พวกท่านและสังคมจะทำอย่างไรว่า สิ่งที่ต้องทำมี 3 เรื่องต่างกันไปในแต่ละช่วง ช่วงก่อนเกิดความรุนแรง ต้องทำทุกอย่างไม่ให้เกิด ระหว่างเกิดความรุนแรงก็ต้องหาช่องทางปกป้องคนที่บริสุทธิ์ เช่น เด็กผู้หญิงคนชรา หลังจากนั้นต้องมีภารกิจสร้างการสมานฉันท์ เยียวยา สังคมไทยมีบาดแผลมามากแล้ว สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือหาวิธีป้องกันความรุนแรง ไม่อยากให้คนหมดหวังกับสังคมไทย ใครคิดอะไรออกขอให้เสนอ จะได้ไม่หมดหวังแล้วไปหาความรุนแรงเป็นทางออก

“ทุกคนตรงนี้มานั่งอยู่ร่วมกัน ทั้งที่ความสนใจต่างกัน สิ่งที่เราอยากบอกคือ สังคมไทยไม่จำเป็นต้องหมดหวังถึงเพียงนั้น ไม่ต้องหันไปหาวิธีการที่เคยทำคนบาดเจ็บมาแล้ว สังคมเรามันดีกว่านี้ได้ โดยไม่ต้องบอกว่าเราต้องเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ เวลาเราเป็นเพื่อนกันไม่ได้หมายความว่าเราเห็นพ้องต้องกัน แต่เราเตือนกันได้ด้วยมิตรไมตรี ตอนนี้เราปล่อยให้บางอย่างทำลายสายสัมพันธ์เหล่านั้นไป ถ้าไม่มีมิตรภาพ สังคมของเราคงไม่น่าอยู่ ในฐานะปัจเจกชนคิดว่าสังคมไทยยังมีความหวังอยู่ อย่าอนุญาตให้ตัวเองพลัดตกลงไปในหล่มหลุมของความรุนแรง จะสำเร็จหรือไม่ไม่รู้ แต่ต้องลอง” นายชัยวัฒน์กล่าว

บทเรียนสงครามปชช. 50 จว.

ต่อข้อถามว่าถ้าเกิดการรัฐประหาร พวกท่านและสังคมควรจะทำอย่างไร นายเสกสรรค์ ตอบว่า เรื่องนี้ไม่มีใครตอบแทนประชาชนทั้งประเทศได้ แต่ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ แต่ละสถานการณ์ของการรัฐประหารไม่เหมือนกัน บางสถานการณ์นำไปสู่สงครามกลางเมือง เช่น 6 ตุลาฯ 2519 จากนั้นมีสงครามกลางเมืองถึง 50 กว่าจังหวัด ตนไม่อยากเห็นประเทศไทยกลับไปสู่ยุคสมัยนั้นอีก เรายังมีเวลา มีสติ และมีโอกาสเสมอที่จะเลี่ยงสถานการณ์เช่นนั้น เราต้องตั้งสติว่าเราไม่เอาสิ่งเหล่านั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนอกระบบเกิดขึ้นจริง คิดว่าไม่มีใครสามารถคุมสถานการณ์ได้ ไม่ว่าคนทำรัฐประหาร หรือประชาชน เพราะไม่รู้ว่ากลุ่มอื่นๆ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่คาดเดาได้ว่าเป็นสภาพที่อันตราย และกอบกู้ได้ยากมาก

อยากบอก”เทือก-ตู่-ปู-ทักษิณ”

ส่วนคำถามว่าอยากบอกอะไรกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายเกษียรตอบว่า อยากบอกนายสุเทพให้เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ บอกพล.อ.ประยุทธ์ว่าเราคัดค้านรัฐประหาร และบอกน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงพ.ต.ท.ทักษิณว่า ต้องการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย และคัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ นายสุเทพอาจต้องหยุดเป่านกหวีด เพราะถ้ายังเป่าจะไม่ได้ยินเสียงคนอื่น พล.อ.ประยุทธ์ต้องพูดน้อยลง และพูดถึงการรัฐประหารให้น้อยที่สุด ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องหยุดฟังพรรคพวกในเครือข่ายและหันไปฟังประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนที่เห็นต่างจากตัวเอง

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเสริมว่า อยากบอกทุกคน โดยเฉพาะประชาชนว่าทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน ไม่สามารถขจัดอีกฝ่ายออกไปได้ ทางออกมีอยู่ทางเดียว คือต้องเคารพประชาธิปไตยซึ่งไม่ได้มีเพียงเสียงข้างมากอย่างเดียว มีเสียงข้างน้อยด้วย ถ้าใครได้อำนาจรัฐไปควรเคารพเสียงข้างน้อยด้วย ขณะที่ประชาชนควรเรียนรู้และเข้าใจความคับข้องใจของคนที่ยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งด้วย

เดินหน้าขับเคลื่อนเวทีปฏิรูป

ส่วนแนวทางจัดตั้งเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย (Civic Reform) ที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ นางพวงทองอธิบายว่า เราไม่ต้องการเป็นผู้รับเหมาการปฏิรูป แต่เราอยากจัดเวทีให้คนหลากหลายกลุ่มมาพูดคุยกัน ไม่จำเป็นว่าต้องจัดในนามเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา กลุ่มไหนจะแยกไปทำก็ไม่มีปัญหา

ขณะที่นายเกษียรกล่าวเสริมว่า เราต้องการตลาดนัดความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปที่กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ทุกสีได้มาออกความเห็น และต้องการเป็นเวทีสนทนาระหว่างประชาสังคม กับสังคมการเมือง ให้นักการเมืองได้มาคุยกับชาวบ้าน โดยหลังจากนี้เครือข่ายจะประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนอีกครั้ง

เลือกตั้งไปปฏิรูปไปไม่มีคนตาย

“ถ้าเรามีเวทีที่รวมคนทุกกลุ่ม ทุกสี เราจะลดความจำเป็นในการลงท้องถนน ลดความจำเป็นที่จะต้องมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งนี้ มีคนตายแล้ว 4 คน บาดเจ็บอีก 400 กว่าคน ผมไม่รู้ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การปฏิรูปจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ 4 คนที่ตาย จะไม่ได้เลือกตั้ง ไม่ได้ร่วมปฏิรูปแน่ เราต้องการให้มีคนตายเพิ่มอีกหรือ ถ้าไม่ต้องการ ทางออกมี มาร่วมกันเลือกตั้งกันไป ปฏิรูปกันไป ไม่ต้องมีใครตาย เราผิดได้ ล้มเหลวได้ แต่ถ้าเราไม่ตายเรายังแก้ได้ ถ้าเราไม่ตายเราเรียนรู้ได้ เราทะเลาะกันต่อไปได้” นายเกษียรกล่าว

มอบดอกไม้ให้ทหารไม่ปฏิวัติ

วันเดียวกันกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและวารสารการศึกษาปริทัศน์ เชิญชวนกิจกรรมวันเด็ก วันที่ 11 ม.ค. เวลา 10.00 น. รวมตัวหน้ากองบัญชาการกองทัพไทย อ่านแถลงการณ์ มอบดอกไม้ให้ทหารขอบคุณที่ไม่รัฐประหาร ช่วงบ่ายที่หอศิลป์ กทม. สยามสแควร์ เขียนป้าย แสดงความเห็น นั่งสมาธิ และกิจกรรมที่เป็นเซอร์ไพรส์

มุสลิมใต้ครึ่งหมื่นหนุนปชต.

เมื่อเวลา 12.30 น. ที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองผู้ว่าฯ ปัตตานี พร้อมด้วยเครือข่ายผู้นำศาสนา การศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เยาวชนและประชาชนชายแดนภาคใต้เกือบ 5,000 คน ร่วมกันละหมาดฮายัต ขอดุอาว์ภายใต้ชื่อกิจกรรม “การละหมาดฮายัตเพื่อประชาชน มีความสามัคคีปรองดอง ประเทศสงบสันติสุข” เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยแนวทางสันติวิธีที่ถูกต้อง เข้าใจลึกซึ้งถึงรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง

นายอัดสมัน สิเดะ อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานี กล่าวว่า ปัจจุบันภายใต้การดำเนินงานของพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. ร่วมกับผู้ว่าฯ ยะลา ปัตตานี สงขลา นราธิวาสและสตูล ถือเป็นการดำเนินงานที่ถูกต้อง มีความเข้าใจ เข้าถึง และเน้นการพัฒนาทุกภาคส่วน อันจะเป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ พวกเราขอให้กำลังใจรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้งของปวงชนชาวไทยตามระบอบประชาธิปไตย พวกเราสนับสนุนการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย ในวันที่ 2 ก.พ.นี้

