สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ประชาธิปไตยเป็นวิธีการระงับความขัดแย้งที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา โดยมีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่สำคัญ คำจำกัดความของประชาธิปไตยที่ยอมรับกันส่วนใหญ่ จึงมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair election) เป็นองค์ประกอบด้วยเสมอ ประโยคที่ว่า “การเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน ที่ไม่มีใครหรือกลุ่มใดสามารถละเมิดได้” จึงเป็นประโยคสำคัญในแถลงการณ์ของเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ซึ่งผมร่วมลงชื่อด้วย
ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังมีประโยคที่สำคัญอีกประโยคหนึ่งคือ “เราควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ” ในความเข้าใจของผม ประโยคดังกล่าวสะท้อนแนวคิดที่ว่า การเลือกตั้งเป็นเพียง “วิธีการ” ในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งแม้จะเป็นวิธีการที่สำคัญและมีความหมายมาก แต่ก็ไม่ใช่ “เป้าหมาย” โดยตัวของมันเอง
โดยนัยนี้ หากการเลือกตั้งไม่นำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ แต่ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น จนถึงขั้นเกิดความรุนแรง เราก็น่าจะพิจารณาดูว่า สมควรต้องทำอะไร เช่นเลื่อนการเลือกตั้งออกไปสักระยะ เพื่อลดการเผชิญหน้าทางการเมืองลงก่อน โดยวิธีการต่างๆ รวมทั้งเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองไปด้วยหรือไม่
การเลือกตั้งและการปฏิรูปเป็นประเด็นที่ผู้ที่ร่วมในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการและประชาสังคม ไม่ได้มีความคิดเห็นตรงกันทั้งหมดในรายละเอียด แม้ว่าจะมีแนวคิดพื้นฐานเหมือนกันคือ การยึดหลักการและแนวทางของประชาธิปไตย การคัดค้านการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย
ฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการมีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ด้วยเหตุผลที่ผมก็เคารพคือ การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยอ้างว่าจะต้องปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นก่อน จะเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง และทำลายกติกาประชาธิปไตย ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยได้แสดงความต้องการที่จะรักษาสิทธิในการเลือกตั้งของตนไว้ ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ Respect My Vote ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งผมด้วย มีความเห็นว่า การมุ่งเดินหน้าเพื่อจัดการเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ไม่ว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรตามมาก็ตาม ก็น่าจะทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน ส่วนตัวผมคิดว่า การเลือกตั้งโดยที่คู่ขัดแย้งที่สำคัญอีกฝ่ายหนึ่งคือทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และกปปส. ไม่ยอมรับ จะไม่ทำให้ความขัดแย้งลดลงและช่วยให้เราออกจากจุดอับทางการเมืองได้ ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเหมือนที่เกิดในบังคลาเทศ
จริงอยู่เราอาจกล่าวได้ว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมในการเลือกตั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ผมไม่เห็นว่า ลำพังการกล่าวโทษเช่นนั้น จะทำให้เราออกจากจุดอับในปัจจุบันได้อย่างไร
ผมเชื่อว่า ภาพที่คนไทยจำนวนไม่น้อยอยากเห็นก็คือ ในเวลาอีกไม่นานเกินไป จะมีการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม โดยทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้ การเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างแท้จริง
จากความแตกต่างกันดังกล่าว ข้อความที่ทุกฝ่ายในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ยอมรับร่วมกันคือ “เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ” โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญมีช่องทางให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เราก็สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ แต่เราไม่ควรเลื่อนการเลือกตั้ง เพียงเพราะมีฝ่ายใดไปขัดขวาง
โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า เราควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมจากที่กล่าวมาข้างต้นดังนี้คือ หนึ่ง การเลื่อนต้องเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องของพรรคการเมืองทั้งหลาย เพื่อทำให้พรรคการเมืองต่างๆ กลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง สอง ต้องไม่เลื่อนออกไปนานเกินสมควร เช่น ไม่ควรเกิน 4-5 เดือน สาม ต้องเป็นการเลื่อนเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่เลื่อนไปเรื่อยๆ สี่ ในระหว่างนี้ รัฐบาลโดยความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ควรเริ่มกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นหัวใจของความขัดแย้งในครั้งนี้ เช่น การวางกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของเสียงข้างมาก เพื่อให้เสียงข้างน้อยมั่นใจได้ว่า สิทธิเสรีภาพและพื้นที่ของเขาจะไม่ถูกลิดรอนอย่างไม่เป็นธรรม ผมเชื่อว่า หากมีสัญญาณที่น่าเชื่อถือว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริง โอกาสที่สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปรกติก็จะเกิดได้มากขึ้น
ในประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้งนี้ ผมไม่คาดหวังว่า ผู้ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ “2 เอา 2 ไม่เอา” ทุกท่านจะเห็นด้วยกับผม ซึ่งผมก็จะเคารพความเห็นท่านต่อไป และยินดีที่จะร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกับทุกท่านอย่างฉันมิตร บนความเชื่อที่ว่า การร่วมพูดคุยโดยไม่ด่วนตัดสินกัน เป็นแนวทางในการระงับความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ แม้จะมีความคิดที่แตกต่างกัน
หากพวกเรานักวิชาการและประชาสังคม ซึ่งน่าจะไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง ยังไม่สามารถพูดคุยกันได้ เราจะไปคาดหวังให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนได้เสียมหาศาลในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ เจรจากันเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยได้อย่างไร?
ผมหวังว่า ทุกฝ่ายจะตระหนักว่า ถึงอย่างไรพวกเราก็จะต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยต่อไป โดยไม่สามารถขจัดผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากเราไปได้ และเมื่อตระหนักเช่นนี้ เราก็จะมุ่งหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศร่วมกัน