รัฐแทรกแซงภาคเกษตร ทำลายความสามารถในการแข่งขัน

ปี2014-01-20

รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เผยแพร่บทความทางวิชาการ โดยระบุถึงระบบเศรษฐกิจของไทยที่เปิดกว้างให้แข่งขันอย่างเสรี แม้ว่าในภาคการเกษตรจะเป็นภาคธุรกิจที่รัฐเข้ามาแทรกแซงอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประกันราคาสินค้าเกษตรให้เกษตรกร ซึ่งเห็นว่าช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรเพียงระยะสั้นเท่านั้น

ส่วนระยะยาว การดำเนินมาตรการดังกล่าว ถือเป็นการทำลายขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพราะเกษตรกรขาดแรงจูงใจพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตผลผลิตทางการเกษตร ทำให้คุณภาพของสินค้าเกษตรต่ำลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นตามมาด้วย

ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิต แม้ว่ารัฐไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดในภาพรวม ยกเว้นกรณีการประกาศให้ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนโครงสร้างค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ตามค่าครองชีพ ทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจในต่างจังหวัดสูงเกินจริง ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมของไทย ที่ปัจจุบันเปิดกว้างให้มีการแข่งขันจากภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ตอนนี้ตลาดมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีข้อเสียเกี่ยวกับนโยบายและกฎกติกาของภาครัฐในภาคบริการที่ยังบั่นทอนกลไกตลาด โดยปิดกั้นและจำกัดการแข่งขัน

“การปิดกั้นการลงทุนของต่างชาติในภาคบริการทำให้บริการบางประเภทที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและเทคโนโลยีเข้มข้น เช่น กิจการโทรคมนาคม มีแหล่งเงินทุนที่จำกัด ส่งผลให้มีผู้ประกอบการในตลาดไม่กี่ราย และยังทำให้กลไกตลาดจึงทำงานได้ไม่เต็มที่ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าภาคบริการยังถูกครอบงำด้วยระบบสัมปทานเนื่องจากสัญญาสัมปทานจำนวนหนึ่งยังไม่หมดอายุ เห็นได้จากกรณีของกิจการโทรคมนาคม แม้ว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย คือกระทรวงไอซีทีและหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล คือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่างก็มีผลประโยชน์จากระบบสัมปทานด้วย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 มกราคม 2557 ในชื่อ “จวกรัฐแทรกแซงภาคเกษตร ทำลายความสามารถแข่งขัน”