ในปี 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีแรกที่คนไทยได้สัมผัสการใช้งาน 3จี กันอย่างเต็มรูปแบบในปีแรกเสียที ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2556
ในปี 2557 มีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่คนไทยรอคอยที่จะได้ใช้งานไม่แพ้กัน ก็คือเทคโนโลยี 4จี หรือแอลทีอี ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศชัดแล้วว่าจะจัดประมูลในช่วงเดือนกันยายน 2557 เพื่อที่คนไทยจะได้ก้าวทันต่างชาติ ที่เขามี 4จี ใช้กันก่อนแล้ว
ก่อนที่จะเดินเครื่องไปสู่ 4จี หากมองย้อนกลับไปดูภาพรวม 3จี ทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ด้วยประกาศิตแก้เกี้ยวผลการประมูลของ กสทช. ที่ล้มเหลวจากการที่ผู้ประกอบการเจ้าหลัก 2 ใน 3 ราย ไม่เสนอราคาประมูล 3จี ที่สูงกว่าราคาตั้งต้น จึงสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย อันได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องหั่นราคาค่าใช้บริการจากเดิมลงให้มากกว่า 15% ประกอบกับการแข่งขันกันทำตลาดของภาคเอกชน จึงส่งผลให้ราคาค่าใช้บริการ 3จี ในบ้านเราถูกลงเล็กน้อย
ประกอบกับการเปิดเผยสถิติของ กสทช. เมื่อเทียบกับปี 2555 พบว่าค่าใช้บริการประเภทเสียง (วอยซ์) ลดลงจากอัตราเฉลี่ย 0.97 บาทต่อนาที เหลือเฉลี่ย 0.53 บาทต่อนาที หรือคิดเป็นลดลง 45% อัตราค่าบริการการเข้าถึงบริการข้อมูลอินเตอร์เน็ต หรือดาต้า ลดลงจากอัตราเฉลี่ย 0.33 บาทต่อเมกะไบต์ เหลือเฉลี่ย 0.21 บาทต่อเมกะไบต์ หรือคิดเป็นลดลง 36%
ส่วนอัตราค่าบริการส่งข้อความสั้น (เอเอ็มเอส) ลดลงจากอัตราเฉลี่ยข้อความละ 1.56 บาท เหลือเฉลี่ยข้อความละ 0.84 บาท หรือคิดเป็นลดลง 46% และอัตราค่าบริการส่งข้อความภาพ (เอ็มเอ็มเอส) ลดลงจากอัตราเฉลี่ยข้อความละ 3.9 บาท เหลือเฉลี่ยข้อความละ 2.77 บาท หรือคิดเป็นลดลง 29%
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในมุมของผู้ใช้บริการราคาค่าใช้บริการ 3จี จะยังไม่แตกต่างจากเดิมมากก็ตาม แต่ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ก็คือในส่วนของการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าของคู่แข่ง อาทิ การย้ายค่ายเบอร์เดิมมาใช้งาน 3จี กับบริษัทของตนเองจะได้สิทธิ ลดราคาค่าเครื่องโทรศัพท์ตั้งแต่ 1,000 บาท ไปจนถึงรับฟรีโทรศัพท์ในรุ่นที่กำหนดให้ไปใช้ได้ทันที และการลดค่าใช้บริการลง 50% ตลอดระยะเวลาที่กำหนดให้ต่างกันไปตามแต่ละค่าย เป็นต้น
ในการนี้จึงทำให้ผู้ใช้บริการที่เบื่อหน่ายบริการจากค่ายเดิม รู้สึกแฮปปี้กันไปเต็มๆ
ส่วนภาพรวมในฝั่งของคุณภาพการให้บริการ 3จี ของทั้ง 3 ค่ายนั้น แม้ผ่านปีแรกมาแล้ว แต่ในส่วนของการให้บริการจะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เนื่องจากรายใหญ่สุดอย่างเอไอเอส ที่รอดตายจากปัญหาลูกค้าเยอะกว่าประมาณคลื่นความถี่ที่พร้อมให้บริการ จนเกิดปัญหาสายหลุดง่าย โทร.ติดยาก และอินเตอร์เน็ตช้า
แต่พอย้ายลูกค้า 3จี ที่มีอยู่ไปยังคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ได้ไม่ทันไร ดูเหมือนจำนวนลูกค้าที่เพิ่มเกินจากเป้า 10 ล้านราย เป็น 14 ล้านราย ก็ทำให้ความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ต ไม่รวดเร็วเหมือนช่วงกลางปีเสียแล้ว