เพื่อนสธ.เพื่อปชต.เชียงใหม่

เมื่อเวลา 14.00 น.ที่จ.เชียงใหม่ กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนพ.ภีรเดช สัมมานันท์ แพทย์ร.พ.นครพิงค์เชียงใหม่ พร้อมตัวแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีสมาชิกกลุ่ม 300 คนทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎกติกาบ้านเมือง ตามรัฐธรรมนูญ จะช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ดร.เจษฎานำจุฬาฯจุดตะเกียง

เวลา 17.00 น. ที่ลานพระบรมรูป 2 รัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวจุฬาฯที่รักสันติ-สนับสนุนการเลือกตั้ง หรือกลุ่มขั้วที่ 3 นำโดย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วยอาจารย์ นิสิต พนักงานมหาวิทยาลัย นิสิตเก่าและประชาชนจำนวนมาก ส่วนใหญ่สวมเสื้อสีขาวและชมพูรวมตัวแสดงพลังจุดเทียน ให้แสงสว่างขับไล่ความมืดบอดในสังคมไทย

ทั้งนี้ ผศ.ดร.เจษฎาจุดตะเกียงออกจากคณะมาร่วมกิจกรรม โดยกล่าวว่า เรามาแสดงออกในฐานะกลุ่มคนขั้วที่ 3 ที่มีความคิดคล้ายๆ กัน เพื่อต้องการพื้นที่ที่แสดงให้เห็นว่า มีกลุ่มคนที่ไม่ต้องการความรุนแรง และไม่ได้เป็นฝักฝ่ายที่สุดโต่งในทางการเมือง แต่ต้องการให้เกิดความสงบขึ้นในสังคม แม้ไม่ชอบรัฐบาลแต่ก็ต้องใช้วิธีการที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการสูญเสียและนองเลือด จึงชักชวนกันมาจุดเทียนให้เกิดแสงสว่างขึ้นในสังคมไทย

จากนั้นชู 3 นิ้ว เพื่อสะท้อนพลังว่าเป็นกลุ่มคนขั้วที่ 3 และร่วมกันจุดเทียน ตะเกียง ไฟฉาย ร้องเพลงชาติแล้วสลายตัวไป

แสงสันติภาพสว่างทั่วมข.

เวลา 18.00 น. ที่สวนข้างคอมเพล็กซ์ ม.ขอนแก่น น.ส.ศสิประภา ไร่สงวน นายสมานฉันท์ พุทธจักร น.ส.จุฑามาศ ศรีหัตถะผดุงกิจ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น นำน.ศ.และประชาชนทั่วไปจำนวนมากชุมนุมทำกิจกรรม “จุดเทียน เขียนสันติภาพ เพื่อต่อต้านความรุนแรง” โดยเปิดเวทีเสรีภาพใครขึ้นพูดก็ได้ พร้อมติดป้ายข้อความว่า “พอกันที.. ความรุนแรง สงครามการเมือง อำนาจนอกระบบ” “เดินหน้าเลือกตั้ง เปลี่ยนผ่านอย่างสันติ 2 กุมภาพันธ์ ไปเลือกตั้ง” “ขอแสดงจุดยืนให้หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง” “หยุดความรุนแรงเปิดใจไปเลือกตั้ง” เวลา 19.30 น.ผู้ร่วมกิจกรรมจุดเทียนและยืนสงบนิ่ง จากนั้นเปล่งเสียงว่า ” 1 คน 1 เสียง” ก่อนแยกย้ายกันกลับ

ตะโกน”เลือกตั้ง”กระหึ่มสยาม

เวลา 17.30 น. ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กลุ่มแฟนเพจ “พอกันที! หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง” เครือข่ายสังคมออนไลน์หลายพันคน ทั้งนักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ นักบวช คนงานก่อสร้าง พร้อมใจกันใส่เสื้อสีขาว ร่วมกิจกรรม “จุดเทียน เขียนสันติภาพ” “พอกันที! หยุดความรุนแรง เปิดใจ ไปเลือกตั้ง” ภายในงานมีซุ้มกิจกรรมต่างๆ อาทิ คนไร้สี มีใบหน้า, เข้าคูหา กาตามใจ, การปราศรัย 5 นาที, การอ่านกวี ดนตรี ลำนำ, กำแพง Post-it และอื่นๆ อีกมากมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมจนทะลักขึ้นไปถึงบันไดบีทีเอส และทางเดินสกายวอล์ก รวมทั้งหน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง และบนถ.พระราม 1 ต่างพร้อมใจกันตะโกน “เลือกตั้ง” “2 กุมภา ไปเลือกตั้ง” “พอกันที” ดังกระหึ่มกึกก้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมชูป้าย Respect My Vote 

นายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้ประสานงานจัดกิจกรรม กล่าวว่า ตกใจ และดีใจที่มีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าพวกเราต้องการรักษาสิทธิ์ของตัวเอง ที่ต้องการให้เลือกตั้งเกิดขึ้น และเสมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเราไม่ต้องการเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นทุกรูปแบบ และพร้อมออกไปต่อต้านรัฐประหาร หลังจากนี้หากจะจัดกิจกรรมจะนัดกันผ่านเฟซบุ๊ก

จากนั้นร่วมกันจุดเทียน แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านความรุนแรง และเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตและร่วมตะโกน “เลือกตั้ง” นาน 3 นาที ก่อนแยกย้ายกันกลับ

หนุนสันติ-เลือกตั้งพรึ่บทั่วปท.

สำหรับกำหนดการจัดกิจกรรมเพื่อสันติและประชาธิปไตยของกลุ่มต่างๆ วันที่ 11 ม.ค. เวลา 12.00 น. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด จัดกิจกรรมเปิดไฟ เปิดกรุง โดยรวบรวมอาสาสมัครนำรถเข้าร่วม 100 คัน ที่หน้าสโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดี, เวลา 17.00 น. ชาวเชียงใหม่จัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพ เพื่อหยุดเงื่อนไขสู่ความรุนแรงและรัฐประหาร ที่ข่วงประตูท่าแพ และเขียนไปรษณียบัตรส่งไปยัง กกต. เรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.

เวลา 18.00 น. กลุ่มชาวร้อยเอ็ดปกป้องประชาธิปไตย จัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพ ที่ลานหน้าบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด, กลุ่มม.อ.รักษ์ประชาธิปไตย จัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ ที่ลานพระบิดา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, เวลา 18.30 น.กลุ่มม.อ.ปัตตานีเสรีประชาธิปไตย จัดกิจกรรมจุดเทียน ปกป้องประชาธิปไตย ไม่เอาความรุนแรง เดินหน้าเลือกตั้ง ที่หน้าตึกสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี, เวลา 20.00 น. กลุ่มลูกพระจอม ปกป้องประชา ธิปไตย จัดกิจกรรมส่องไฟให้เจ้าพระยา ขอทางมาเลือกตั้ง โดยล่องเรือจากท่าเอเชียทีคถึงสะพานพระราม 7

สำหรับวันที่ 12 ม.ค. เวลา 17.00 น. กลุ่มน.ศ.ม.ราชภัฏสวนสุนันทาและสวนดุสิต จัดกิจกรรมจุดเทียนให้ความสว่างแก่สันติภาพ หยุดเงื่อนไขความรุนแรง ที่รั้วกำแพงแดงทั้ง 2 สถาบัน, เวลา 18.00 น. สภาน.ศ.ม.ธรรม ศาสตร์ จัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ หยุดเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง ที่สนามฟุตบอล ม.ธรรม ศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ชาวศรีสะเกษจัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ หยุดสร้างเงื่อนไขความรุนแรง ปกป้องประชาธิปไตย ที่ศาลา กลางจังหวัดศรีสะเกษ, เวลา 19.45 น. กลุ่มนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.นนทบุรี จัดกิจกรรมจุดเทียนยุติความรุนแรง หยุดทำร้ายประเทศไทย 2 ก.พ. เดินหน้าเลือกตั้ง ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.นนทบุรี และวันที่ 13 ม.ค. เวลา 19.00 น. กลุ่มประชาคมศิลปากร เพชรบุรี จัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อสันติภาพ ที่หน้าลานสระศิลป์เพชรภิรมย์ (บ่อปลาวาฬ) ม.ศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

นอกจากนี้ ในเพจเฟซบุ๊ก “WE VOTE” ได้โพสต์เชิญชวนทำกิจกรรม “2 ชั่วโมงเเห่ง การส่องแสงสว่างปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ยืนหยัดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร” โดยให้จุดเทียนในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ ในวันที่ 12 ม.ค. เวลา 19.00-21.00 น. 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 11 มกราคม 2557 ในชื่อ “ ‘เสกสรรค์’นำ อจ.ทุกสีป้องปชต.-เลือกตั้ง ไม่เอารุนแรง-ปว. ดันปฏิรูปในระบบ จุดเทียนล้นหอศิลป์”