สั่งหยุด ‘ศูนย์สุขภาพ’ รับประกันชั่วคราว ‘คปภ.-TDRI’ เล็งปรับ พ.ร.บ. รถยกเซ็ต

ปี2014-01-08

บอร์ด คปภ. ทำโทษ “บริษัทศูนย์สุขภาพประเทศไทย” สั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราวแล้ว เผยหนี้ค้างลูกค้าเพียบ ขาดสภาพคล่องทางการเงินถึงขั้นรุนแรง ขีดเส้นแดงแก้ไขฐานะการเงินก่อน 31 มี.ค.57 ล่าสุด “คปภ.” เล็งปรับปรุง พ.ร.บ. รถภาคบังคับ หลังใช้มานานร่วม 20 ปี

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประจำเดือนธันวาคม 2556 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ บริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป

ด้วย บริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มีภาระหนี้สินค้างจ่ายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนเป็นจำนวนมาก มีการดำเนินงานไม่เป็นไปตามบท บัญญัติของกฎหมาย และรายงานทางการเงินยังขาดความน่าเชื่อถือบริษัทจึงมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

คณะกรรมการ คปภ. จึงพิจารณาเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้ บริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1. จัดทำรายงานสรุปรายละเอียดของกรมธรรม์ที่บริษัทจะต้องชำระเงินคืน ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อครบกำหนดสัญญา เช่น หมายเลขกรมธรรม์ ชื่อผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อครบกำหนด และส่งรายงานดังกล่าวให้สำนักงาน คปภ. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และให้บริษัทบันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามกฎหมาย

2. บันทึกรายการหนี้สิน ได้แก่ ค่าปรับ และจำนวนเงินสำรองเงินจ่ายตามกรมธรรม์ ให้ครบถ้วน 3. จัดหาเงินทุน เช่น การเพิ่มทุน ให้เพียงพอต่อภาระผูกพันตามที่ระบุข้างต้น และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด 4. เร่งจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ร้องเรียนให้ครบถ้วน

5. จัดให้มีระบบงานและบุคลากรที่มีคุณภาพและจำนวนที่เหมาะสม เพื่อให้บริการประชาชนและผู้เอาประกันภัย ระบบงาน ได้แก่ ความพร้อมในระบบบัญชีการเงิน ระบบการเสนอขายและการพิจารณารับประกันภัย ระบบการจัดการค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น รวมถึงให้มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและให้มีคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละระดับเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย และ 6. ให้บริษัทแก้ไขและดำเนินการตามเงื่อนไขข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2557 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ในระหว่างการหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว บริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน) สามารถให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยรายเดิมได้ตามปกติ เช่น การจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่สามารถขายกรมธรรม์ประกันภัยรายใหม่ได้ โดยสำนักงาน คปภ. ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำที่บริษัททุกวันเพื่อประสานให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย

ทั้งนี้ คปภ. ยังได้เปิดเผยถึงกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือ พ.ร.บ.รถภาคบังคับ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการ และกฎระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ว่าขณะนี้ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ได้เสนอผลการวิจัยขั้นต้นต่อสำนักงาน คปภ.แล้ว โดยมีทั้งส่วนดีและส่วนที่ต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ E-Claim ที่มีการแจ้งข้อมูลผู้ประสบภัย และข้อมูลการรักษาพยาบาล รวมถึงเอกสารหลักฐานผ่านระบบออนไลน์ในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ทำให้ผู้ประสบภัยจากรถไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานอาจจะยังมีช่องว่าง และ คปภ. ก็พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนา ปรับปรุง เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถทุกคนได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ ผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์น่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2557

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ (TDRI) กล่าวว่า การศึกษาวิจัย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีผลบังคับใช้มากว่า 20 ปี ซึ่งในเบื้องต้นคณะนักวิจัยมีความเห็นว่า นโยบายบางส่วนควรปรับปรุง เช่น การควบคุมอัตราเบี้ยประกันภัยรถบางประเภท จนทำให้กลไกด้านราคามีการบิดเบือน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูง มีเบี้ยประกันภัยต่ำเกินกว่าอัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Claim ratio) ทำให้การกำหนดเบี้ยประกันภัยไม่สะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันสัดส่วนรถไม่ทำประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มรถจักรยานยนต์ ซึ่งจากสถิติพบว่ามีค่าเฉลี่ยในการทำประกันภัยเพียง 3 ปีแรก ของรถจดทะเบียนเท่านั้น จึงเตรียมเสนอภาครัฐหามาตรการให้รถเข้าสู่ระบบทั้งหมด โดยการเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ไม่ทำประกันภัยจะเป็นข้อเสนอหนึ่งที่ควรต้องมีการทบทวน เพราะหากประชาชนหลีกเลี่ยงไม่ทำประกันภัย นอกจากเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการสร้างปัญหาต่อสาธารณะและประชาชนที่ร่วมใช้รถใช้ถนน เพราะรถที่ไม่ทำประกันภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ประชาชนได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเท่านั้น


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ทรานสปอร์ต เจอร์นัล วันที่ 6-12 มกราคม 2557 ในชื่อ “สั่งหยุด ‘ศูนย์สุขภาพ’ รับประกันชั่วคราว ‘คปภ.-TDRI’ เล็งปรับ พ.ร.บ. รถยกเซ็ต”