ส่วนดีแทค และทรูมูฟเอช เหมือนจะไม่รีบเน้นเปลี่ยนลูกค้าไปยังคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพราะต่างคนต่างมี 3จี บนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีคุณภาพไม่ต่างกันกับ 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการอยู่แล้ว ทั้งคู่จึงเอาคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ที่ประมูลจาก กสทช. มาได้ไปใช้กับเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ ดีแทคนำไปทำไตรเน็ต ใช้งานควบคู่กับคลื่น 850 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้ตนเองมีแบนวิธที่เหนือกว่าคู่แข่ง ส่วนค่าย ทรูมูฟเอชก็นำคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ไปดัดแปลงคลื่นเป็น 4จี เพื่อให้บริการแทน
เทคโนโลยี 4จี นั้น คลื่นความถี่หลักที่มีความเหมาะสมในการให้บริการมากที่สุดก็คือ คลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ โดย 4จี นั้นให้อัตราความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตสูงสุดที่ 100 เมกะบิต สูงกว่า 3จี ที่ให้อัตราความเร็วสูงสุด 42 เมกะบิต
ทั้งนี้ การเล่นได้อย่างเร็วจี๋ตามอัตราความเร็วสูงสุดได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณช่องทางการสื่อสาร (แบนวิธ) ของผู้ให้บริการรายนั้นๆ และปริมาณการใช้งานในพื้นที่นั้นด้วย
เช่น หากพื้นที่ใน 1 สถานีฐานมีการใช้งานในปริมาณมากๆ ความเร็วของอินเตอร์เน็ตก็จะ ถูกนำไปแบ่งปันตามจำนวนผู้ใช้งานในเวลาเดียวกันของพื้นที่นั้นๆ ด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันคนไทยบางกลุ่มอาจจะได้สัมผัสกันมาบ้างแล้วกับบริการ 4จี ของทรูมูฟเอช ที่เกิดจากการแปลงเทคโนโลยีให้บริการบนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ แม้จะไม่ใช่คลื่นหลักก็ตาม
สำหรับ 4จี บนคลื่นหลักที่ให้ศักยภาพการใช้งานสูงสุดนั้นอยู่บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. เตรียมจะนำมาประมูลนั้น จะเป็นการใช้คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ทำไว้ร่วมกับ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จำนวน 12.5 เมกะเฮิรตซ์ และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือ ดีพีซี จำนวน 12.5 เมกะเฮิรตซ์ ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ในการจัดประมูล 4จี นี้เอง พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการ กสทช.และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ยังคงมั่นใจว่าทาง กสทช.จะดำเนินการจัดประมูล 4จี ได้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน หรือไตรมาส 3 ของปี 2557
โดยความคืบหน้าล่าสุด ในขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู ในฐานะที่ปรึกษาการจัดประมูล 4จี ในเรื่องที่ว่า กสทช.มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมกันกับคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ทำสัญญาสัมปทานไว้ร่วมกับเอไอเอส เพื่อให้บริการด้วยเทคโนโลยี “แอลทีอี แอดวานซ์” อย่างไรก็ตาม แอลทีอีแอดวานซ์เป็นเทคโนโลยีที่เหนือกว่า 4จี โดยเป็นการรวมการใช้งานหลอมรวมกันของคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ แบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะส่งผลให้การใช้งานเกิดความเสถียรมากกว่า 4จีปกติ หรือสามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดได้มากกว่า 1 กิกะบิต
แต่จะประมูลได้หรือไม่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นกับผู้ถือครองคลื่นปัจจุบันอย่างทีโอทีด้วยว่าจะยอมหรือไม่ เพราะทีโอทีก็มีอายุสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่ถึงปี 2558
