กรมบัญชีกลางเตรียมรื้อเป้าการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2557 หลังชุมนุมการเมืองยืดเยื้อกระทบภาพรวมเบิกจ่ายทั้งปี ระบุ งบลงทุนหน่วยงานราชการประกวดราคาเพื่อจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ตามปกติ เผยกรมฯไม่สามารถออกมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายได้ ขณะที่แผนจัดทำงบปี 58 ส่อเลื่อนยาว กระทบจำนำข้าวใช้งบปี 58 ไม่ได้
กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมากว่าสองเดือนแล้ว โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากรักษาการ และ ให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง และยังมีปฏิบัติการนำมวลชนไปปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมปรับลดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 หลังหน่วยงานราชการหลายแห่งถูกปิดล้อม ไม่สามารถเข้าทำงานได้ จากการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ทำให้กระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างในภาพรวมส่วนจะปรับลดลงในจำนวนเท่าใด จะต้องให้แต่ละส่วนราชการประเมินภาพรวมการลงทุนมายังกรมฯ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีผล คือ สถานการณ์การเมืองที่จะยุติลงเมื่อใด
ทั้งนี้ การชุมนุมของกลุ่ม กกปส. ได้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และเพียงช่วงเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลได้เข้ายึดกระทรวงการคลังเป็นเวลา 17 วัน และรวมถึงการยึดกระทรวงอื่นๆ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ในเดือน พ.ย. ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1 แสนล้านบาท สำหรับเป้าหมายการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ประมาณ 95% ของงบประมาณรายจ่ายรวม 2.52 ล้านล้านบาท
“จนถึงขณะนี้ การเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ ก็ยังมีความล่าช้า เนื่องจากความไม่ชัดเจนทางการเมืองว่าจะยุติอย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศปิดกรุงเทพมหานคร ในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ ทำให้หน่วยงานราชการที่มีแผนจะใช้จ่ายเงิน เช่น การจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป รวมถึงการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ จะสามารถดำเนินการได้ตามกำหนดในวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่”
งบลงทุนชะงัก ทำอี-ออคชั่นไม่ได้
นายมนัสกล่าวด้วยว่า กรมฯไม่สามารถออกมาตรการใดๆ เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ เพราะแม้จะออกมาตรการก็ไม่สามารถช่วยเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ โดยการเบิกจ่ายหลัก จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ เบิกจ่ายงบประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้าง และผู้รับบำนาญ อีกส่วน คือ เบิกจ่ายงบลงทุน ซึ่งในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุนนี้ ส่วนราชการจะต้องจัดซื้อจัดจ้าง แต่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องทำการประกวดราคา เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาซื้อใบประกวดราคา แต่เนื่องจาก ส่วนราชการสำคัญทุกปิดล้อม ทำให้การประกาศประกวดราคาไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
“แม้ส่วนราชการจะสามารถประกาศการประกวดราคาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรืออี-ออคชั่นได้ แต่หลายขั้นตอนก็มีความขลุกขลัก หากประกาศประกวดราคาโดยไม่มีความพร้อม อาจทำให้เกิดการฟ้องร้องจากผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าประกวดราคาการลงทุนได้ ต้องประกาศประกวดราคาใหม่ ทำให้ภาพรวมการลงทุนอาจล่าช้าไปด้วย”
ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณจะมีจำนวนประมาณ 300-400 หน่วยงาน อาทิ กระทรวง ทบวง กรม มหาวิทยาลัย องค์กรมหาชน และ รัฐวิสาหกิจต่างๆ
รอรัฐบาลใหม่ คาดงบปี 58 ช้า 4 เดือน
นอกจากนี้ แผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ซึ่งตามปกติแล้ว การพิจารณางบประมาณรายจ่ายในปีถัดไปจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนม.ค.ของทุกปี แต่ขณะนี้ รัฐบาลอยู่ในช่วงรักษาการ การพิจารณางบประมาณในปีถัดไปไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ที่ห้ามรัฐบาลรักษาการจัดทำงบที่จะผูกพันในปีถัดไป ดังนั้น การพิจารณางบประมาณรายจ่ายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งตนคาดว่า การนำงบประมาณปี2558 มาใช้อาจล่าช้ากว่ากำหนดถึง 4 เดือน
อย่างไรก็ตาม นายมนัส กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้สอบถามไปยังผู้อำนวยการสำนักงบประมาณแล้วว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร โดยได้รับคำยืนยันว่า หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ภายในกำหนด คือ วันที่ 2 ก.พ.นี้ การจัดตั้งรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนดังกล่าว ทางสำนักงบประมาณ ก็จะกำหนดให้ทุกส่วนราชการ ยื่นคำของบประมาณรายจ่ายในปี 2557 ภายในเดือน เม.ย. จากนั้น ก็จะเข้าสู่ช่วงของการพิจารณางบประมาณ ซึ่งคาดว่า งบรายจ่ายปี 2558 จะใช้ได้ทันตามกำหนด คือ เดือน ต.ค. 2557
หวั่นเบิกจ่ายล่าช้ากระทบ ศก.
“ในแง่เม็ดเงินสำหรับการเบิกจ่าย เราไม่มีปัญหา แต่ความไม่ชัดเจนทางการเมือง ทำให้มีผลต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในปีนี้ และหากการเบิกจ่ายงบประมาณพลาดเป้า งบประมาณที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขาดดุล 2.4 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 ก็อาจจะไม่ขาดดุลในระดับนั้น แต่ขณะนี้ เราไม่สามารถประเมินได้ว่า ยอดการเบิกจ่ายจะพลาดเป้าไปจำนวนเท่าใด”
ทั้งนี้ ในกรณีที่ รัฐบาลยังไม่มี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย รัฐบาลยังสามารถมีงบประมาณใช้จ่าย โดยอาศัยเงินคงคลังไปพลางก่อน เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติไม่ควรเกิน 6 เดือน โดยการ
กำหนดวงเงินรายจ่าย ในแต่ละหมวดรายจ่ายนั้น ให้ประมาณเอาจากงบประมาณรายจ่ายในปีก่อนหน้า เช่น การจัดสรรงบเงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น
สำนักงบชี้ พ.ร.บ.งบปี 58 ส่อเลื่อนยาว
ด้านนายสมศักดิ์ ศรีโชติช่วง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 นั้น เบื้องต้นคาดว่าคงจะล่าช้าไปตามกำหนดเวลาเดิม เพราะหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ส่วนราชการต่างๆ ควรจะส่งคำของบประมาณรายจ่ายปี 2558 ภายในวันที่ 2 ก.พ.2557 แต่คงต้องเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งถ้าจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ไม่ทัน แต่จะไม่กระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการ เฉพาะงบรายจ่ายประจำ หรืองบประมาณที่ภาระผูกพันตามมติครม.แล้วเท่านั้น หรือตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2558 จะต้องมีการออกหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
ทั้งนี้หากไม่มีมติครม.รองรับ ก็ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณปี 58 ให้ได้ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ที่ถูกใช้ในโครงการรับจำนำข้าวด้วย หากไม่มีมติ ครม.รองรับ หรือไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายกฯคนใหม่ หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เพราะเดิมมติ ครม.กำหนดกรอบโครงการจำนำข้าวไว้ 5 แสนล้านบาท หากใช้เกินวงเงินต้องใช้รายได้จากการขายข้าวมาชดเชยแทน
ภาระจำนำข้าว ส่อใช้งบปี 58 ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ตามปกติ จะต้องดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.พ.ของทุกปี กรณีมีรัฐบาลปกติ แต่หากเป็นรัฐบาลใหม่ ขั้นตอนจะเริ่มตั้งแต่การแถลงนโยบายบริหารแผ่นดิน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หลังจากนั้นรัฐบาลจัดทำแผนปฏิบัติราชการครบเทอม 4ปี และจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี จึงจะมาถึงการจัดทำคำขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีภายใน 30 วัน หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนปฏิบัติราชการที่รัฐบาลแถลงไว้ โดยสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณได้ก็ต่อเมื่อมีแผนปฏิบัติราชการประจำปี
แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ในอดีตเมื่อปี 2549 การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2550 ก็เลยเวลาจัดทำ ซึ่งตามกฎหมายวิธีการงบประมาณกำหนดไว้ว่า หากไม่สามารถจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายได้ทันตามปฏิทิน ให้ใช้งบประมาณปีที่ล่วงมาแล้ว ไปพลางก่อน เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็สามารถมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายอีกครั้ง ซึ่งการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการจึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่กรณีที่เป็นรายจ่ายจากโครงการที่เป็นภาระตามนโยบาย อาทิ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก สำนักงบประมาณอาจอาจจะไม่สามารถตั้งงบประมาณให้ได้
ทีดีอาร์ไอชี้เลื่อนเลือกตั้งกระทบงบปี 58
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภายในครึ่งแรกของปีนี้ หากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดทำแผนงบประมาณปี 2558 ที่ล่าช้า ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมได้
“ถ้าการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็นเดือน พ.ค. กว่าจะได้รัฐบาลก็คงราวๆ เดือน ก.ค. ซึ่งถ้าเราได้รัฐบาลในช่วงนั้นจริง ก็คงหวาดเสียว เพราะอาจมีปัญหาต่องบประมาณปี 2558 ได้ ซึ่งปกติแล้วงบประมาณในแต่ละปีจะต้องเสร็จในเดือน ก.ย. ดังนั้นหากมีรัฐบาลเดือน ก.ค. จะเหลือเวลาอีกแค่ไม่เกิน 2 เดือนก็เริ่มปีงบประมาณใหม่ จึงหวาดเสียวว่า อาจมีงบประมาณปี 2558 ใช้ไม่ทันได้” นายสมชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้งบประมาณใหม่จะล่าช้ากว่ากำหนดไปบ้าง แต่หากไม่เกิน 2 เดือน ก็อาจไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วไป ซึ่งมีผลต่อการบริโภคและการลงทุนได้เช่นกัน
เขากล่าวว่า การที่มีรัฐบาลล่าช้า นอกจากจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะสั้นแล้ว ยังมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวด้วย เพราะถ้าไม่มีรัฐบาลก็เท่ากับว่าไม่มีคนมาดูแลเรื่องการลงทุนโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ทำให้เศรษฐกิจขาดศักยภาพในการเติบโต
“ผมเองยังอยากเห็นเศรษฐกิจเติบโตปีละ 6-7% เพราะถ้าเราโตแค่ 2-3% โอกาสที่เราจะขึ้นเป็นประเทศร่ำรวยคงอีกประมาณ 40-50 ปี ซึ่งนานมาก เนื่องจากเศรษฐกิจเรายังเป็นเศรษฐกิจในขนาดกลางๆ และที่ผ่านมาการเติบโตของเราเองก็ค่อนข้างช้าด้วย ยิ่งมาเจอปัญหาการเมือง ก็ยิ่งทำให้การเติบโตช้ามากขึ้นตามไปด้วย” นายสมชัยกล่าว
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 มกราคม 2557 ในชื่อ “รื้อเบิกจ่ายปี57 จัดงบปี58สะดุด”