เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา ค้านปฏิวัติ-ต้านรุนแรง

ปี2014-01-14

คอลัมน์ ทะลุคนทะลวงข่าว

ในห้วงความขัดแย้งเขม็งเกลียว นับถอยหลังเข้าสู่ไคลแมกซ์ ชัตดาวน์ กทม. 13 ม.ค.นี้ของกลุ่ม กปปส.

ส่อแววปูทางให้ทหารออกมาปฏิวัติรัฐประหาร ล้างไพ่การเมืองไทยใหม่

จึงก่อให้เกิด กลุ่มขั้วที่ 3 จากการรวมตัวของหลายภาคส่วน อาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ

ไม่ว่าเกษตร ศิลปากร มศว ขอนแก่น เชียงใหม่ ร่วมกันจัดกิจกรรมจุดเทียน ปล่อยลูกโป่งสีขาว

แม้แต่ในเฟซบุ๊กที่ชาวเน็ตแห่โพสต์ภาพสวมแว่นดำ ชูป้าย Respect My Vote หรือ Election และ Peace

ชูสันติภาพ ต้านชัตดาวน์เมืองกรุง

สะท้อนถึงความหลากหลายทางความคิดในสังคมที่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

รวมถึงไม่ต้องการให้ประเทศถอยหลัง ด้วยการปฏิวัติ

ล่าสุด เกิดการรวมตัวของกลุ่มนักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน หลากหลายขั้ว

นำโดย นายเกษียร เตชะพีระ นายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นายจอน อึ๊งภากรณ์

พร้อมนักเคลื่อนไหวทางสังคม อาทิ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และ นายกฤษกร ศิลารักษ์

ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ อาทิ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.), สมัชชาคนจน, ศูนย์เฝ้าระวังสถาน การณ์ภาคใต้ (Deep South Watch), เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้

มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, มวลมหาประชาคุย, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี และเครือข่ายภาคประชาสังคม

ภายใต้ชื่อ “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา”

ชูธงคัดค้านรัฐประหาร คัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย

 

เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา ระบุในแถลงการณ์ฉบับแรก

คัดค้านการปฏิวัติรัฐประหารนำไปสู่สงครามกลางเมืองและโศกนาฏกรรมที่มิอาจเยียวยา และการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจากกลุ่มใด หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

ระบุทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรถูกคุกคามด้วยความรุนแรง

เสนอแนวทาง “ผ่าทางตัน” ประเทศ

ควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ

พร้อมทั้งสนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งดำเนินการได้ทันที ควบคู่กับการเลือกตั้ง

แต่การปฏิรูปโดยมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับคนบางกลุ่ม ไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างแท้จริง

การปฏิรูปจึงต้องอยู่บนวิถีทางประชาธิปไตย ทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงและให้สัญญาประชาคมที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยไม่กีดกันคนกลุ่มใด

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สร้างชื่อจากลีลาการตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับหุ้นและธุรกิจโทรคมนาคมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยเป็นนายกฯ แบบถึงลูกถึงคน

ตอกย้ำว่าทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน ทางออกมีอยู่ทางเดียวคือต้องเคารพประชาธิปไตย

ถ้าใครได้อำนาจรัฐไป ก็ควรเคารพเสียงข้างน้อยด้วย

ขณะที่ประชาชนควรเรียนรู้และเข้าใจความคับข้องใจของคนที่ยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง

ขณะที่ จอน อึ๊งภากรณ์ ลูกชายคนโตของ ศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

อาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล อดีตส.ว.กทม. ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)

ยืนยันสิ่งที่ต้องทำคือการปฏิรูปประเทศ

แม้จะมีความเห็นหลากหลาย แต่มีจุดร่วมกันคือต้องรักษากติกาที่มีอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด

 

ด้านนักวิชาการจากภาคใต้ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหา วิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เจ้าของรางวัลระดับชาติ จากสกว.

หยิบยกบทเรียนจากสถานการณ์ ไฟใต้ ประกอบด้วยคำที่มีความหมายอยู่ 3 คำ คือ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติภาพ

สามอย่างนี้ทำให้ความรุนแรงลดลง และนำไปสู่การพูดคุยกันในทางสันติ

ระบุว่า แม้แต่ขบวนการบีอาร์เอ็นที่เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ก็พูดว่าต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย คือมีรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดในการสร้างความยุติธรรม

เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา ระบุด้วยว่ากระบวนการปฏิรูปจำเป็นต้องปราศจากความรุนแรงมารบกวน ปราศจากกระบวนการนอกระบบ ที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ของประชาธิปไตย

ชี้ชัดสังคมไทยตอนนี้กำลังเดินอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ

ต้องมีสติและปัญญาที่จะถอยห่างจากสถานการณ์เหล่านี้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 12 มกราคม 2557 ในชื่อ “เครือข่าย2เอา2ไม่เอา ค้านปฏิวัติ-ต้านรุนแรง สมเกียรติ-จอน-ศรีสมภพ”