ทั้งนี้ การจัดประมูลของ กสทช. สำหรับแอลทีอีแอดวานซ์เอง กสทช.ก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดประมูลล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาสัมปทานด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผู้ชนะการประมูลสามารถประมูลให้บริการได้ทันทีเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
พ.อ.เศรษฐพงค์ระบุว่า เบื้องต้นการจัดประมูล กทค.จะไม่กำหนดเทคโนโลยีเฉพาะเจาะจงในการให้บริการ 4จี ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะให้บริการแบบใด ไม่ว่าจะเป็น 4จีแบบปกติ หรือแอลทีอีแอดวานซ์ แต่จะเป็นการเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจเองได้
นอกจากนี้ ประเด็นที่กังวลกับแอดทีอีแอดวานซ์ ก็คือการที่เครื่องลูกข่ายยังไม่พร้อมรองรับการใช้งานดังกล่าว แต่ล่าสุดก็โล่งใจได้มากขึ้น เมื่อเห็นผู้ผลิตโทรศัพท์แบรนด์ต่างๆ หันมาเริ่มเดินเครื่องผลิต เครื่องสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ที่รองรับแอลทีอีแอดวานซ์กันมาขึ้น อาทิ บิ๊กเนม อย่าง แอปเปิล และซัมซุง
ไม่เพียงแต่ 4จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ทาง กสทช.ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้ว ยังคงมี 4จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้ลุ้นกันอีกก็คือ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ว่างอยู่จำนวน 25 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันดีแทคถือครองอยู่ ภายใต้สัญญาสัมปทานที่ทำไว้ไว้ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอายุสัญญาสัมปทานถึงปี 2561
โดยดีแทคได้เผยเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะนำคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ตนเองถือครองอยู่ แต่ยัง ไม่ได้ใช้งานอยู่อีก 25 เมกะเฮิรตซ์ มาให้บริการ 4จี
แต่จนแล้วจนรอด ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากยังเจรจาผลประโยชน์กับเจ้าของสัญญาสัมปทานอย่าง กสท ไม่ลงตัว
พวกเราคนไทยยังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ในปีมะเมียนี้ 4จี จะมาจริงหรือไม่ เพราะคลื่น 4 จีที่ กสทช.มาประมูลยังคงติดคดีฟ้องร้องกับ กสท กรณี ที่ กสท เห็นว่าลูกค้าตกค้างในระบบหลังหมดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ควรจะเป็นของ กสท หายไป หรือลุ้น ดีแทค จะตกลงผลประโยชน์กับ กสท ได้เร็ววันหรือไม่
เพราะยิ่งเวลาผ่านไปนาน ความเสี่ยงไปสู่จุดคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้น จากการวางโครงข่ายให้บริการไปจนถึงปี 2561 ก็สั้นลงทุกที หรือลุ้นว่า หาก กสทช.จัดประมูลได้ ประเทศไทยจะได้ใช้เป็นแอลทีอีแอดวานซ์หรือไม่ ปีนี้คงรู้กัน
เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ไม่ถูกตราหน้าว่า ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านที่มี 4จี ใช้กันไปนานแล้ว
เสียงสะท้อนจาก ‘ทีดีอาร์ไอ’
ช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา นางสาวเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย, ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่บทความ “กสทช.กับความเสียหายของประเทศจากความล่าช้าในการประมูลคลื่น 4จี” โดยระบุว่า ความล้าหลังทางด้านโทรคมนาคมของประเทศไทยนั้นมิได้เป็นเพียงเรื่องขบขัน ในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันล่าสุดของ Institute of Management Development (IMD) ในปี พ.ศ.2555 พบว่าคุณภาพของบริการหลัก 5 ประเภท ได้แก่ บริการขนส่งทางบก ขนส่งทางอากาศ การเงิน พลังงาน และโทรคมนาคม
