tdri logo
tdri logo
14 มกราคม 2014
Read in Minutes

Views

เช็คจุดยืน-จุดร่วม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา”

“เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรและบุคคลต่างๆ ที่วิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่กำลังคุกรุ่นอยู่ขณะนี้ ด้วยเชื่อว่า สังคมไทยสามารถก้าวข้าม และเดินออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้โดยไม่ต้องนองเลือด

บุคคลผู้มีชื่อเสียงมารวมตัวกัน แม้จะเห็นพ้องต้องกัน “2 เอา คือเอาเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเอาการปฏิรูป 2 ไม่เอารัฐประหาร และไม่เอาความรุนแรง” แต่เขาเหล่านั้น ต่างก็ยังยืนอยู่บนจุดยืนของตนเองในหลายๆ เรื่อง

….ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเห็นพ้องต้องกันหมด

สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมุมมองของแต่ละคนจากเวทีหลังออกแถลงการณ์แล้วมานำเสนอ

 

“ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ความรุนแรงที่ตอนนี้ต้องเป็นบวก คือ ความรุนแรงเชิงทางกายภาพ การฆ่าทำร้ายกัน ตอนนี้มีปัจจัยเสี่ยง ถามว่า อะไรคือส่วนน่ากลัวที่สุดในตอนนี้ คือ คนจำนวนหนึ่งไม่อยากให้คนรู้สึกหมดหวังกับสังคมไทย อาการของความรุนแรงเกิดเมื่อคนรู้สึกหมดหวัง

ฉะนั้นใครที่คิดอะไรออก ทำอะไรได้ ต้องเสนอทางเลือกทางออกให้สังคมไทย เพื่อจะได้ไม่วิ่งไปสู่ความรุนแรง ที่เกิดมาจากความหมดหวัง หมดหวังกับแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี หมดหวังกับการทำงานโดยปกติของสังคมไทย แล้วไปเรียกร้องหาความรุนแรงเป็นคำตอบ”

 

“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ทีดีอาร์ไอ

“คนไทยไม่ว่าจะคิดต่างกันอย่างไร แต่เราต้องอยู่ร่วมกันต่อไป เราไม่สามารถกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งออกจากเวทีได้ ไม่ว่าจะเป็นเวทีการทำปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่สามารถขจัดคนที่ไม่เห็นด้วยออกไปได้ รวมถึงการเลือกตั้งอย่างเดียวก็ยังไม่สามารถลดความคับข้องใจของคนจำนวนมากอีกฝ่ายหนึ่งได้

ทางออกมีอยู่ทางเดียวคือ เราต้องเคารพประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีแต่เสียงข้างมากเพียงอย่างเดียว แต่ต้องฟังเสียงข้างน้อยด้วย อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป อยากบอกไปถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าหลังจากผ่านการเลือกตั้งไปแล้วไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรจงเคารพการดำรงอยู่ของเสียงข้างน้อยด้วย

ประชาชนเองก็ควรรับรู้และเรียนรู้ที่จะเข้าใจความคับข้องใจของอีกฝ่ายหนึ่ง ที่คิดไม่เหมือนเรา เสื้อแดงก็ควรเข้าใจความคับข้องใจของคนกรุงเทพฯ ที่มาร่วมชุมนุม และผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ก็ควรเข้าใจความคับข้องใจของคนเสื้อแดงด้วย ว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่พอใจกับการใช้วิธีการพวกมากลากไป”

 

“เกษียร เตชะพีระ” คณะรัฐศาสตร์ มธ.

“ผมอยากจะบอกสุเทพ (เทือกสุบรรณ) เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ กับพล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก) คัดค้านรัฐประหาร ส่วนกับนางสาวยิ่งลักษณ์ และทักษิณ (ชินวัตร) ปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย คัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ”

 

“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” อดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลาฯ

“หากเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า ในแต่ละสถานการณ์ของรัฐประหาร ก็ไม่เหมือนกัน บางสถานการณ์นำไปสู่สงครามกลางเมือง เช่นหลัง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก ช่วงนั้นผมเองและหลายๆ ท่านผ่านสถานการณ์ต้องรบกันเองกว่า 50 จังหวัดในประเทศไทย

คนรุ่นผมถือเป็นบาดแผลจนถึงทุกวันนี้ ไม่อยากเห็นประเทศไทย กลับไปสู่ยุคสมัยนั้นอีก เรายังมีเวลามีสติ โอกาสเสมอจะหลีกเลี่ยง เราต้องเลี่ยงสงครามกลางเมืองตรงนี้ คือประเด็นเฉพาะหน้า ตั้งสติไม่เอาสิ่งเหล่านั้น

