คอร์รัปชันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ: ข้อสังเกตบางประการ (ตอนที่ 1)

ปี2014-01-02

ดร.ธร ปีติดล

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

คำถามที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจในการศึกษาคอร์รัปชันก็คือ คอร์รัปชันจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นไร สำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว คำถามดังกล่าวดูเหมือนจะตอบได้ง่ายๆว่าคอร์รัปชันที่เป็นสิ่งเลวร้ายของสังคมนั้น ก็ควรจะส่งผลเสียต่อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดี หากพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วนั้น การจะหาคำตอบที่ชัดเจนต่อคำถามนี้อาจไม่ง่ายดายด้วยเหตุผลหลายประการ

ประการแรก การจะศึกษาผลกระทบจากคอร์รัปชันสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของกลไกที่คอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งกลไกของผลกระทบนี้นั้นมีได้หลากหลายช่องทาง และแต่ละช่องทางเองก็มีปัจจัยอีกมากมายที่จะเข้ามาส่งผลต่อลักษณะผลกระทบที่เกิดขึ้น

และในประการที่สอง แม้ว่าเราจะสามารถคาดเดากลไกของผลกระทบได้ แต่การจะวิเคราะห์ให้ได้รู้ถึงขนาดของผลกระทบที่ชัดเจนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยสาเหตุที่ข้อมูลที่ชัดเจนของการกระทำที่ผิดกฏหมายเช่นการคอร์รัปชันนั้นหาได้ยากมาก

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนต้องการอธิบายถึงช่องทางต่างๆที่คอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยในคำอธิบายที่จะนำเสนอนั้น ผู้เขียนจะตั้งข้อสังเกตไปด้วยถึงแง่มุมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับการทำความเข้าใจต่อผลของคอร์รัปชันในกรณีของประเทศไทย

สำหรับกลไกที่คอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อคอร์รัปชันได้นั้น ผู้เขียนเห็นว่าสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่องทางใหญ่ๆ ช่องทางแรกคือผลที่เกิดขึ้นต่อบทบาทของภาครัฐ ช่องทางที่สองคือผลต่อการลงทุนของภาคเอกชน และช่องที่สามคือผลต่อการจัดสรรทรัพยากร โดยบทความนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ในส่วนแรกผู้เขียนจะกล่าวถึงช่องทางแรก และในบทความส่วนที่สอง ผู้เขียนจะอธิบายในส่วนของช่องทางที่สองและที่สาม

ในช่องทางแรก ซึ่งก็คือกลไกที่คอร์รัปชันจะสังผลกระทบต่อบทบาทของภาครัฐนั้น เราสามารถจำแนกผลกระทบของคอร์รัปชันได้เป็นผลกระทบต่อการเก็บภาษี และผลกระทบต่อการใช้จ่ายของรัฐ สำหรับผลกระทบต่อภาษีนั้นจะเกิดขึ้นผ่านการที่คอร์รัปชันนำสู่การได้มาของจำนวนภาษีที่ลดลง ซึ่งผลกระทบนี้เกิดขึ้นได้ทั้งจากการที่คอร์รัปชันสร้างช่องทางในการเลี่ยงภาษี และจากการที่คอร์รัปชันนำไปสู่ความไม่ยินดีที่จะจ่ายภาษีในหมู่ประชาชน

ส่วนผลกระทบต่อรายจ่ายนั้น สามารถเกิดได้ผ่านการที่คอร์รัปชันนำไปสู่การคัดเลือกผู้ชนะในการประมูลโครงการที่ไม่ได้ดีที่สุด หรือนำไปสู่การจัดสรรการใช้จ่ายในภาครัฐต่อสิ่งที่ไม่ได้มีความจำเป็น รวมทั้งทำให้การใช้จ่ายที่แพงเกิดความเป็นจริง

อย่างไรก็ดี การที่คอร์รัปชันจะกระทบต่อการใช้จ่ายของภาครัฐได้นั้น ยังต้องมีเงื่อนไขประกอบอีกหลายประการ ถึงจะเกิดกลายเป็นผลกระทบทางลบขึ้นมาจริงๆ เช่น การคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจะต้องนำไปสู่การที่ผู้ที่ถูกคัดเลือกให้ชนะการประมูลโครงการเป็นผู้แข่งขันเข้าลงทุนไม่ได้ดีที่สุด ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจะจะไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่ยินดีจ่ายสินบนเป็นปริมาณมากนั้น เป็นผู้ประกอบการที่มีกำลังทรัพย์และความสามารถสูงกว่าผู้เข้าประมูลรายอื่นๆเช่นกัน

มากไปกว่านั้น การที่คอร์รัปชั่นจะส่งผลกระทบให้การจัดสรรการใช้จ่ายในภาครัฐนั้นบิดเบี้ยวไปจากการใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่ ก็ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญว่าแรงจูงใจในการคอร์รัปชันที่มาพร้อมกับการใช้จ่ายแต่ละภาคส่วนนั้นมากน้อยแตกต่างกันไปอย่างไร เช่น การใช้จ่ายของรัฐบาลไปกับการเกษตรนั้นจะมีโอกาสสร้างผลประโยชน์ในจากคอร์รัปชันมากน้อยต่างไปจากการใช้จ่ายไปกับการศึกษาหรือไม่

ซึ่งหากทุกรูปแบบการใช้จ่ายของภาครัฐ มีช่องทางในการได้ผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันไม่แตกต่างกันมาก การมีอยู่ของคอร์รัปชีนก็ไม่น่าจะส่งผลให้การจัดสรรการใช้จ่ายบิดเบือนไปจากเดิมมากไปเท่าไร เพราะนักการเมืองและข้าราชการนั้นก็ไม่ได้เผชิญแรงจูงใจที่จะจัดสรรทรัพยากรไปในทางใดทางหนึ่งมากเป็นพิเศษเพื่อเป็นช่องทางสู่คอร์รัปชัน

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น เราอาจยังตั้งคำถามสำหรับการวิจัยกันต่อไปได้ว่าการมีอยู่ของคอร์รัปชันในประเทศไทยนั้นส่งผลให้การจัดสรรการใช้จ่ายของรัฐนั้นบิดเบี้ยวไปหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ซึ่งจากข้อมูลคร่าวๆที่ผู้เขียนได้รวบรวมมาจากรายงานประจำปีของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบแห่งชาติ (ปปช.) นั้น พบว่ามีกระทรวงต่างๆนั้นต่างก็มีสัดส่วนของบุคลากรที่ถูกร้องเรียนว่าคอร์รัปชันต่อจำนวนบุคลากรทั้งหมดไม่แตกต่างกันมาก ชวนให้คาดคะเนได้ว่า ช่องทางของคอร์รัปชันที่มีอยู่ในระบบราชการไทยนั้น ไม่ได้มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละกระทรวงแต่อย่างใด

ตารางจำนวนบุคลากรที่ถูกร้องเรียนต่อปปช.ต่อสัดส่วนบุคลากร 1000 คน 2550-2552 จาก 8 กระทรวงที่มีตัวเลขจำนวนดังกล่าวสูงสุด

ที่มา การคำนวณของผู้เขียน โดยใช้ข้อมูลจากรายงานประจำปีของปปช. ประกอบกับรายงานจำนวนกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนจากสำนักงานกพ.
ที่มา การคำนวณของผู้เขียน โดยใช้ข้อมูลจากรายงานประจำปีของปปช. ประกอบกับรายงานจำนวนกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนจากสำนักงานกพ.

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่า ตัวเลขดังกล่าวยังไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้ทั้งหมด เนื่องจากตัวชี้วัดแรงจูงใจที่เกิดเนื่องมาจากคอร์รัปชันนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ช่องทางที่จะเกิดคอร์รัปชัน แต่ยังรวมไปถึงสัดส่วนจำนวนเงินจากงบประมาณที่จะกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของคอร์รัปชัน ซึ่งผู้เขียนยังไม่สามารถหาข้อมูลในส่วนหลังนี้ในลักษณะที่จำแนกไปในแต่ละกระทรวงได้

สำหรับช่องทางที่สองและสามที่คอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ผู้เขียนจะกล่าวถึงในบทความส่วนที่สองต่อไป

หมายเหตุ: เป็น “ชุดโครงการโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 มกราคม 2557