ประเทศไทยมาเป็นอันดับที่สามในอาเซียนตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซียทุกบริการ ยกเว้นบริการโทรคมนาคมซึ่งมาเป็นอันดับที่ 4 แพ้ฟิลิปปินส์ซึ่งมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าไทย
ที่ผ่านมาพัฒนาการของกิจการโทรคมนาคมล้าหลังมีปัญหามากมายสืบเนื่องจากอุปสรรคหลายประการ เช่น ระบบสัมปทาน ความล่าช้าในการสรรหากรรมการของหน่วยงานกำกับดูแล การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ การฟ้องร้องเรื่องการประมูลคลื่น 3จี ครั้งแรก ฯลฯ ปัญหาทั้งหลายเกิดจากผลประโยชน์อันมหาศาลของกิจการโทรคมนาคมทำให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์กัน
มาปีนี้ ประเทศไทยมีความหวังที่จะได้ใช้บริการ 4จี เนื่องจากสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ของบริษัท ทรู และดีพีซี จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน แต่สุดท้ายแล้ว กสทช.กลับตัดสินใจที่ให้ผู้ประกอบการรายเดิมใช้คลื่นต่อไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าเพื่อที่จะให้ผู้ใช้บริการใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดเหตุ “ซิมดับ” คำถามคือ ปัญหา “ซิมดับ” นั้นเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเป็นปัญหาที่ กสทช.ก่อขึ้นมาเอง
ความล่าช้าในการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ มีต้นทุนที่สูงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย มูลค่าประมาณแสนกว่าล้านบาทต่อปี ตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงมาจากบทความทางวิชาการ ซึ่งประเมินความเสียหายจากความล่าช้าในการประมูลคลื่น 3จีในประเทศอังกฤษ ว่าความเสียหายที่มีมูลค่าสูงที่สุด ไม่ใช่ความเสียหายจากรายได้จากการประมูล
แต่มาจากค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการที่จะใช้บริการสื่อสารข้อมูลรูปแบบใหม่ๆ และที่รวดเร็ว ซึ่งประเมินได้ว่ามีมูลค่าประมาณ 5-7 เท่าของราคาคลื่นความถี่ที่ใช้ในการให้บริการต่อปี
คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ หรือคลื่น 4จี น่าจะมีราคาไม่น้อยกว่าคลื่น 3จี หากนำราคาคลื่น 3จี ที่ 4500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ มาประมาณการรายได้ในกรณีที่มีการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีทั้งหมด 25 เมกะเฮิรตซ์ ในเดือนกันยายนปีนี้ จะได้เป็นวงเงิน 22,500 ล้านบาท เมื่อคูณด้วย 5-7 ก็จะได้ค่าเสียโอกาสประมาณ 112,500-157,500 บาทต่อปี
การที่ กสทช.ให้ข่าวว่าตัวเลขความเสียหายดังกล่าวสูงเกินควร เพราะคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ มีการใช้งานอยู่แล้วมิใช่คลื่นใหม่เช่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะลูกค้าในระบบทั้งหมดสามารถโอนย้ายไปยังคลื่นอื่นๆ ที่มีอยู่ได้ตามที่ผู้ให้บริการรายเดิมเสนอ
แต่ กสทช.คงยืนกรานว่าจะต้องให้บริษัทเอกชนใช้คลื่นที่หมดอายุสัญญาสัมปทานในการรองรับลูกค้าเท่านั้นเหมือนกับมีธงปักไว้แล้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 มกราคม 2557 ในชื่อ “จับตาขับเคลื่อน ‘3จี’ สู่ ‘4จี’ อย่าเป็นแค่ปีแห่งการ ‘รอคอย’”