กรณีมีการเปลี่ยนแปลงนอกระบบจริงๆ ไม่มีใครคุมสถานการณ์ได้ ไม่ว่าคนที่ทำรัฐประหาร หรือคนที่อยู่ในภาคประชาชน ไม่มีใครรู้ฝ่ายอื่นมีปฏิกิริยาอย่างไร เราคาดเดาได้ว่า เป็นสภาพที่อันตราย กอบกู้ได้ยากลำบากมาก ไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่ใครกลุ่มใดกลุ่มตอบโต้รัฐประหาร แต่เป็นปฏิกิริยาพื้นเพเดิมของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ซึ่งคาดเดาได้ยากลำบาก”

 

“วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี

“ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ที่กลุ่มโลกสวยฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่าเราต้องเคารพและเข้าใจเจตจำนงของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ที่ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง และอีกฝ่ายที่เรียนร้องสังคมที่ยุติธรรมปราศจากการคอร์รัปชัน เราเห็นว่า ข้อเรียกร้องของคนทั้ง 2 ฝ่ายไม่ควรขัดแย้งกันเลย ไม่ควรมีการเสียสละชีวิต หรือเลือดเพียงหยดเดียว เพราะหากการเลือกตั้งเป็นราก การอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยคือลำต้น ดอกและผล ก็คือ สังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมนั่นเอง

ไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องมาฆ่ากัน การเห็นต่างทางความคิดที่หลากหลายเช่นนี้ ยังแล้วมีโอกาสมารวมกลุ่มหารือกันเช่นนี้น่าจะเป็นสัญญาณเล็กๆ ที่อยากจะเรียกร้องคนทั้ง 2 ฝ่ายและคนไทยทุกกลุ่มที่เราจะมีโอกาสร่วมฝ่าฟันช่วงเวลาแห่งวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”

 

“จอน อึ๊งภากรณ์” โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

“ตั้งแต่ผมเกิดมา ผมยังไม่เคยรู้สึกสังคมไทยอยู่ในอันตรายเท่ากับวันนี้ เป็นเรื่องที่วิตกกังวลมาก โดยเฉพาะลูก หลาน เราไม่อยากให้ลูกหลานเราอยู่ในสังคมที่สงบสุข อยากให้ปัญหาแก้ไขโดยวิธีที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ขณะนี้เรามีความขัดแย้ง ระหว่างคนที่ไม่มีความเชื่อในเรื่องการเลือกตั้ง พร้อมเดินหน้าปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง กับกลุ่มคนที่เห็นว่า เราต้องรักษากติกาที่มีอยู่ เรามีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่เสมือนอยากตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้นมา เพราะไม่ไว้วางใจรัฐบาลรักษาการ กับอีกฝ่ายที่ไม่ได้หลงรักรัฐบาลปัจจุบัน แต่เห็นว่า ต้องรักษากติกาปัจจุบันไว้ก่อน

แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่จุดที่เห็นร่วมกันคือต้องรักษากติกาที่มีอยู่เพื่อเลี่ยงการนองเลือด เรายอมรับร่วมกันว่า บุคคลที่ไปร่วมกิจกรรมกับฝ่ายขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่าย เป็นคนรักชาติรักสังคม รักคนไทยด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่เห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง

กิจกรรมที่น่าทำร่วมกัน คือ เรื่องการปฏิรูปประเทศ และเราอาจจะพบว่า ความคิดนั้นอาจไม่ต่างกันมากมายนัก จุดร่วมหลายอย่างที่อาจทำได้ เฉกเช่น การไม่ยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เป็นต้น

เรามาอยู่ด้วยกันเพื่อบอกว่า คนไทยต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนาน สามารถมีชีวิตที่มีความสงบสุข และเราไม่ต้องการเห็นการนองเลือด”

 

“นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์” มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

“เราเห็นตรงกัน เรื่องการปฏิรูปเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้ได้ ซึ่งเป้าหมายคือการทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ โดยทำให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่แค่สภาตัวแทน เท่านั้น

เรื่องปฏิรูปต้องทำต่อเนื่อง เริ่มได้เลยโดยไม่ต้องรอ”

 

“บุญยืน สุขใหม่” สมัชชาคนจน

“ สมัชชาคนจนได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมาเห็นว่า สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ตามกำหนดการเดิม รวมทั้งให้มีการปฏิรูปประเทศไทยควบคู่ไปพร้อมกันด้วย การปฏิรูปในความหมายของสมัชชาคนจนนั้น มองว่า การปฏิรูปต้องทำทั้งระบบ และอยากเพิ่มเติมคือการจัดการเรื่องที่ดิน มีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องแก้ไข เรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรน้ำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงเรื่องแรงงานในระบบที่ถูกเอาเปรียบจากนายทุนในเรื่องรายได้ที่ไม่สมดุลกับค่าครองชีพ

ที่สำคัญคือเราเห็นด้วยที่จะมีการเลือกตั้งเพื่อการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน ชุมชนในพื้นที่ท้องถิ่น เป็นการลดบทบาทของรัฐและเพิ่มอำนาจให้ประชานมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองมากขึ้น”


เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 10 มกราคม 2557 ในชื่อ เช็คจุดยืน-จุดร่วม “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา”

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด