tdri logo
tdri logo
7 มกราคม 2014
Read in Minutes

Views

เราจะอยู่กับประชานิยมกันอย่างไร ไม่ให้วิกฤติ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

นโยบายประชานิยมถือเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ลดความเหลื่อล้ำในสังคมได้ อย่างไรก็ตาม มีหลายนโยบายที่ถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่สร้างปัญหา ทั้งไม่มีความยั่งยืนทางการคลัง เป็นการทำลายตลาด รวมไปถึงไม่สร้างความสามารถในการแข่งขัน เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิด “นโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบ” ได้อย่างไร

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  กล่าวว่า ประชานิยมกับเรื่องการกระจายรายได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันมาก  โดยส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยมก็เพื่อช่วยคนจนช่วยให้เกิดการกระจายรายได้   ปรากฎการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังเป็นประชาธิปไตย  ประชาธิปไตยจะมาพร้อมกับแรงกดดันให้เกิดการกระจายรายได้

นโยบายที่เราเรียกกันว่าประชานิยม  ไม่ว่าจะเป็น จำนำข้าว รถคันแรก 30 บาทรักษาทุกโรค เช็คช่วยชาติ  การอุดหนุนราคาพลังงาน ความจริงแล้วไม่ได้เหมือนกันไปทั้งหมด แต่ละนโยบายมีความแตกต่างกัน   อาทิ 30 บาทรักษาทุกโรค จะเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีความยั่งยืนทางการคลัง รัฐบาลเตรียมเงินไว้ว่าจะต้องใช้ในแต่ละปีต่อหัวคนไข้เท่าไหร่ ไม่ทำลายกลไกตลาด เพราะเป็นการไปสู่ตลาดที่ช่วยคนจนและสร้างความสามารถทำให้คนมีสุขภาพดี  แต่นโยบายอย่างเช่น การอุดหนุนราคาพลังงานนั้นไม่ยั่งยืน การตั้งกองทุนพลังงานเพื่อมาอุดหนุนแต่ถ้าเกิดราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นกองทุนพลังงานก็จะเจ๊ง เพราะฉะนั้นนโยบายแบบนี้อยู่ได้ไม่นานไม่ยั่งยืน ทำลายกลไกตลาดและไม่สร้างความสามารถให้ภาคอุตสาหกรรม ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด เพราะราคาพลังงานบางอย่างมันถูกเกินจริง ส่วนนโยบายจำนำข้าว  รถคันแรก เช็คช่วยชาติ ก็ล้วนเป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืนเช่นกัน  นโยบายที่ถูกเรียกว่าประชานิยมส่วนใหญ่จึงไม่ได้ช่วยคนจนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามนโยบายดี ๆ ก็ยังมีอยู่ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งทางวิชาการจะเรียกว่าเป็นนโยบายสวัสดิการสังคมมากกว่าจะเรียกว่าเป็นประชานิยม เราจึงไม่ควรเหมาว่านโยบายประชานิยมทุกอย่างแย่ไปหมด  เราจึงควรแบ่งว่านโยบายประชานิยมที่ดีก็มี ส่วนนโยบายประชานิยมที่สร้างปัญหา เป็นประชานิยมที่แย่จริงๆ  ขอเรียกว่าเป็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบ   ประชานิยมที่ดีก็ควรคงไว้  อะไรไม่ดีก็ควรทบทวนให้เลิก และอย่าไปดูว่าเป็นนโยบายที่เริ่มจากรัฐบาลไหนแล้วจะต้องดีหรือแย่ทุกนโยบาย เพราะจะเห็นว่าทุกรัฐบาลมีทั้งนโยบายที่ดีและนโยบายที่ไม่ดี

4

“ประชานิยมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ยกตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศในอเมริกาใต้ ซึ่งมีความแตกต่างทางรายได้สูงมาก พอเริ่มเป็นประชาธิปไตยก็เกิดปัญหา  เกิดเป็นวัฏจักรประชานิยม  ซึ่งประชานิยมพอเริ่มใช้แล้วจะมีลักษณะคล้ายยาสเตอรอยด์ เหมือนยาเสพติดที่เลิกได้ยาก คือ เมื่อมีนโยบายประชานิยมพอใช้ไปนาน ๆ เกิดการใช้เงินไม่ระมัดระวังก็จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุดก็ต้องรัดเข็มข้ด เมื่อรัดเข็มชัดคนก็เดือดร้อน สุดท้ายผู้นำประชานิยมก็กลับขึ้นมาอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้น มาหาเสียงว่าจะมีนโยบายลดแลกแจกแถมให้ประชาชนมีความสุข แล้วก็กลับไปสู่วัฏจักรประชานิยมอีก”

ดร.สมเกียรติ เสนอแนะทางออกนโยบายประชานิยมระยะกลาง-ระยะยาว โดยระบุว่า  1. ต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการให้สวัสดิการสังคมที่ดี และการศึกษาที่มีคุณภาพที่จะทำให้คนไม่ต้องรอพึ่งรัฐบาลอยู่ร่ำไป  2. สร้างวินัยทางการคลัง จำกัดการขาดดุลของรัฐ  โดยออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 167  และ 3. ควรมีการตั้งสำนักงบประมาณของรัฐสภา ขึ้นมาสนับสนุนรัฐสภาในการพิจารณางบประมาณและให้ข้อมูลแก่สาธารณะ

สำหรับข้อเสนอแนะเฉพาะหน้าหากมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ อยากเห็น 1. เรียกร้องให้ พรรคการเมืองต้องแถลงต้นทุนของนโยบายที่ใช้หาเสียงและแหล่งที่มาของรายได้ด้วยว่านโยบายที่ใช้หาเสียงกันนั้นใช้เงินเท่าไหร่จะเอารายได้จากที่ไหน ไปทำให้นโยบายนั้นเกิดขึ้นได้จริง อย่าให้เหมือนกับนโยบายจำนำข้าวที่จนบัดนี้ยังไม่รู้ว่าขาดทุนหรือกำไรเท่าไหร่  2.นักวิชาการควรช่วยกันตรวจสอบต้นทุนของนโยบายพรรคการเมืองใหญ่ที่ใช้หาเสียง.

7

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด