คอร์รัปชันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ: ข้อสังเกตบางประการ (ตอนที่ 2)

ปี2014-01-16

ดร.ธร ปีติดล

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ในบทความส่วนแรกที่ผู้เขียนได้เขียนถึงคอร์รัปชันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ผู้เขียนได้อธิบายถึงช่องทางแรกที่คอร์รัปชันจะสร้างผลกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งช่องทางดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านผลกระทบทางลบต่อบทบาทของภาครัฐ ทั้งในการทำให้การใช้จ่ายของรัฐนั้นแพงขึ้นและบิดเบี้ยว และในการทำให้รัฐเก็บภาษีได้ลดลง ในบทความส่วนที่สองนี้ ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปถึงช่องทางที่สองและที่สามที่คอร์รัปชันจะสร้างผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อันได้การที่คอร์รัปชันสร้างผลกระทบต่อการลงทุนของเอกชน และการที่คอร์รัปชันสร้างกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ

ในช่องทางที่สองนั้น คอร์รัปชันอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลดแรงจูงใจในการลงทุนให้กับนักลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศ สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนในประเทศ เกิดขึ้นผ่านการทีคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในบางภาคธุรกิจไปลดแรงจูงใจของนักลงทุนหน้าใหม่ๆในการเข้าร่วมแข่งขันในธุรกิจนั้น ส่วนผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาตินั้น เกิดขึ้นผ่านการที่การมีอยู่คอร์รัปชันสร้างความไม่มั่นใจต่อความสามารถของรัฐในการรักษาสัญญาทางธุรกิจ นำไปสู่ความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติต้องการหลักเลี่ยง

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ผู้เขียนได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยต่างชาติที่ได้ทำการศึกษาในเรื่องคอร์รัปชันกับการลงทุนก็คือ นักลงทุนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของคอร์รัปชันเท่ากับความไม่แน่นอนของมัน เพราะหากคอร์รัปชันเกิดขึ้นในรูปแบบที่แน่นอนแล้ว นักลงทุน โดยเฉพาะจากต่างชาติ ย่อมสามารถปรับเอาต้นทุนในการ”จ่าย”เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทั้งหมดได้โดยไม่ยาก อย่างไรก็ดี หากรูปแบบของคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นนั้นไม่แน่นอน นักลงทุนจะมองคอร์รัปชันเป็นความเสี่ยงที่ต้องหลีกเลี่ยงแทน

สำหรับในกรณีของประเทศไทยนั้น เป็นที่น่าสนใจว่ารูปแบบในการหาประโยชน์จากคอร์รัปชันนั้นได้พัฒนาไปจนเกิดความแน่นอนแล้วหรือไม่ และนักลงทุนต่างชาติมองการเสียเปอร์เซนต์หรือการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาต่างๆไปเป็นธรรมชาติของการลงทุนในประเทศไทยแล้วหรือยัง

ส่วนช่องทางที่สามที่คอร์รัปชันจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ก็คือการกระทบของคอร์รัปชันต่อการจัดสรรทรัพยากร โดยลักษณะของผลกระทบที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางนี้ ประกอบไปผลกระทบของคอร์รัปชันต่อการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ และผลกระทบของคอร์รัปชันต่อการจัดสรรทรัพยากรในระบบการผลิต

ผลเสียของคอร์รัปชันต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจนั้น อาจสังเกตเห็นได้โดยไม่ยากจากหลากหลายกรณีที่ผู้ประกอบการอันมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ได้รับสิทธิประโยชน์เหนือผู้อื่นในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งกรณีเหล่านี้ก็เป็นที่กล่าวถึงอยู่ในประเทศไทยกันอย่างมากมาย เช่น กรณีของผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับประโยชน์จากการตั้งกติกาทีเอื้อให้พวกเขามีความได้เปรียบในการทำธุรกิจ

ส่วนอีกลักษณะของผลกระทบที่คอร์รัปชันจะเกิดกับการจัดสรรทรัพยากรได้นั้น ซึ่งก็คือการที่คอร์รัปชันไปส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรของผู้ผลิตนั้นผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเราพบเห็นอยู่ได้ใกล้ตัวในสังคมไทยหากเราพยายามสังเกตให้ดีๆ ตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากคอร์รัปชันในลักษณะนี้ก็เช่น การที่บริษัทในภาคเอกชนนำเอากำลังคนและกำลังทรัพยากรมาเพื่อตอบสนองกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน เช่น การพาข้าราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบไปเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงการที่เหล่านักธุรกิจทั้งหลาย ต่างต้องไปหาช่องทางสร้างเครือข่ายเส้นสายกับนักการเมือง ข้าราชการ และทหาร ผ่านการเข้าร่วมเรียนหลักสูตรพิเศษต่างๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วทรัพยากรต่างๆที่เสียไปกับกิจกรรมเหล่านี้ ก็ถูกผันมาจากส่วนอื่นๆที่จะนำไปใช้พัฒนาการผลิตให้ดีขึ้นได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี นอกจากช่องทางที่คอร์รัปชันจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสามช่องทางที่ได้อธิบายไปแล้วนั้น ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆในเรื่องนี้ที่เราไม่อาจละเลยได้อีก เช่น ปัญหาคอร์รัปชันนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆเช่นการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจกลับมาหล่อเลี้ยงให้ตัวเองเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อข้าราชการเห็นช่องทางที่จะได้ประโยชน์จากคอร์รัปชันแล้ว ก็อาจมีแรงจูงใจที่จะสร้างกฏเกณฑ์ที่จะเอื้อต่อการคอร์รัปชันมากขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ ผลของคอร์รัปชันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปตามการเพิ่มขึ้นของคอร์รัปชันเองไปด้วย

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนต้องขอเพิ่มเติมว่า การกล่าวถึงผลของคอร์รัปชันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในบทความนี้ ยังเป็นการมองแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจในลักษณะที่แคบ คือมองแค่ผลต่อการเติบโตของผลผลิตเท่านั้น หากเรามองไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในความหมายที่กว้างขึ้นแทนที่ เช่น มองไปถึงการเติบโตที่เท่าเทียมและยั่งยืนแล้วนั้น ช่องทางของผลกระทบจากคอร์รัปชัน ก็ย่อมจะขยายกว้างตามไปด้วย

หมายเหตุ: เป็น “ชุดโครงการโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 มกราคม 2557